อย่าเสียเหงื่อให้กับเรื่องเล็กๆ หนังสือแนะนำสำหรับคนที่มีเป้าหมายชีวิต

หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนที่มีเป้าหมายอยากมีชีวิตที่มีคุณค่า ต้องการยกระดับจิตใจของตนเองประกอบด้วยข้อคิด 100 หัวข้อ คำอธิบายหัวข้อละ 1-2 หน้า อ่านง่าย เหมาะกับการวางไว้ที่หัวนอนเพื่อหยิบมาทบทวนสัก 2-3 หัวข้อในแต่ละวัน

หนังสือ Don’t sweat the small stuff…and it’s all small stuff เขียนโดย ดร.ริชาร์ด คาร์ลสัน ตั้งแต่ปีค.ศ.1997 ดร.คาร์ลสัน เป็นนักจิตบำบัด และนักเขียน หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานเล่มที่ 10 ของเขา หลังจากนั้นยังมีผลงานอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเสียชีวิตกะทันหันจากอาการลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดขณะเดินทางโดยเครื่องบิน เมื่อปี ค.ศ. 2006 ในวัย 45 ปี แต่ข้อความในหนังสือสามารถประยุกต์ใช้กับชีวิตของผู้คนได้ดีในทุกยุคสมัย จึงได้รับความนิยมตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันมียอดขายกว่า 25 ล้านเล่ม แปลไปแล้ว 35 ภาษา และได้รับยกย่องจากผู้คนมากมายว่าเป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิต

ที่จริงแล้ว ชื่อหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่คำที่ ดร.คาร์ลสันคิดขึ้นเอง แต่เกิดจากเหตุการณ์ของหนังสือเล่มก่อนหน้านั้น ที่ดร.คาร์ลสันได้เขียนจดหมายไปขอโทษ ดร.เวย์น ไดเออร์ นักเขียนอีกท่านหนึ่งเนื่องจากสำนักพิมพ์นำชื่อและคำนิยมของดร.ไดเออร์จากหนังสือเล่มก่อนของดร.คาร์ลสันไปใช้ในอีกเล่มโดยพลการ และชี้แจงไปว่าได้สั่งให้เก็บหนังสือลงจากชั้นวางขายแล้ว ทั้งนี้ ดร.ไดเออร์ไม่ได้ถือโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ส่งข้อความตอบกลับมาว่า “มีกฎ 2 ข้อในการใช้ชีวิตด้วยใจที่สุขสงบ 1) Don’t sweat the small stuff 2) And it’s all small stuff ปล่อยโควทคำพูดไว้อย่างนั้นแหละ รัก, เวย์น”

การตอบสนองที่นุ่มนวล ผ่อนคลาย และปล่อยวางของดร.ไดเออร์ในครั้งนั้น ได้จุดประกายไอเดียให้เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

ตัวอย่าง 25 หัวข้อที่น่าสนใจ

  • ปรองดองกับความไม่สมบูรณ์แบบ
  • เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน
  • เป็นฝ่ายแสดงความรักหรือยื่นมือออกไปก่อน
  • ยอมรับเถอะว่าชีวิตมันไม่ยุติธรรม
  • จินตนาการว่าคุณอยู่ที่งานศพของตัวเอง
  • หาเวลาเงียบๆ ให้ตัวเองทุกวัน
  • เป็นผู้ฟังที่ดีกว่าเดิม
  • รู้เท่าทันความรู้สึกตัวเองและอย่าหลงไปกับอารมณ์ด้านลบ
  • ฝึกสุ่มส่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
  • เมื่อไม่แน่ใจว่าถึงเวรใครทิ้งขยะ ให้คุณเอาไปทิ้งเลย
  • เข้าใจว่าแต่ละคนมองโลกต่างกัน
  • บอกคนอย่างน้อยหนึ่งคนทุกวันถึงสิ่งที่คุณชื่นชอบ ชื่นชม และยกย่องในตัวพวกเขา
  • อดกลั้นความอยากวิพากษ์วิจารณ์
  • ลดความก้าวร้าวลงเวลาขับรถ
  • คิดถึงสิ่งที่มี แทนที่จะคิดถึงสิ่งที่อยากมี
  • ฝึกมองข้ามความคิดแง่ลบ
  • ยินดีเรียนรู้จากเพื่อน ๆ และคนในครอบครัว
  • มีความสุขในจุดที่คุณอยู่
  • เลิกโทษคนอื่น
  • อย่าตึงกับชีวิตเกินไป
  • ปลูกต้นไม้
  • นิยามคำว่า “ความสำเร็จที่มีความหมาย” เสียใหม่
  • ตระหนักถึงพลังความคิดของคุณเอง
  • ถามตัวเองบ่อย ๆ ว่า “อะไรที่สำคัญจริง ๆ”
  • ใช้ชีวิตในวันนี้ให้เหมือนเป็นวันสุดท้าย ซึ่งมันอาจเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ก็ได้

ข้อคิดในแต่ละหัวข้อนั้น บางข้อทำได้ง่ายเพราะเป็นสิ่งที่เรารู้แต่หลงลืม บางข้อต้องอาศัยการฝึกฝนจึงจะทำได้ ในหลายหัวข้อ ดร.คาร์ลสันย้ำว่าไม่ได้ต้องการความสุดโต่งที่จะต้องทำแบบนั้นตลอดทุกครั้ง  เพียงแต่เมื่อเราปรับเปลี่ยนตัวเองไปในทิศทางเหล่านี้ ก็จะสามารถมีชีวิตที่สงบสุข เบิกบาน มีสติตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ไม่หัวเสียง่าย ๆ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง อยากชวนให้ลองอ่าน แล้วปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ดูว่าหนังสือ Don’t sweat the small stuff…and it’s all small stuff เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิต ตามคำร่ำลือจริงหรือไม่

รีวิวหนังสือ Don’t sweat the small stuff…and it’s all small stuff

ผู้เขียน Richard Carlson, Ph.D.

ผู้แปล ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ

สำนักพิมพ์ OMG Books ราคา 275 บาท

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

ใครๆ ก็ไม่รักผม…อยากเป็นคนน่าสนใจมากขึ้น ควรทำอย่างไร?

เคยสงสัยหรือไม่ว่าเราเป็นคนที่น่าสนใจหรือเปล่า? ถ้าคิดว่าตอนนี้เราไม่ได้เป็นที่น่าสนใจ ก็อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะว่าความน่าสนใจมันสามารถสร้างได้เพียงแค่เสริมหรือปรับพฤติกรรมแค่บางอย่างเท่านั้น มาลองดูกันว่ามีอะไรบ้าง

Constructive Feedback

Constructive Feedback ฟีดแบคยังไงให้ลูกทีมรัก ?

Constructive Feedback คือการให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ โดยเน้นการปรับปรุงและพัฒนา แทนที่จะเป็นการวิจารณ์เชิงลบ โดยควรชี้จุดที่ต้องปรับปรุงพร้อมแนวทางแก้ไข เพื่อช่วยให้ผู้รับข้อเสนอแนะพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Confirmation Bias

Confirmation Bias : มองหาแต่สิ่งที่ยืนยันความเชื่ออันฝังรากลึกของตัวเอง!

Confirmation Bias คือแนวโน้มที่คนจะหาข้อมูลหรือเชื่อเฉพาะสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อหรือความคิดเห็นที่มีอยู่แล้ว และมองข้ามหรือปฏิเสธข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อนั้น ส่งผลให้การตัดสินใจไม่เป็นกลาง