ประวัติ Tim Cook : คนที่สตีฟ จอบส์ไว้ใจมากที่สุด

Tim Cook

ตลอด 10 ปีที่ Tim Cook บริหารบริษัท Apple

  • มูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้น 6.3 เท่า ขึ้นแท่นบริษัทแรกในอเมริกาที่มีมูลค่าแตะ $2 Trillion และเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก
  • ยอดขาย iPhone ยังเพิ่มขึ้นถึงขึ้น 3 เท่า
  • นวัตกรรมใหม่อย่าง Apple Watch มีมูลค่ายอดขายมากกว่า Rolex ทั้งแบรนด์

กว่าจะมาเป็นชายที่ชื่อ Tim Cook 

Tim Cook เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง คุณพ่อทำอาชีพเป็นช่างต่อเรือในอู่ ส่วนแม่เป็นพนักงานในร้านขายยา ชีวิตวัยเด็กของเขาเป็นเหมือนเด็กหนุ่มชาวอเมริกันทั่วไป หลังจบการศึกษาด้านวิศวกรรม ก็ได้เข้าทำงานที่ IBM ทันทีและยิงยาวอยู่ที่นั่นถึง 12 ปี ก่อนย้ายไปทำงานที่ Compaq 

ทิม คุก ได้สร้างชื่อเสียงด้านการบริหารจัดการต้นทุนให้แก่ 2 บริษัทจนมีชื่อเสียงระดับหนึ่งในหมู่ผู้บริหาร และทั้ง 2 บริษัทล้วนอยู่ในวงการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเช่นเดียวกับ Apple ซึ่งชื่อเสียงของทิม คุกได้ไปเข้าตา Steve Jobs จนเค้าส่งคนมาทาบทามตัวให้ไปร่วมงานด้วย

การเจอกันของ 2 ยิ่งใหญ่ 

ปกติแล้วน้อยคนที่จะปฏิเสธข้อเสนอของ Steve Jobs แต่นี่เค้ากลับถูกปฏิเสธถึงหลายครั้งจากทิม คุก(สมัยนั้น Apple ยังไม่ใช่บริษัทที่ขึ้นชื่อว่า ‘น่าทำงาน’ ด้วย) เมื่อมาถึงปี 1998 สถานการณ์ด้านการเงินของ Apple ย่ำแย่ลงต่อเนื่อง Steve Jobs จึงตัดสินใจเดินทางไปเชิญชวน Tim Cook ให้มาร่วมงานด้วยตัวเอง! สิ่งที่ Steve Jobs พูดไม่ใช่เรื่องเงินโบนัสก้อนโตแต่อย่างใด แต่เขาเน้นย้ำถึง “วิสัยทัศน์” อันกว้างไกล และ “ผลิตภัณฑ์” อันล้ำเลิศ ที่ถ้าทำสำเร็จ Apple สามารถพลิกโฉมโลกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้จริงๆ เพียงแต่ด่านแรกจำเป็นต้องมีคนเก่งบางคน เช่น ทิม คุกมาร่วมทีม ถ้าขาดเค้าไปความฝันนี้คงไม่สำเร็จแน่นอน

มาถึงตอนนี้ทิม คุกตระหนักแล้วว่าเขาสามารถเป็นหนึ่งใน “หน้าประวัติศาสตร์” นั้นได้ และที่เขาเห็นมาตลอดว่า Steve Jobs เป็นคนแน่วแน่ที่ทำอะไร “แตกต่าง” ไม่เหมือนชาวบ้านเสมอ ชายคนนี้น่าจะเป็นคนที่สร้างความแตกต่างให้แก่โลกได้จริง…จึงลาออกมาร่วมงานกับ Apple ตั้งแต่นั้นมาในที่สุด 

บทบาทแรกที่ Apple

Tim Cook ขึ้นชื่อว่าเป็น “Operation Man” เชี่ยวชาญด้านปฏิบัติการ มีแบคกราวน์ที่น่าประทับใจด้านการจัดซื้อ ลดต้นทุน และทำกำไร ตำแหน่งแรกที่เขารับคือ Senior Vice President of Worldwide Operations ด้วยฐานเงินเดือน $400,000/เดือน ถือว่าสูงสำหรับสถานะการเงิน Apple ตอนนั้น (แสดงออกถึงว่าบริษัท “ใจป้ำ” ต้องการตัวเค้าจริงๆ)

ทันทีที่รับตำแหน่ง เขาทยอยวางระบบใหม่ให้บริษัท ไล่ปิดโรงงานผลิตของบริษัทและเปลี่ยนเป็น Contract ทำสัญญากับบริษัทภายนอกแทน นำไปสู่การกำลังการผลิตที่มากขึ้นและจัดการขนส่งได้รวดเร็วขึ้น รวมถึงสะสางปัญหาเก่าที่ Apple มีชื่อเสียงไม่ดีนักอย่างคุณภาพการผลิต การจัดสรรงบประมาณ และจริยธรรมการปฏิบัติต่อแรงงาน

เรียกว่าทิม คุก “ปูรากฐาน” อันแข็งแกร่งให้บริษัทเป็นเวลาเกือบทศวรรษก่อนการเปิดตัวนวัตกรรมพลิกโลกอย่าง iPhone ในปี 2007

การส่งไม้ต่อที่สวยงาม

Steve Jobs จากไปในปี 2011 ด้วยปัญหาสุขภาพ  ก่อนจากไปเค้าได้โทรศัพท์ส่วนตัวหาทิม คุกให้มาพบที่บ้าน และยื่นไม้ต่อให้เค้ารับตำแหน่ง CEO กุมบังเหียน Apple ต่อไป ตอนนั้นผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่เข้าใจการตัดสินใจของ Steve Jobs เพราะ Tim Cook แทบไม่มีคาแรคเตอร์และออร่าของความเป็นผู้นำ เขาอยู่ขั้วตรงข้ามกับ Steve Jobs เลยก็ว่าได้

แต่ผลปรากฎออกมาว่า นี่เป็นการรับ “ไม้ต่อทางธุรกิจ” ที่งดงาม โดยทั่วไป เมื่อองค์กรขึ้นจุดสูงสุดและต้องเปลี่ยนผ่านสู่ผู้นำคนต่อไป มีหลายตัวอย่างหลายวงการที่สะท้อนว่ามัก “ถอยหลังลงคลอง” (เช่น Microsoft จากยุค Bill Gates มาเป็น Steve Ballmer) หลายคนคิดว่า Apple ตกที่นั่งลำบาก และ ไม่มีวันกลับมาเป็นเหมือนเดิม ใช่…พวกเขาคิดถูกอย่างหลัง Apple ไม่เหมือนเดิม…เพราะยิ่งใหญ่กว่าเดิม!!

ระยะเวลา 10 ปีในช่วงการนำทัพของ Tim Cook

  • รายได้ของ Apple แตะที่ 275,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2011 ประมาณ 2.5 เท่า 
  • เงินสดจากที่มีราว 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โตระเบิดไปอยู่ที่ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่าธนาคารใหญ่หลายประเทศด้วยซ้ำ!)
  • iPhone มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ครองส่วนแบ่งตลาด 1 ใน 4 ของ Smartphone ทั่วโลก และมีส่วนแบ่งกำไรในตลาด smart phone สูงถึง 80%

เมื่อมองภาพใหญ่ “ตัวเลขไม่เคยโกหกใคร”

  • ปี 2011 มูลค่าบริษัท Apple อยู่ที่ราว 11 ล้านล้านบาท
  • ปี 2021 มูลค่าบริษัท Apple อยู่ที่ราว 69 ล้านล้านบาท

มูลค่าบริษัท Apple ที่ว่าสูงมากแล้วในตอนนั้น กลับเพิ่มมากกว่าเดิมอีกถึง 6.3 เท่า! ในสมัยที่ทิม คุกกุมบังเหียน (มีแนวโน้มโตขึ้นเรื่อยๆ) บริษัท Apple ไม่เคยมีมูลค่าสูงเท่านี้มาก่อน ขึ้นแท่นเป็นบริษัทแรกในสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่า $1 Trillion (ก่อนที่ต่อมาจะแตะ $2 Trillion)

ในยุคของ Tim Cook ได้ออกนวัตกรรมใหม่มากมาย อาทิเช่น 

  • Apple Watch ที่มาปฏิวัติวงการนาฬิกา 
  • AirPods ที่มาทำให้สายหูฟังแบบดั้งเดิมกลายเป็นของโบราณ 
  • Apple Arcade 
  • Apple Car 
  • Apple Music 
  • เทคโนโลยี Face ID และอีกมากมาย

เกิดเป็น “Ecosystem” ที่ครอบคลุมการใช้ชีวิตเกือบทุกด้านของคนเรา (รู้หรือไม่ว่า ยอดขาย Apple Watch ผลิตภัณฑ์เดียวใหญ่กว่า Rolex ทั้งแบรนด์!) ในวงการเทคโนโลยี เป็นที่ยอมรับกัน(มาซักพัก)แล้วว่าทิม คุกได้ก้าวออกจากเงาของ Steve Jobs โดยสมบูรณ์แบบ  เวลาพิสูจน์แล้วว่า Tim Cook คือ “ของจริง” เพราะมันคือการก้าวข้าม Steve Jobs คนที่เป็นระดับ “ศาสดา” เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของ Apple ในยุคนั้นเลยทีเดียว

ผู้นำในแบบ Tim Cook

ทิม คุก เป็น CEO ที่ไม่เหมือน CEO ทั่วไป เขามีความนุ่มนวลเห็นอกเห็นใจ พูดน้อย ฟังเยอะ แต่ขณะเดียวกันก็เด็ดขาดและไม่ปล่อยปัญหาให้เรื้อรัง เขาทำงานแบบผู้บริหารมืออาชีพที่มี “วินัยสูงลิบ” ตื่นตี 4 มาตอบอีเมลทุกวัน ก่อนรีบไปออกกำลังกายให้ฟิต กลับมาทานข้าวเช้าซักแป๊ป ก่อนเริ่มลุยงาน นอกจากนี้เขาเข้มงวดกับการทำงานมากๆ มีเรื่องเล่าว่าขณะที่ผู้บริหารกำลังประชุมกันที่สำนักงานใหญ่ในอเมริกาและพบว่ามีปัญหา Suppliers ที่เมืองจีน…ผู้บริหารคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงยังคงนั่งอยู่ในห้องประชุมต่อ(แค่ไม่กี่นาที)

แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ทิม คุกพูดโพล่งขึ้นกลางที่ประชุม “ทำไมคุณยังอยู่ที่นี่?” ด้วยสีหน้าจริงจัง ผู้บริหารท่านนั้นต้องรีบลุกเดินออกจากห้อง ตีตั๋วเครื่องบินเวลาที่เร็วที่สุดเพื่อบินไปเมืองจีนทันที เพราะทุกนาทีที่เสียไป หมายถึงปัญหาที่สะสมและมีแต่จะใหญ่ขึ้นทิม คุกยังกล้า “พูดในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าพูด” เช่นเปิดประเด็นเรื่องการ “รั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว” โดยกล่าวออกสื่อว่า “ถ้าบริการออนไลน์ที่คุณใช้มันฟรี จงรู้ไว้ซะว่าคุณไม่ใช่ลูกค้า…แต่เป็นสินค้าต่างหาก” โดยพุ่งเป้าไปที่ Mark Zuckerberg ที่มีข่าวแง่ลบเรื่องข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลหลายล้านบัญชี

หรือสลายการเมืองภายในองค์กร ที่แต่ก่อนมักมี “เด็กของ Steve Jobs” ที่มักบุ่มบ่ามตัดสินใจและโชว์อำนาจ (คิดว่ามีแบคใหญ่) ในปี 2014 ทิม คุกเป็น CEO คนแรกในเครือ Fortune500 ที่ออกมาเปิดเผยต่อชาวโลกว่าเขาเป็น “เกย์” ที่ต้องทำแบบนี้เพราะรู้สึกว่ามันไม่แฟร์และเห็นแก่ตัวเกินไปถ้าผู้นำอย่างเขาจะ “อยู่เฉยๆ” ปกปิดเงียบๆ  เพราะเขาได้ยินเรื่องราวบ่อยเหลือเกินของเด็กรุ่นใหม่ที่ถูกรังแก เหยียดหยาม และเลือกปฏิบัติเพียงเพราะเพศสภาพของพวกเค้า การออกมาพูดต่อสาธารณชนทำให้ประเด็น Diversity & Inclusion ในองค์กร(และในสังคม) ถูกยกมาให้ความสำคัญอีกครั้ง 

ทิม คุก มองว่าทุกเพศสภาพเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เผื่อใครไม่ทราบ เกย์ / เลสเบี้ยน / หรือ LGBTQ เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยพันธุกรรมและไม่ใช่ความ “ผิดปกติ” แต่อย่างใด เพราะอยู่คู่กับมนุษยชาติมาช้านานในทุกชาติพันธุ์ ทุกทวีป ทุกวัฒนธรรม (จากประวัติศาสตร์ แม้แต่สมาชิกราชวงศ์หลายประเทศในโลกก็เป็น LGBTQ)

ผู้นำที่หลายคนรัก

เป็นที่กล่าวขานว่า Tim Cook เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนและมีบุคลิกที่ “เข้าถึงง่าย” พนักงานรุ่นเยาว์ก็สามารถยืนพูดคุยสอบถามได้ปกติ สื่อเคยถามเขาตรงๆ ว่าคิดอย่างไรที่ผู้คนเห็นเค้าเป็น Icon ยุคใหม่ของ Apple? “ฮ่าๆๆ ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็น Icon เลย ผมก็แค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่มีโอกาสได้ทำงานที่ Apple แต่อย่างไรก็ตาม…ขอบคุณทุกคนมากๆ ครับ”

ข้อคิดในการใช้ชีวิตแต่ละวันของทิม คุกมี 2 คำคือ “Dignity & Respect” ในแต่ละวันเราควรปฏิบัติต่อผู้คนด้วยความเคารพและให้เกียรติเสมอ นอกจากนี้ในปี 2013 ยังได้จ้าง Lisa Jackson อดีตหัวเรือหน่วยงาน The Environmental Protection Agency มาร่วมงานกับบริษัทเพื่อนำพา Apple ไปสู่การใช้ “พลังงานหมุนเวียน” ในทุกกิจกรรมของบริษัทที่มากขึ้นในอนาคต

Tim Cook ขึ้นชื่อเรื่องความใจบุญ (เป็น Philanthropist คนหนึ่ง) โดยประกาศจะบริจาคเงินส่วนใหญ่ของเขาให้แก่การกุศล รวมถึงสัดส่วนเงินบริจาคในนามบริษัท Apple ก็สูงขึ้นมากภายใต้การนำของเขา ปัจจุบันทิม คุกมีทรัพย์สิน(ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบหุ้นบริษัท Apple) รวมกันกว่า 32,000 ล้านบาท คู่ควรกับสิ่งที่เขาสร้างความสำเร็จให้กับ Apple (และกับโลก)

โลกยอมรับแล้วว่าเขาเป็นผู้บริหารที่เก่ง สุขุม เปิดกว้าง มีความเป็นมนุษย์ และทำให้บริษัท Apple พลิกโฉมโลกได้สำเร็จเหมือนวันนั้นที่ Steve Jobs มาคุยกับเขาทิม คุกในวัย 60 ปียังแข็งแรงกระปรี้กระเปร่า (ส่วนหนึ่งคือได้บทเรียนจาก Steve Jobs) เพราะเขาเป็นคนที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมากถึงมากที่สุด…และยังไม่มีวี่แววก้าวลงจากตำแหน่ง

เราคงจะได้เห็นเรื่องราวและนวัตกรรมน่าสนใจภายใต้การนำของเขาไปอีกนาน

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…คุณพร้อมมีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วันแล้วหรือยัง? >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/


อ้างอิง

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

คำทรงพลัง

ใช้ “คำทรงพลัง” ให้เป็น…การงานโตระเบิด!!

จากแม่บ้านโรคซึมเศร้า สู่เจ้าของ Auntie Anne’s

ไปเดตกันไหมครับ VS. ผมรู้จักพาสต้าอร่อยมากอยู่ร้านนึง ไปทานด้วยกันไหมครับ

ครัวซองค์ร้านอื่นธรรมดาไปเลย…เมื่อมาเจอครัวซองค์แสนอร่อยของร้านนี้”

บริหารคนในองค์กรให้เหมือนทีมฟุตบอล

เรื่องนี้มีแค่คุณเท่านั้นนะครับที่จะได้รู้

Toxic Productivity

Toxic Productivity : คลั่งโปรดักทีฟเกินไป อาจพาชีวิตพัง

ทุกสิ่งบนโลกใบนี้มีจุดสมดุล (Equilibrium) อะไรที่ “มากเกินไป” สุดท้ายจะย้อนกลับมาทำร้ายเรา เคสของ Toxic Productivity ก็เช่นกัน การทำงานก็เช่นกัน…ถ้าทำหนักเกินไป ใจจดจ่ออยู่กับมันทุกวินาทีเสมือนมันคือชีวิตทั้งหมดของเรา ย่อมส่งผลเสียมากกว่าผลดี เราเรียกมันว่า “Toxic Productivity” ภัยเงียบที่คุณไม่รู้ตัว  เพราะโลกธุรกิจเราโอบกอดระบบทุนนิยม โดยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง (Perpetual Growth) เป็นหมุดหมายที่ทุกองค์กรต้องทำให้ได้ การสร้างผลผลิต (Productivity) ให้ได้มากที่สุดจึงเป็นของคู่กัน  แถมในมุมของนายจ้าง ก็ต้องการใช้งานพนักงานให้คุ้มค่าที่สุด (Maximize capacity) แต่การหมกมุ่นโปรดักทีฟเกินไป นำไปสู่ Toxic Productivity ซึ่งอาจมาในรูปแบบของ หรือกำลังนั่งอยู่บนโซฟาเล่นกับลูกที่ยังเล็กอยู่ และเผลอมองนาฬิกาเพื่อดูว่า “มีเวลาเหลืออีกกี่นาที”  ในการได้เล่น…ถ้าถึงขั้นนั้นคุณอาจต้องหันกลับมาพิจารณาวิธีการทำงานใหม่ได้แล้ว และในแง่ตัวเลข ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของพนักงานอาจพุ่งไปสูงถึง 80-90 ชม./สัปดาห์ จะดีกว่าไหมถ้าทำงานอย่างสมดุลพอเหมาะ…โดยยังรักษาสุขภาพ / ความสัมพันธ์ / สังคม / หรือการได้เดินตามความฝันของตัวเอง ผลวิจัยมากมายยังระบุไปในทางเดียวกันว่า Toxic Productivity ยังเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของ Burnout Syndrome อาการหมดไฟในการทำงานของชาวอเมริกัน สัญญาณของ Toxic Productivity ? เมื่องานหนึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง แทบ “ไม่มีการเฉลิมฉลอง” ขอบคุณให้กำลังใจ แต่กลับตั้งเป็นมาตรฐานใหม่ ทุกคนโอเครับรู้แล้วก็รีบกลับไปทำงานต่อ เพื่อให้มาตรฐานสูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาพักผ่อน (หรือควรพักได้แล้ว) กลับยังเสพเนื้อหาเกี่ยวกับงาน (เช่น อ่านรายงาน) ราวกับไม่ยอมให้สมองได้หยุดพักแม้ครู่เดียว หรือไปชงกาแฟมาดื่มเพื่อเตรียมลุยงานต่อ กิจกรรมผ่อนคลายเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้เพิ่ม Productivity ทางตรง แต่หวังกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทีม…ถูกมองเป็น “ค่าเสียโอกาส” (และเสียเวลา) ไปซะหมด ไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องพยายามเสแสร้งทำตัวเป็นคนขยัน ยุ่ง เร่งรีบอยู่ตลอดเวลา เพราะเดี๋ยวถูกมองว่าเอื่อยเฉื่อยไม่โปรดักทีฟ หรือความรู้สึก “กลัววันจันทร์” ที่แว่บเข้ามาเพราะกลับไปประสบกับวงจรเดิม เราจะป้องกัน Toxic Productivity ได้อย่างไร ? ผู้นำองค์กรสามารถออกแบบนโยบายการทำงานที่จำกัดเวลาการทำงานของพนักงานอย่างเข้มงวด เช่น ไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรืออาจสร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กร เช่น ไม่มีการทำ OT แบบวัฒนธรรมการทำงานของชาวเยอรมันส่วนใหญ่ ประเด็นนี้ ภาครัฐก็มีส่วนเกี่ยวข้องไม่น้อย เช่น รัฐบาลเยอรมันมีแผนที่จะออกกฎหมาย “ห้ามบริษัทส่ง Email เรื่องงานหลัง 6 โมงเย็น” บริษัทใดที่ทำจะมีความผิดตามกฎหมาย และพนักงานคนนั้นจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย…ซึ่งน่าจะช่วยลด Toxic Productivity ได้ไม่มากก็น้อย ข้างนอกจะเปลี่ยนได้…ข้างในต้องเปลี่ยนก่อน มันอาจไม่แฟร์เลยที่จะนำเรื่องงานมา “กำหนดคุณค่า” ในชีวิต เพราะชีวิตมีหลายด้าน Adam Grant นักจิตวิทยาชื่อดังชาวอเมริกันเตือนสติว่า ให้แยกระหว่าง “การกระทำของคุณ VS. ตัวตนของคุณ” ตัวตนของคุณคือสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ไม่มีอะไรมาเทียบเท่าได้ อย่าให้การกระทำมาปะปนกับเรื่องนี้ “งานไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต” คำนี้ยังคงเป็นจริงไม่น้อยในหลายบริบท นอกจากนี้ เราอาจปรับเปลี่ยนเป้าหมายและความคาดหวังใหม่ให้สอดคล้องกับโลกความจริงหรือสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนไปแล้วก็ช่วยได้ไม่น้อย ต้องไม่ลืมว่า “คนรอบตัว” ก็ช่วยเราได้มากกว่าที่คิด ควรเปิดใจและหาโอกาสพูดคุยให้มากๆ เพราะบางครั้งเป็นคุณเองที่เริ่มข้ามเส้นเอาการงานมาปะปนกับชีวิตส่วนตัว เช่น ยกเลิกนัดรวมกลุ่มเพื่อนสนิทติดต่อกันถึง 3 รอบเพราะเรื่องงาน เชื่อเลยว่าเพื่อนสนิทของคุณไม่มีใครโอเคกับเรื่องนี้แน่นอน จะลุยงานหนักได้…ร่างกายต้องพร้อม อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองโดยการตั้ง แผนการออกกำลังกายที่ประนีประนอมไม่ได้ (Uncompromised Workout) เช่น วิ่งสัปดาห์ละ 3 วันๆ ละ 45 นาทีอย่างต่ำ แม้มีงานหนักแค่ไหน ก็ต้องเจียดเวลาให้กับกิจกรรมนี้ Elizabeth Blackburn ผู้ได้รับรางวัลโนเบลด้านการแพทย์และผู้เขียนหนังสือ The Telomere Effect เผยข้อเท็จจริงที่ฟังดูย้อนแย้งว่า  “เวลาที่คุณควรออกกำลังกายมากที่สุด คือ เวลาที่คุณรู้สึกไม่อยากออก” เพราะทุกครั้งที่ออกกำลังกาย จะเกิดการหลั่งสารเอ็นโดรฟินซึ่งเป็นสารที่เรารู้จักในชื่อ “สารแห่งความสุข” คุณจะรู้สึกผ่อนคลาย สมองไหลลื่นโล่งปลอดโปร่ง พร้อมกลับมาลุยงานใหม่ในเวอร์ชั่นที่ฟิตกว่าเดิม  และสารนี้เองที่หลั่งขณะออกกำลังกาย จะยิ่งทำให้เรารู้สึกอยากออกกำลังกายมากขึ้น…วนลูปวงจรด้านบวก . . สุดท้ายแล้ว ความขยัน-ความโปรดักทีฟเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีในการเติบโตขององค์กร เพียงแต่เราต้องหา “จุดสมดุล” ให้เจอ หาทางควบคุมตัวเอง รู้ลิมิตตัวเอง บางที การเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่หวือหวาแต่มั่นคง พร้อมๆ กับมีความสุขในการทำงาน…น่าจะเป็นจุดสมดุลที่หลายคนมองหาจริงๆ . . ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ จะได้ทำงานอย่างมีความสุขในทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/ ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/ อ้างอิง Author CareerVisa Team รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน Post Views: 76