Survivorship Bias : ผู้ประสบความสำเร็จที่เห็นอาจเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง

Survivorship Bias
ถ้าคุณกำลังรู้สึกหวือหวา ตื่นเต้น และเริ่มอยากลงมือทำในธุรกิจที่ได้ยิน…ช้าก่อน คุณอาจกำลังติดกับดักที่เรียกว่า “Survivorship Bias”

Survivorship Bias คืออะไร?

Survivorship Bias คือการที่เราได้ยินเรื่องราวธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจนอยากที่จะกระโดดเข้าไปทำ โดยหารู้ไม่ว่า สิ่งที่เห็นตรงหน้าอาจเป็นแค่ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” เล็กๆ เสี้ยวเดียว (คนที่สำเร็จ) ที่ใต้มหาสมุทรเต็มไปด้วยซากปรักหักพังทับถมกันเป็นฐานภูเขา (คนที่ล้มเหลว)

ในทุกสมรภูมิ “ผู้เสียชีวิต” มีจำนวนมากกว่า “ผู้รอดชีวิต” แบบเทียบกันไม่ติด แต่ผู้รอดชีวิตที่กลับมาเฉลิมฉลองในเมือง “เห็นได้ชัดเจน” (Visible) กว่าผู้เสียชีวิตที่ถูกทิ้งไว้ในสนามรบ 

ในโลกธุรกิจก็เช่นกัน บริษัทที่สำเร็จจะถูกโปรโมทพูดถึงไปทั่วโลก ข่าวตีพิมพ์ สื่อสัมภาษณ์ ถูกใช้เป็นโมเดลเพื่อการเรียนรู้ CEO ถูกเชิญไปพูดเสวนาสร้างแรงบันดาลใจ…เหล่านี้ทำให้เราเกิดภาพลวงตา จนประเมินความสำเร็จสูงเกินจริง ว่าถ้าเรา ‘ทำตาม’ เค้า ก็คงสำเร็จได้ไม่ยาก

ใต้ภูเขาน้ำแข็ง

แต่ความจริงอีกด้านอาจเป็นเรื่องราวที่ไม่อภิรมย์นัก

  • Startup เกิดใหม่กว่า 90% ล้มเหลว
  • มีเพียง 50% ที่ยืนหยัดได้ถึง 5 ปี
  • และมีเพียง 33% ที่อยู่ได้นานถึง 10 ปี

ขณะที่ 

  • 20% ของบริษัทเปิดใหม่เจ๊งใน 2 ปีแรก
  • 45% ของบริษัทเปิดใหม่เจ๊งใน 5 ปีแรก
  • 65% ของบริษัทเปิดใหม่เจ๊งใน 10 ปีแรก
  • มีบริษัทเปิดใหม่เพียง 25% จากทั้งหมด ที่ยืนหยัดได้นานถึง 15 ปี

นี่คือสถิติจาก Bureau of Labor Statistics ของสหรัฐอเมริกา และตัวเลขเหล่านี้ “แทบจะคงที่” มาตั้งแต่ช่วงปี 1990s

ความสำเร็จระดับพลิกโลกของ Facebook ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนกระโดดเข้าวงการแอปและโซเชียลมีเดีย แต่น้อยรายที่จะไปถึงฝั่งฝัน

  • Yik Yak ที่มีจุดเริ่มต้นในหมู่นักศึกษามหาลัยฯ เหมือน Facebook ก็ไปไม่รอด
  • Yo ที่สร้างกระแสแค่ช่วงแรก ก่อนจะดับสนิท
  • Chatroulette ที่เกือบจะปังแบบ YouTube ล้มครืนกลางคันซะก่อน
  • Hi5 ที่เราเคยเล่นกันสมัยก่อน ก็จากไปตามกาลเวลา
  • แม้แต่ Friendster ผู้บุกเบิกที่มาก่อน Facebook ก็ปิดตัวไป 

วงการหนังสือก็ไม่ต่างกัน

  • Dan Brown นักเขียนนวนิยายด้านสืบสวนสอบสวนชื่อดังของโลก ทำเงินได้ปีละกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • Stephen King ราชานวนิยายสยองขวัญ ทำเงินได้ปีละเกือบ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • J.K. Rowling ขึ้นแท่นนักเขียนระดับ Billionaire คนแรกของโลกด้วยการให้กำเนิด Harry Potter

แต่นักเขียนที่เราคุ้นเคยเหล่านี้เป็นเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมาเพียงเสี้ยวเดียว ส่วนใต้มหาสมุทรคือเหล่านักเขียนที่ผลงานถูกฝุ่นจับบนหิ้งชั้นหนังสือ / ยังเป็นต้นฉบับที่ไม่เสร็จในไฟล์คอม / หรือแม้แต่ภาพความฝันที่อยู่แค่ในหัว

สถานการณ์เป็นมานานแล้ว Nielsen Bookscan เผยผลรายงานในปี 2004 ที่ได้ทำการติดตามหนังสือ 1.2 ล้านปก ในจำนวนนี้มีเพียง 25,000 ปก (คิดเป็นแค่ 2%) ที่ขายได้มากกว่า 5,000 เล่ม โดยหนังสือส่วนใหญ่ขายได้เฉลี่ยเพียง 500 เล่มเท่านั้นเอง

แต่เวลาเราเห็นคนสำเร็จ 1 คน เรามักลืมมองไปว่า โอกาสที่จะสำเร็จยิ่งใหญ่ขนาดนั้น…บางทีมันริบหรี่เหลือเกิน

เราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้?

อย่าหวือหวากับเรื่องราวที่เห็นแค่เปลือกนอกหรือได้ยินมา ให้ลองศึกษาเชิงลึกดูก่อน หาข้อมูลที่เป็นตัวเลขมาช่วยยืนยัน มองหาข้อเสีย-จุดอ่อน มองหาเรื่องราวที่ไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ

ให้ค้นหา “ความจริง” อย่างตรงไปตรงมา มันอาจไม่ถูกใจคุณนัก อาจต้องลงแรงลงเงินในการขุดค้นหา แต่คุณจะได้รู้ความจริงอีกด้าน

เพราะเราอยู่ในโลกที่คลั่งไคล้ความสำเร็จ “ความสำเร็จถูกประกาศ-ความล้มเหลวถูกซ่อนไว้ใต้พรม” นี่คือธรรมชาติของโลกธุรกิจ (และธรรมชาติของมนุษย์)

และถ้าเป็นไปได้ ลองหาเวลาแวะไปเยี่ยมเยียนสุสาน ไปพูดคุยกับคนที่ล้มเหลวดูบ้าง ว่ามีปัจจัยเงื่อนไขอะไรที่ทำให้เค้าไปไม่ถึงฝัน เรารู้ดีว่ามีคน “เก่ง” หลายคนที่ไม่ได้มีความสามารถด้อยไปกว่าเราเลย แต่เค้าเพียงไปไม่ถึงฝันเพราะข้อจำกัด / จังหวะเวลา / หรือปัจจัยภายนอกที่ไม่มีใครคาดคิด

ดังที่ผู้บริหารหลายคนกล่าว (คน)ความล้มเหลวมอบบทเรียนที่มีค่ามากกว่าความสำเร็จเสียอีก..

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ พร้อมมีความสุขในการทำงานในทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/


อ้างอิง

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

Bystander Effect
Bystander Effect : สาเหตุที่พนักงานมีความลับแล้วไม่บอกบริษัท
ที่มาของ “ไทยมุง” มัวแต่ยืนดู…แต่ไม่มีใครช่วยสาเหตุที่บริษัทเปลี่ยนแปลงยาก แม้ทุกคนจะรู้หน้าที่พนักงานทุกคนรู้ปัญหาดี แต่ทำไมไม่มีใครพูดเปิดประเด็น?เหตุการณ์น่าเป็นห่วงเหล่านี้มีสาเหตุทางจิตวิทยาเหมือนกันที่เรียกว่า...
Scout Mindset
Scout Mindset : เข้าใจปัญหาด้วยการเฝ้ามองอยู่เงียบ ๆ ห่าง ๆ
เคยสงสัยไหม? ทำไมผู้บริหารบางคนถึงมองปัญหาได้ทะลุปรุโปร่ง “อ่านเกมขาด” ทั้งๆ ที่ดูก็ไม่ได้มีความสามารถเลิศเลอเหนือไปกว่าใคร? แม้ผู้บริหารท่านนั้นไม่ได้มีทักษะพิเศษ...
การประเมินผลการทำงาน
เตรียมตัวให้พร้อม : เคล็ดลับรับมือการประเมินผลการทำงานช่วงสิ้นปีอย่างมืออาชีพ
การประเมินผลการทำงาน คืออะไร?การประเมินผลการทำงาน คือกระบวนการประเมินผลงานของพนักงานอย่างเป็นทางการ โดยจะมีเกณฑ์ตรงกลางที่บริษัทตั้งไว้ และพนักงานจะถูกประเมินโดยหัวหน้างานหรือคนที่เกี่ยวข้องกับตัวเองในการทำงาน...