Optimum Envy : ชีวิตรุ่ง เพราะ “อิจฉา” อย่างพอดี

อิจฉา
อย่าขี้อิจฉา อย่าขี้อิจฉา อย่าขี้อิจฉา…สังคมสอนเราแบบนี้มาช้านาน แต่ลองถามตัวเองดู เราไม่เคยอิจฉาคนอื่นเลยจริงๆ เหรอ? อันที่จริง เราควบคุมความอิจฉาไม่ได้ด้วยซ้ำ จู่ๆ ความรู้สึกนี้มันก็พวยพุ่งขึ้นมาเอง

จะดีกว่าไหม ถ้าเรายอมรับความ อิจฉา …และใช้มันให้เป็นประโยชน์จนชีวิตรุ่ง?

  • เพราะอิจฉาเพื่อนที่ก้าวหน้าในการงาน คุณจึงเริ่มพัฒนาตัวเอง ขยันทำงาน เรียนคอร์สออนไลน์เสริม เสาร์อาทิตย์คิดไอเดียธุรกิจ
  • เพราะอิจฉาเพื่อนที่โน้มน้าวเก่งพูดอะไรคนก็ฟัง คุณจึงเริ่มฝึกทักษะการพูด เข้าคอร์สเรียนปิดการขาย รับงานพูดบนเวทีสาธารณะ
  • เพราะอิจฉาเพื่อนที่ได้แฟนสวย คุณจึงเริ่มดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย แต่งตัวดี ปรับบุคลิกภาพ

แต่ก่อนที่เราจะลงลึกรายละเอียด เราไปรู้จักความอิจฉาให้มากขึ้นอีกนิดกันก่อน

วิทยาศาสตร์ของความ อิจฉา

ก่อนอื่นเลยเราต้องแยกความแตกต่างระหว่าง “Envy x Jealous” ซึ่งเป็นคำที่ภาษาไทยเราเรียกรวมๆ ว่า “อิจฉา”

  1. Envy เกี่ยวข้องกับ “สิ่งของ” มักมีแค่ 2 คน เช่น ความรวย / สถานะทางสังคม / สุขภาพ…
  2. Jealous เกี่ยวข้องกับ “พฤติกรรมของบุคคลที่ 3” มักประกอบด้วย 3 คนอย่างต่ำ เช่น John อิจฉา Jack เพราะ Emily โทรหา Jack แทนที่จะเป็นเขา

เราสังเกตได้ว่า Jealous เป็นความอิจฉาที่นำไปสู่ความริษยาด้านลบได้ ขณะที่ Envy เป็นความอิจฉาที่มีโอกาสกระตุ้นให้เราอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อได้แบบเค้ามา ซึ่งนำไปสู่พัฒนาการในเรื่องต่างๆ

เรื่องน่าสนใจของความอิจฉาคือ เรามักอิจฉาแค่คนที่อยู่ในวงสังคม / รายได้ / อายุ / ที่อยู่อาศัย / เพศ / การศึกษา…ที่ “ใกล้เคียง” กับเราที่สุด 

  • ถ้าคุณเป็น Startup เล็กๆ แห่งหนึ่ง คุณจะไม่อิจฉา Facebook…แต่คุณอาจอิจฉา Startup เกิดใหม่เจ้าอื่นที่พึ่ง pitch ชนะจนได้เงินทุนมหาศาลมา
  • ถ้าคุณเป็น Content Creator คุณจะไม่อิจฉา Engineer คนอื่น…แต่อิจฉา Content Creator บริษัทคู่แข่งที่เก่งกว่า-รายได้สูงกว่า
  • ถ้าคุณเป็น CEO คุณอิจฉา CEO คนอื่น ที่ใหญ่กว่า ดังกว่า รายได้มากกว่า

ที่มาของความ”อิจฉา”

เรารู้ดีว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นเองโดยที่เราไม่ได้พยายามเลย เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติในมนุษย์ เช่น ความต้องการทางเพศ ความกลัว และความ “อิจฉา” ก็เป็นหนึ่งในนั้นโดยมีผลมาจากรากเหง้าทางด้านวิวัฒนาการ

สมัยก่อนมนุษย์อยู่เป็นเผ่าๆ ถ้าวันนี้เผ่า B ที่อยู่ถ้ำข้างๆ ล่าสัตว์ได้เนื้อก้อนโตเป็นพิเศษ นั่นหมายถึงเผ่า A อย่างคุณจะได้เนื้อสัตว์น้อยลงตาม มันคือ Zero-Sum Game เกมชีวิตที่มีผู้แพ้-ผู้ชนะชัดเจน

แต่เมื่อเผ่า A เกิดอิจฉาเผ่า B อย่างแรงกล้า…มีแนวโน้มสูงว่าต่อไป สมาชิกเผ่า A ด้วยกันเองจะพยายามให้มากขึ้น รอบคอบมากขึ้น ร่วมมือกันมากขึ้นในการล่าสัตว์เพื่อไม่ให้น้อยหน้าเผ่า B

ลักษณะนิสัยความรู้สึกอิจฉาจึง “ถูกคัดเลือก” มา เพื่อให้มนุษย์มีโอกาสล่าสัตว์ได้มากขึ้น กินอิ่มขึ้น รอดชีวิตมากขึ้น เพื่อไปสืบพันธุ์และมีลูกหลานได้มากขึ้น

แต่สภาพโลกปัจจุบันเปลี่ยนไปจากอดีตโดยสิ้นเชิง 

  • การที่เพื่อนบ้านคุณซื้อของกินที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างอิ่มหนำสำราญ ไม่ได้หมายความว่าเค้าแย่งอะไรไปจากคุณ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีกินน้อยลง
  • การที่เพื่อนคุณในบริษัทอื่นได้เลื่อนตำแหน่ง ไม่ได้หมายความว่าตำแหน่งงานของคุณจะถูกแย่งไป

ตามหลักการแล้ว ความอิจฉาริษยาอันแรงกล้าจึงไม่มีประโยชน์อีกต่อไปในโลกปัจจุบัน เพียงแต่ลักษณะนิสัยนี้ยัง “ติดตัว” อยู่ในสัญชาตญาณมนุษย์เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม เราสามารถควบคุมความอิจฉาให้อยู่ในระดับ “พอดี” และเปลี่ยนมันให้เป็นพลังบวกแก่เราได้!

“อิจฉา” ให้เป็น…ชีวิตรุ่ง!

1. ทำไมไม่มองคนที่คุณอิจฉาเป็น “หนูทดลอง” ดูล่ะ? 

สมมติว่าคุณรู้จักเพื่อนสมัยมัธยมเป็นการส่วนตัวและรู้ว่าเค้าพึ่งขึ้นรับตำแหน่งใหญ่โตอย่าง Vice President บริษัทมหาชนแห่งหนึ่ง ความอิจฉาของคุณทำงาน คุณเริ่มเช็คแล้วว่าออฟฟิศเค้าเป็นอย่างไร ขับรถหรูแค่ไหน มีลูกน้องคอยเทคแคร์อย่างไร

แต่ลองมองให้ลึกกว่านั้น ว่าความดีงามภายนอกที่เห็นมี “ราคา” ที่ต้องจ่ายอะไรบ้าง?

  • เพื่อนคุณอาจต้องตื่นตี 4 เพื่อมาเตรียมตัวทำงานทุกวัน
  • มีเวลาเล่นกับลูกและครอบครัวแค่วันละ 1 ชม.
  • ความเครียดและกดดันมหาศาลจากความรับผิดชอบที่สูงลิบ

ไม่แน่นะ จากตอนแรกอิจฉา คุณอาจเลิกอิจฉาในที่สุดก็เป็นได้ หรือไม่ก็มองเป็นบทเรียนว่าจะไม่เดินรอยตามในบางเส้นทาง

ในทางกลับกัน คุณวิเคราะห์ไปในตัวว่าเพื่อนคุณมาถึงจุดนี้…ต้องผ่านอะไรมาบ้าง?

  • มีทักษะอะไรที่โดดเด่นจนบริหารธุรกิจได้ดี?
  • มีความเป็นผู้นำอย่างไรจนชนะใจผู้อื่น?
  • พบปะสมาคมกับใคร ที่ไหน เมื่อไร ถึงมี Connection กว้างขวางขนาดนี้?

2. ดังที่กล่าวไปแล้วว่า คนเรามักอิจฉาในวงล้อมใกล้เคียงกับเราที่สุดเท่านั้น นั่นหมายความว่า เราอาจใช้ความอิจฉาที่เกิดขึ้นเป็น “สัญญาณ” เพื่อเช็คว่าตัวเรากำลังเดินอยู่ในเส้นทางที่ชอบจริงๆ อยู่หรือไม่?

เช่น คุณเป็นพนักงานออฟฟิศที่ทำงานหนักเพื่อไต่เต้า Career Path ของตัวเอง แต่เริ่มอิจฉาเพื่อนอีกคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก…แม้ไม่ได้ร่ำรวยมหาศาล แต่เป็นนายตัวเอง ได้ทำตาม Passion มีเวลาว่างเหลือเฟือ อยากหยุดพักเมื่อไรก็ทำได้ ความอิจฉาที่ก่อตัวขึ้นอาจเป็นสัญญาณแรกที่เตือนว่าคุณอาจกำลังเดินผิดทาง

3. จำคำนี้ไว้ให้ดี อิจฉาได้…แต่ต้องไม่ “ริษยา” เพราะความริษยาคือพลังแง่ลบที่เราอยากให้คนที่เราอิจฉาเจอเรื่องแย่ๆ ร้ายๆ อย่างไม่เป็นธรรม

ความริษยาลดทอนจริยธรรมในตัวเรา คุณอาจแอบ “สะใจลึกๆ” เมื่อธุรกิจของเพื่อนต้องปิดหลายสาขาเมื่อเกิด Covid-19

4. ความอิจฉาที่เกิดในวงสังคมของตัวเองอาจเป็นผลดีด้วยซ้ำ เพราะหมายถึงเราอยู่ท่ามกลางคนเก่งๆ ผู้บริหารหลายคนลงความเห็นว่า “ตัวคุณในวันนี้คือค่าเฉลี่ยของคน 5 คนที่คุณคบหาใช้เวลาด้วยมากที่สุด”

5. มนุษย์นั้นมี “แรงขับเคลื่อน” จากความอิจฉารุนแรงไม่แพ้แรงขับเคลื่อนทางเพศ ความโลภ ความโกรธ

เราอาจรักษาความอิจฉาไว้ในระดับที่สูงก็ได้ แต่ขอแค่เป็นความอิจฉาเฉพาะกับ “คนที่เราอยากจะเป็น” 

คุณอาจอิจฉา CEO ท่านอื่นที่ปั้นบริษัทจนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว นี่เป็นความอิจฉาด้านบวกที่เป็นเชื้อเพลิงให้เราอยากประสบความสำเร็จตามนั่นเอง

.

.

สุดท้ายแล้ว ชีวิตคือการวิ่งมาราธอน และเราล้วนมีจังหวะวิ่งของตัวเอง

เพื่อนคุณสำเร็จในแบบตัวเองตอนอายุ 30 

คุณอาจสำเร็จในแบบตัวเองตอนอายุ 40

และไม่ว่าจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน…เราดีที่สุดในจุดที่เป็นได้

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ มีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วัน…จนคนอื่นอิจฉา!! >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/


อ้างอิง

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

Bystander Effect
Bystander Effect : สาเหตุที่พนักงานมีความลับแล้วไม่บอกบริษัท
ที่มาของ “ไทยมุง” มัวแต่ยืนดู…แต่ไม่มีใครช่วยสาเหตุที่บริษัทเปลี่ยนแปลงยาก แม้ทุกคนจะรู้หน้าที่พนักงานทุกคนรู้ปัญหาดี แต่ทำไมไม่มีใครพูดเปิดประเด็น?เหตุการณ์น่าเป็นห่วงเหล่านี้มีสาเหตุทางจิตวิทยาเหมือนกันที่เรียกว่า...
Scout Mindset
Scout Mindset : เข้าใจปัญหาด้วยการเฝ้ามองอยู่เงียบ ๆ ห่าง ๆ
เคยสงสัยไหม? ทำไมผู้บริหารบางคนถึงมองปัญหาได้ทะลุปรุโปร่ง “อ่านเกมขาด” ทั้งๆ ที่ดูก็ไม่ได้มีความสามารถเลิศเลอเหนือไปกว่าใคร? แม้ผู้บริหารท่านนั้นไม่ได้มีทักษะพิเศษ...
การประเมินผลการทำงาน
เตรียมตัวให้พร้อม : เคล็ดลับรับมือการประเมินผลการทำงานช่วงสิ้นปีอย่างมืออาชีพ
การประเมินผลการทำงาน คืออะไร?การประเมินผลการทำงาน คือกระบวนการประเมินผลงานของพนักงานอย่างเป็นทางการ โดยจะมีเกณฑ์ตรงกลางที่บริษัทตั้งไว้ และพนักงานจะถูกประเมินโดยหัวหน้างานหรือคนที่เกี่ยวข้องกับตัวเองในการทำงาน...