อยาก “ฝึกทักษะใหม่” ให้ทันโลก แต่เริ่มต้นไม่ถูก หรือเรียนไปแล้วก็ยังใช้ไม่ได้ หรือบางทีก็เรียน e-learning ให้จบ ๆ ไปเพื่อนับชั่วโมงรับประกาศนียบัตรหรือแลกของรางวัล วันนี้เราขอพาทุกคนไปถอดรหัสสูตรการเรียนรู้ที่อาจไม่มีในทฤษฎี แต่มีคนทำได้จริงแล้วบนโลกนี้ โดยได้หยิบยกทักษะที่สำคัญ มาให้เป็นตัวอย่างให้ลองนำไปวางแผนการเรียนรู้ของตนเองหรือของทีมดูกัน ชวนมาปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ในองค์กรที่หลายคนบ่นอุบว่าเรียนแล้วนิ่งให้กลายเป็นชั่วโมงที่สร้าง value ที่แท้จริงต่อทั้งตัวพนักงานเองและองค์กรไปด้วยกัน และเมื่อโอกาสมาถึงจะได้แสดงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ได้อย่างเต็มที่และพร้อมจะปรับตัวไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแบบใดก็จะเป็นคนที่มีความสามารถอยู่เสมอ
แรงบันดาลใจจากออสติน ทัคคาเบอรี: ฝึกเขียนโค้ดให้เป็น Software Engineer
ขอยกตัวอย่างด้วยการเล่าถึงคุณออสติน ทัคคาเบอรี พนักงานวิศวกรทั่ว ๆ ไปที่มีความฝันอยากทำสตาร์ทอัพของตัวเอง แต่ไม่มีความรู้เรื่องเทคฯ เลย (ในที่นี้คือ การเขียนโค้ด) จึงอยากจะลองฝึกเขียนโค้ดด้วยตัวเองและเป็น Software Engineer ซึ่งเรื่องราวนี้คงคล้าย ๆ ใครหลายคนในตอนนี้ที่กำลังคิดว่า “รู้งี้” เลือกเรียนเป็นโปรแกรมเมอร์ดีกว่า เพราะตอนนี้เป็นที่ต้องการสูงและเงินเดือนก็สูงมากตามด้วย แถมส่วนใหญ่ยังทำงานที่ไหนบนโลกก็ได้ ทำงานผ่านคอมพิวเตอร์และไม่ต้องใช้ทักษะด้านภาษา(ต่างประเทศ) แต่เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ หลังจากทัคคาเบอรีลองค้นหาข้อมูลดูสักพักก็พบว่า ทักษะนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนจบสาขาใดมา แต่สามารถเริ่มเรียนรู้และฝึกฝนได้ด้วยตัวเองอย่างจริงจัง!
หลายคนที่อ่านถึงตอนนี้ก็คงรู้ดีว่า ขั้นตอนที่ยากที่สุดก็คือ การเริ่มต้น และยากกว่านั้นก็คือ เริ่มต้นให้ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง คุณทัคคาเบอรีก็เช่นกัน เขารู้ตัวดีกว่า เริ่มต้นแบบปกติน่าจะไม่รอดแน่ จึงลองตั้งเป้าหมายแบบโหด ๆ กับตัวเองว่า “ภายใน 1 ปี จะต้องย้ายไปทำงานเป็น Software Engineer ด้วยเงินเดือนที่สูงกว่างานวิศวกรปัจจุบันให้ได้” และจัดแผนการเรียนรู้ของตัวเองเป็น 5 เฟส
- เฟส 1 (เดือนที่ 1) : เรียนพื้นฐานวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer Science) ให้เข้าใจคอนเสปต์ทั้งหมด ด้วยการอ่านบทความจากใน Google Technical Guide ลงเรียนคอร์สออนไลน์เฉพาะทางที่ Udacity โดยเรียนจบคอร์สภายใน 20 วัน ระหว่างเรียนอยู่ในช่วงนั้นเลิกเล่นโซเชียลมีเดียทั้งหมด และอ่านเฉพาะบทความที่เกี่ยวข้องเท่านั้นจนพบเคล็ดลับว่ามีคอร์สชื่อ Havard CS50 ที่อยู่ใน EdX ที่เหมาะกับผู้ที่กำลังเริ่มต้น
- เฟส 2 (เดือนที่ 2-3) : เรียนคอร์สใน FreeCodeCamp จนสามารถสร้าง Portfolio ในระดับ Full Stack Web Application ได้ เริ่มต้นด้วยการเรียนคอร์สเกี่ยวกับ Front End, React, Back End ใน FreeCodeCamp และหัดโค้ดโดยใช้ Ubuntu และทำชาเลนจ์ให้ตัวเองด้วยระบบ 100-Day Challenge คือเขียนโค้ดทุกวันติดกัน และจดรายละเอียดความคืบหน้าทุกอย่างใน 100 วัน จนสามารถเขียนโค้ดสร้าง Web App ของตัวเองได้สำเร็จ ได้เรียน YDKJS รวมถึงไปเจอคนในวงการ Coding ตามงาน Meetup ต่าง ๆ เข้าร่วม CodeClub ที่สนใจเรื่องเดียวกัน เพื่อเรียนรู้วิธีคิดใหม่ๆ จากคนอื่นๆ ได้เตรียมพร้อมสำหรับการสัมภาษณ์ และได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีแต่เนิ่นๆ กับคนที่จะช่วยในการฝึกฝนและสนับสนุนงานได้ในอนาคตเมื่อฝึกสำเร็จแล้ว โดยตลอด 9 เดือน ทัคคาเบอรีได้ไป Meetup ต่อเนื่องถึง 50 ครั้ง
- เฟส 3 (เดือนที่ 4-6) : ฝึก Clean Up Code โดยลองทำการเขียนโค้ดที่อยู่ในระดับ Advance ช่วงนี้หลังจากผ่านความสำเร็จแรกมาแล้ว ทัคคาเบอรีเลือกจะผ่อนคลายบ้าง เดินทางท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ และสร้างเกมขำๆ ขึ้นมา เช่น เกมซื้อขายหุ้นแบบง่าย ๆ แล้วเอาไปโพสต์ใน Reddit (คล้าย ๆ Pantip) ให้กลายเป็น Portfolio เพื่อดูฟีดแบค และลองสร้างสิ่งที่ยากขึ้นโดยเลือกเป็นแพลตฟอร์มสำหรับหางานโปรแกรมเมอร์ชื่อ JobSort() ที่สามารถ Filter หาคนตามภาษาคอมพิวเตอร์ที่นายจ้างต้องการได้
- เฟส 4 (เดือนที่ 7-8) : ฝึกเขียน Open Source ด้วยการพัฒนา UX ของตัวเองที่ทำไว้ให้ดีขึ้น และยังกลับไป Reconnect กับเพื่อนที่เคยสร้างสัมพันธ์ไว้ตอนไป Meetup แรก ๆ อีกด้วย และรวบรวมผลงานทั้งหมดนำมาจัดทำเป็น Portfolio ให้เป็นชิ้นเป็นอัน และลงมือสมัครงานทันทีที่ทำเสร็จ โดยส่งเรซูเม่ไป 63 แห่ง ทั้งบริษัทที่ เป็น Software House และ ไม่ใช่ Software House โดยใช้โปรแกรมของตัวเองช่วยหางานให้ด้วย จนได้รับการติดต่อกลับจาก 5 บริษัทแต่ไม่ได้ถูกเรียกไปสัมภาษณ์ในที่สุด ซึ่งเขาได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่องค์กรมองหาจากมือใหม่ คือต้องมี Passion และอย่างน้อยต้องรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง
- เฟส 5 (เดือนที่ 9) : ยื่นสมัครงาน และเตรียมตัวสัมภาษณ์งาน ให้ได้งาน เป็น Software Engineer ที่เงินเดือนสูงขึ้นกว่างานปัจจุบัน ในช่วงนี้ได้ใช้การสัมภาษณ์ปิดช่องโหว่ของตัวเอง คำถามที่โดนถามแล้วตอบไม่ได้ ก็กลับมาเรียนรู้และเตรียมตัวเพิ่ม จนในที่สุดก็มีบริษัทตอบรับมาจริง ๆ
จากที่เล่ามาข้างต้น ทัคคาเบอรียังทำงานประจำปกติ บางครั้งก็ทำงานกะกลางคืน 5 โมง ถึง ตี 5 ถึง 6 วันต่อสัปดาห์ด้วยซ้ำ แต่หากเราดูวิธีคิดของทัคคาเบอรี จะเห็นว่าเป็นระบบและมี mechanism ที่ชัดเจนทั้งในการสร้างความกดดันและผ่อนคลาย การให้รางวัล การเรียนรู้จากคนรอบตัว การเพิ่มแรงจูงใจให้ตัวเอง และการนำสิ่งที่เรียนมาปฏิบัติจริง ตลอดเส้นทางการเรียนรู้จนสำเร็จ
เราเรียนรู้อะไรจากแผนการเรียนรู้และความสำเร็จนี้ได้บ้าง?
นอกจากภาษาคอมพิวเตอร์แล้ว ทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่สอง สาม หรือสี่ ก็ได้กลายเป็นพื้นฐานของการทำงานในปัจจุบัน ทั้งใช้ในการหาความรู้ที่อัพเดทอยู่ตลอดเวลา หรือการสื่อสารกับทีมงานและคู่ค้าทั่วโลก ที่ถึงแม้ว่าจะมีโปรแกรมแปลภาษาที่เข้ามาช่วย แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีพื้นฐานในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะทักษะการฟังและพูด
Language Lords เป็น Youtuber ที่ฝึกภาษาฝรั่งเศสด้วยตัวเองใน 30 วัน! ด้วยการพูดทุกวันอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเยอะในช่วงแรก แค่ 1 ชั่วโมงนี้ก็ยากพอแล้ว โดยเขาใช้เครื่องมือ 3 อย่าง
- โปรแกรมแปลภาษาที่ชื่อ DeepL Translator
- Flashcard คำศัพท์ โดยใช้แอปพลิเคชัน ที่ชื่อ Anki
- พื้นที่จดประโยค โดยใช้ Google Sheets
การ “ฝึกทักษะใหม่” นี้แบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน (ทำซ้ำวันละ 3 รอบ)
1 : อัดวิดีโอพูดชีวิตตัวเองอะไรก็ได้ให้ครบ 5 นาที ฟรีสไตล์ แล้วถ้าเจอคำหรือประโยคไหนคิดไม่ออกก็พูดทับศัพท์ไปเลยอย่าให้สะดุด สิ่งสำคัญคือ ต้องเอาชนะตัวเองให้ได้ ยิ่งยากยิ่งเรียนรู้ไวขึ้น แต่ก็ทำให้หลายคนไม่สามารถผ่านความยากนี้ไปได้
2 : จดคำศัพท์และประโยคจากวิดีโอตัวเอง คำที่ไม่รู้ก็หาคำแปล แล้วเอาไปเก็บในคลัง Flashcard แต่ละเรื่อง จะมี Flashcard แยกกัน ส่วนประโยคก็พิมพ์ลง Google Sheet
3 : ทำขั้นที่ 1-2 ซ้ำ 2 รอบ จนเนียน ถ้ามีคำใหม่เพิ่มขึ้นมาก็ให้จดเพิ่มลงไปอีกเรื่อย ๆ
4 : เล่าเรื่องแนวเดิม ด้วยหัวข้อใหม่ เพื่อเป็นการฝึก Apply ใช้คำศัพท์ในประโยคหรือสถานการณ์หลาย ๆ แบบจนพูดคล่อง และ 5 นาทีจะผ่านไปเร็วมาก
5 : ทบทวนคำศัพท์และประโยคทุกวัน เปิด Flashcard และ Google Sheet และสามารถหาตัวช่วย ในที่นี้เรียกว่า Language Partner มาช่วยรีวิวหรือแนะนำให้ดูเป็นธรรมชาติ หรือฝึกคุยกับคนจริง ๆ ได้ เช่น แอปพลิเคชัน Hello Talk และอาจแบ่งการฝึกทีละเรื่อง ได้แก่ Speaking, Vocabruary, Accent, Listening, Conversation โดยใช้วิธีที่ต่างกัน เช่น ดูวิดีโอแล้วพูดสรุปใจความ (ควรเลือกวิดีโอที่เราอยากมีสำเนียงเหมือน) หรือ อ่านบทความแล้วพูดสรุปใจความ เป็นต้น และพักด้วยการดูหนัง กินขนม หรือเดินเล่น
แน่นอนกว่า กว่าจะสำเร็จ เขาเคยถอดใจกับการเรียนภาษาฝรั่งเศสที่ไม่ได้ผลมาแล้วเหมือนกับหลาย ๆ คน จนกระทั่งฮึตสู้อีกครั้งในช่วงกักตัวและตกงาน โดยใช้เวลาเพียง 30 วัน วันละ 8 ชั่วโมงจนสำเร็จ โรงเรียนสอนภาษาบางแห่ง (โดยเฉพาะที่ว่าเรียนแล้วเห็นผลจริง) ก็เริ่มใช้เทคนิคนี้มาสอนนักเรียนมากกว่าการเรียนตามหนังสือและสลับพูดกับครูต่างชาติเพียงอย่างเดียว
แนวคิดในการออกแบบหลักสูตรในยุคหลังโควิดแบบ 4-S แนะนำให้เริ่มด้วยปัญหาและสิ่งที่ต้องรู้ (Struggle) เราไม่สามารถเรียนรู้ได้ถ้าเราไม่รู้ว่า ต้องรู้อะไรบ้าง รู้ไปทำไม และต้องอย่างไรจึงจะรู้ หลังจากนั้นจัดโครงสร้างสิ่งที่รู้แล้วออกจากสิ่งที่ยังขาด (Structure) แล้วค่อย ๆ เชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน (Systemize) ทั้งข้อมูลจากที่เรียนด้วยตนเอง จากคนรอบข้าง จากการลองผิดลองถูก จนเกิดเป็นองค์ความรู้และทักษะใหม่ในแบบของตัวเอง (Synthesize)
ทั้งหมดนี้ แน่นอนว่า แรงจูงใจปลายทางที่หอมหวาน คือ การเติบโตในชีวิตการทำงานทั้งในด้านการพัฒนาตัวเอง ตำแหน่งงาน และผลตอบแทน โดยผ่าน 4 กระบวนการ ได้แก่ การรู้จักจุดแข็งและสิ่งที่สนใจ (Reflect) การหาทางเลือกในการเรียนรู้และพัฒนา (Explore) การฝึกฝนความรู้ทักษะและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ ๆ (Develop) และการเชื่อมต่อกับคนในแวดวงที่สนใจเรื่องเดียวกัน (Connect) จนนำไปสู่โอกาสและคุณค่าใหม่ ๆ ให้กับตัวเองและองค์กร
การ “ฝึกทักษะใหม่” ด้วย Career Development Framework and Tools, Harvard T.H. Chan
เมื่อได้ทบทวนข้อมูลและเคสตัวอย่างอย่างดีแล้ว ก็ลองสรุปสิ่งที่ทำให้การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น มาฝากไว้ให้ ดังนี้
1. การออกแบบวิธีการเรียนจากสิ่งที่ชอบทำ จะทำให้เรียนง่ายขึ้น หาสิ่งที่ชอบแล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ชอบจดบันทึกสวย ๆ ก็นำการเขียนมาเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝน
2. คนที่มี deadline ที่ชัดเจนจะถึงเป้าหมายได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มี รวมถึงการกำหนดเป้าหมายใหญ่และเป้าหมายรายวัน
3. การอยู่ในกลุ่มคนที่มีความสนใจคล้าย ๆ กันจะช่วยให้สำเร็จง่ายขึ้น การเรียนรู้ด้วยตัวเองโดยไม่มีคนช่วย จะสำเร็จช้ากว่าการมีคอนเนคชันในการสอบถาม แนะนำ เติมไฟ จุดประกาย และการรู้จักกับคนตอนที่เรายังไม่เก่ง ย่อมมีแต่คนอยากช่วยเหลือ
4. ไม่ต้องรอให้ทักษะเพอร์เฟคก็ลงสนามจริงได้เลย พูดไม่คล่องก็ข้าม ๆ บางคำไปบ้างก็ได้ หรือเขียนโค้ดยังไม่เพอร์เฟคก็ลอง Open Source ก่อน
5. ฟีดแบคสำคัญมากกับการเรียนรู้ เป็นการทดลองว่าเราใกล้เคียงมาตรฐานที่ตลาดต้องการแล้วหรือยัง
ขอบคุณข้อมูลจาก : Khon At Work