Muji ปั้นองค์กรอย่างไร? สู่แบรนด์ Minimal ระดับโลก

Muji
MUJI คือตัวแทนของความ Minimal ระดับโลก มีกว่า 1,020 สาขา ใน 35 ประเทศทั่วโลก มูลค่าบริษัท 145,000 ล้านบาท กำไรกว่า 10,000 ล้านบาท Muji เริ่มมาจากสินค้าพื้นๆ ในชีวิตประจำวัน เติบใหญ่จนกลายเป็นตัวแทนความ Minimal ระดับโลก…มูจิมีวิธีปั้นองค์กรอย่างไร? 

จุดเริ่มต้นของความ Minimal ของ Muji

MUJI ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1980 โดยคุณ Seiji Tsutsumi ที่ตอนนั้นดำรงตำแหน่งประธานห้างสรรพสินค้า Seiyu Department Store โดยตอนแรกยังมีสินค้าไม่ถึง 40 ชนิด และเป็นเพียงส่วนหนึ่งเล็กๆ ของห้างเท่านั้น

แต่ ณ จุดเริ่มต้นที่ก่อตั้ง ก็มีแนวคิดที่แตกต่างจากบริษัทอื่นแล้ว 

เพราะมาในคอนเซ็ปต์ “สินค้าคุณภาพดีไม่มียี่ห้อ” 【無印良品】 

Image Cr. muj.lu/3v5XR9m

สวนกระแสพลังบริโภคนิยมอันมหาศาลของชาวญี่ปุ่นที่คลั่งไคล้แบรนด์เนมและความฟุ้งเฟ้อในทศวรรษนั้น(ยุคเศรษฐกิจบูม) ซึ่งแนวคิดนี้กลับถูกจริตผู้บริโภคญี่ปุ่นบางกลุ่มเข้าให้เต็มๆ นำไปสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องนับแต่นั้นมา

  • ปี 1983 MUJI ได้เปิดร้านสาขาแรกที่โตเกียว และเพิ่มสินค้าเป็น 720 ชนิด เคาะกำไรไปกว่า 40 ล้านบาทในปีแรก (สินค้าสร้างชื่อคือ “จักรยาน”)
  • ปี 1989 MUJI แยกตัวออกมาจากห้าง Seiyu และตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาเองในนามว่า Ryohin Keikaku Co., Ltd.
  • ปี 1991 ทดลองเปิดสาขาต่างประเทศแห่งแรกที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ
  • ปี 1998 บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์โตเกียวได้สำเร็จ ก่อนนำเงินทุนเริ่มขยายสาขาไปทั่วโลกนับแต่นั้นมา (มูจิเข้ามาทำตลาดในไทยปี 2006)

การสร้างแบรนด์ที่ไร้แบรนด์

มูจิแทบจะตบหน้าทุกตำราการตลาดเรื่องการสร้างแบรนด์ ที่ว่าคุณต้องมีโลโก้อันโดดเด่นจำง่าย / มีสีที่สะดุดตาสื่ออารมณ์ / การวางโลโก้บนผลิตภัณฑ์ต้องอยู่ในตำแหน่งเพอเฟ็กต์ที่สุด ฯลฯ

แต่มูจิปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด และโฟกัสไปที่ฟังก์ชั่นและดีไซน์ของตัวผลิตภัณฑ์

ดีไซเนอร์ทุกคนของมูจิจะถูกกำชับเสมอว่า ให้ออกแบบโดยเฟ้นความงดงามและการใช้งานของตัวผลิตภัณฑ์เองให้ออกมาได้มากที่สุด ละทิ้งการวางตำแหน่งโลโก้ ละทิ้งอัตลักษณ์ที่สื่อถึงแบรนด์หรือความหรูหราออกไปให้หมด

…นี่คือเงื่อนไขการทำงานที่ประนีประนอมไม่ได้เลย

นอกจากนี้ มูจิมีนโยบายไม่เปิดเผย “ชื่อดีไซน์เนอร์” แม้แต่คนเดียว ทั้งๆ ที่บางคนมีชื่อเสียงในวงการมาก ทั้งนี้ก็เพื่อลูกค้าโฟกัสที่ตัวผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว (ปราศจากชื่อเสียง “แบรนด์” ของดีไซเนอร์) และเปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์หน้าใหม่สามารถแสดงฝีมือได้เช่นกัน

Muji

Image Cr. bit.ly/3bBjCGv

ปรัชญาเบื้องหลังความเรียบง่ายของ Muji

ถ้าศึกษาลงลึกจะพบว่า MUJI ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิล / ลดกระบวนการผลิต / ลดการใช้แพกเกจจิ้งอย่างสิ้นเปลือง / การสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่นในแต่ละประเทศ / การนำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์

เช่น มูจิประเทศไทย เลือกใช้ “กาแฟดอยตุง” มาไว้ในคาเฟ่ของตน เพราะเป็นกาแฟคุณภาพดี และ ได้สนับสนุนเกษตรกรไทยไปในตัว 

นี่คือ “คุณค่า” ที่มูจิปฏิบัติมาโดยตลอดในทุกประเทศที่ไปดำเนินกิจการ อาจเป็นคุณค่าที่มองไม่เห็นชัดหรือจับต้องไม้ได้…แต่รับรู้ได้ 

ตอบโจทย์คุณค่าที่ยึดถือของผู้บริโภครุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Z ที่ไม่ได้ซื้อสินค้าเพราะตัวสินค้าอีกต่อไป แต่ซื้อเพราะอุดมการณ์ที่แบรนด์ยึดถือด้วย

และคุณค่าเหล่านี้เอง ที่ยังทำให้มีลูกค้าผู้จงรักภักดีอุดหนุนอย่างเหนียวแน่น ท่ามกลาง “คู่แข่งเกิดใหม่” ที่มีรูปแบบธุรกิจคล้ายกัน (เช่น Miniso หรือ Moshi Moshi)

เมื่อย้อนหลังดูผลประกอบการของ MUJI (ก่อนโควิด-19) ก็ค่อนข้างน่าประทับใจ

ปี 2013 รายได้ 64,700 ล้านบาท กำไร 5,000 ล้านบาท

ปี 2019 รายได้ 123,000 ล้านบาท กำไร 10,800 ล้านบาท

รายได้กว่า 60% มาจากสาขาในประเทศญี่ปุ่น

รายได้ที่เหลืออีก 40% มาจากสาขาทั่วโลกรวมกัน

สากกระเบือยันเรือรบ

ลูกค้าแต่ละคนย่อมมีสินค้า MUJI ที่ชื่นชอบประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นพิเศษ แต่เมื่อเราลองมาดูภาพรวมแล้ว จะพบว่า MUJI “ขายทุกอย่าง” เลยก็ว่าได้ตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ

ทั้งนี้ เพื่อให้ความ Minimal (และความเป็นมูจิ) สอดแทรกไปอยู่ใน “ทุกอณูของชีวิตประจำวัน”

  • บ้านที่ใช้เฟอร์นิเจอร์มูจิ
  • ปากกา สมุด เครื่องเขียนของมูจิ
  • เสื้อผ้า กางเกง รองเท้าของมูจิ
  • หรือแม้แต่เข้าพักโรงแรมมูจิ Hotel เวลาท่องเที่ยว

“เราไม่ได้อยากให้ผู้คนแค่ซื้อสินค้าไปใช้ แต่อยากให้ทุกคนรู้สึกอุ่นใจที่มี MUJI อยู่ในไลฟ์สไตล์ เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว MUJI” 

คือคำพูดของ Naoto Fukasawa คณะกรรมการที่ปรึกษางานดีไซน์ประจำมูจิ ซึ่งตอกย้ำการเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมูจิเข้าไปอีก

(เขาเป็นดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงในวงการ ร่วมงานกับอีกหลายแบรนด์ชั้นนำของโลกทั้งจากอิตาลี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และหลายประเทศในเอเชีย)

In-Store Experience ของ Muji

เวลาเราเดินไปตามห้างสรรพสินค้า จะปะทะกับร้านรวงที่ใส่ความหรูหราโอ่อ่า บางแห่งมาแบบโมเดิร์นอวกาศ บางแห่งมาแบบคลาสสิกผู้ดีเก่า

ทุกอย่างดูเหมือนจะโอบกอดแนวคิดการเรียกร้องความสนใจ การทำให้ตัวเองดูโดดเด่น ดูยิ่งใหญ่อลังการ

แต่ MUJI เลือกที่จะรักษาโลกอันแสนสงบ ผ่อนคลาย และเรียบง่ายไว้กับตัวร้าน ผ่านงานดีไซน์ที่เรียบง่าย / เน้นใช้วัสดุไม้ / งานประกอบสุดเนี้ยบ / กลิ่นเครื่องหอมที่อบอวล / หรือลวดลายดีไซน์ที่แฝงความเป็นท้องถิ่น(ของแต่ละประเทศ)

ไม่แปลกเลยถ้าผู้บริโภคบางคน แค่จะอยากจะมีประสบการณ์ “ขอแค่เดินผ่านร้าน MUJI ก็สดชื่นแล้ว” แม้วันนั้นจะไม่ได้ซื้ออะไร (แต่อาจซื้อวันหน้า)

Muji

Image Cr. muj.lu/3v5XR9m

นอกจากนี้ In-Store Experience ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ เพื่อบาลานซ์กับภาพลักษณ์ความเรียบง่ายไม่โดดเด่น (ผู้บริโภคบางคนอาจมองว่า “ถูก”) 

แถมเป็นพื้นที่ “โฆษณา” ให้กับแบรนด์ขณะเดียวกัน MUJI ถือเป็นแบรนด์ที่โฆษณาน้อยมากเมื่อเทียบกับแบรนด์ขนาดใหญ่อื่นๆ

ในช่วง 3-4 ปีมานี้ มูจิประเทศไทยจึงลงทุนกับการสร้างบรรยากาศหน้าร้านเต็มรูปแบบ(ไม่แพ้ที่ญี่ปุ่น) และมีการปรับลดราคาสินค้าลงมาอย่างต่อเนื่องให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

Muji

เรียบง่าย…แต่ไม่มักง่ายแบบ Muji

สินค้าของมูจิเป็นสินค้ากลางๆ ที่มีความพอดี ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทได้อย่างคล่องแคล่ว มีความเรียบง่ายในอัตลักษณ์และการใช้งานที่แม้จะผ่านไปกี่ปีก็ยัง “ดูดีอยู่-ใช้ได้อยู่” จนครองใจลูกค้าทั่วโลก

  • “แต่งบ้านสไตล์มูจิ”
  • “อย่ามูจิให้มันมาก!”
  • “ใช้ชีวิตเรียบง่ายแบบมูจิ๊มูจิ”
Muji

Image Cr. muj.lu/3v5XR9m

“Muji” กลายเป็นคำนาม คำกริยา คำคุณศัพท์…เป็นตัวแทนของความ “เรียบง่าย” (Minimal) เรียบเก๋ น้อยแต่มาก ไปแล้ว!! ทั้งๆ ที่อีกหลายประเทศหรือหลายองค์กรก็มีแนวคิด “ความเรียบง่าย” เหมือนกัน…แต่กลับไม่ใช่ภาพจำเท่า Muji 

และนี่คือเบื้องหลังการปั้นองค์กร MUJI ที่นอกจากจะให้แนวคิดการทำธุรกิจแล้ว…ยังให้ปรัชญาการใช้ชีวิตกับเราด้วย

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ มีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วัน…คุณอาจเหมาะกับองค์กรที่มีปรัชญาการทำงานแบบมูจิก็ได้นะ >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/


อ้างอิง

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

generation
จะทำอย่างไร? หากต้อง "ทำงานกับคนต่าง Generation" ที่คิดไม่เหมือนกัน
Generation กับความคิดที่ไม่เหมือนกัน เป็นอย่างไร?ความท้าทายของการทำงานร่วมกับคนที่ต่างอายุ ต่างช่วงวัย หลายครั้งไม่ใช่ความสามารถในการทำงานหรือประสบการณ์ที่มากกว่ากัน...
Bystander Effect
Bystander Effect : สาเหตุที่พนักงานมีความลับแล้วไม่บอกบริษัท
ที่มาของ “ไทยมุง” มัวแต่ยืนดู…แต่ไม่มีใครช่วยสาเหตุที่บริษัทเปลี่ยนแปลงยาก แม้ทุกคนจะรู้หน้าที่พนักงานทุกคนรู้ปัญหาดี แต่ทำไมไม่มีใครพูดเปิดประเด็น?เหตุการณ์น่าเป็นห่วงเหล่านี้มีสาเหตุทางจิตวิทยาเหมือนกันที่เรียกว่า...
Scout Mindset
Scout Mindset : เข้าใจปัญหาด้วยการเฝ้ามองอยู่เงียบ ๆ ห่าง ๆ
เคยสงสัยไหม? ทำไมผู้บริหารบางคนถึงมองปัญหาได้ทะลุปรุโปร่ง “อ่านเกมขาด” ทั้งๆ ที่ดูก็ไม่ได้มีความสามารถเลิศเลอเหนือไปกว่าใคร? แม้ผู้บริหารท่านนั้นไม่ได้มีทักษะพิเศษ...