เป้าหมายในการ “บริหารคนรุ่นมิลเลนเนียล” ที่หัวหน้างานและฝ่ายบุคคลต้องรู้

บริหารคนรุ่นมิลเลนเนียล

1. ความสำคัญของคนรุ่นมิลเลนเนียลในโลกธุรกิจ

ปี 2567 ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของการปรับตัวขององค์กรและคนทำงานกลับสู่สภาวะปกติในรูปแบบใหม่ โดยคนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennial) จะเข้ามาเป็นกลุ่มประชากรที่ใหญ่ที่สุดของหลาย ๆ องค์กร การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้ เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับฝ่ายบุคคลและบรรดาหัวหน้างานทั้งหลายทั้งมือใหม่และมือเก๋าที่ต้องเจอ

ขณะที่คนรุ่นมิลเลนเนียลยังคงมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีนัยยะสำคัญในโลกธุรกิจ องค์กรต่างๆ จึงต้องปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการให้ตรงตามความต้องการและความคาดหวังของคนรุ่นนี้ คนรุ่นมิลเลนเนียลที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2524 ถึง 2539 มีความต้องการ ค่านิยม และรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจแตกต่างอย่างมากจากคนรุ่นก่อนๆ ซึ่งเราจะมาพูดถึงความท้าทายที่ต้องเจอในการทำงานร่วมกับพนักงานหรือแม้กระทั่งผู้นำรุ่นมิลเลนเนียลในปีพ.ศ. 2567 วิธีการที่จะรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตอันใกล้นี้

.

2. ความท้าทายและวิธี “บริหารคนรุ่นมิลเลนเนียล

2.1 Feedback & Recognition

คนรุ่นมิลเลนเนียลให้ความสำคัญกับฟีดแบคและการได้รับความยอมรับอย่างสม่ำเสมอจากหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน รวมถึงสังคมภายนอกทั้งบนโลกออนไลน์และในชีวิตจริง เพื่อทำให้คนกลุ่มนี้ผูกพันกับองค์กรหัวหน้างานควรให้ฟีดแบคและคำแนะนำเรื่องผลงานอย่างต่อเนื่อง ชื่นชมไปกับความสำเร็จ และสร้างวัฒนธรรมแห่งการชื่นชม จากข้อมูลขององค์กรที่ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นจัดอันดับโดยบริษัทที่ปรึกษา Kincentric พบว่า 85% ของพนักงานรู้สึกพึงพอใจ ที่ผู้นำมองเห็นความพยายามและผลงานของพนักงาน โดยสูงกว่าองค์กรทั่วไปที่มีพนักงานเพียง 76% ที่รู้สึกพึงพอใจในเรื่องนี้

คำแนะนำ: ผลักดันให้เกิดกลไกในการให้ฟีดแบคอย่างสม่ำเสมอ มีโปรแกรมยกย่องชมเชยที่เป็นรูปธรรม และการยกย่องชมเชยในหมู่เพื่อนร่วมงาน (Peer-to-peer recognition) เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมของการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและการชื่นชมผู้ที่ทำผลงานได้ดีหรือมีพฤติกรรมที่เหมาะสมตามความคาดหวังขององค์กร

.

2.2 Continuous Learning & Development

การเรียนรู้และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่คนรุ่นมิลเลนเนียลให้ความสำคัญ และถึงแม้ว่าปัจจุบันการเรียนรู้จะทำได้ทุกที่ทุกเวลาบนโลกออนไลน์ เข้าถึงหลักสูตรใหม่ ๆ จากทั้งสถาบันและมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก และถึงแม้ว่าหลายครั้งพนักงานสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ “เวลา” และ “งบประมาณ” ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ฝ่ายบุคคลและหัวหน้างานต้องให้โอกาสในการเพิ่มพูนทักษะ การฝึกอบรม และการเติบโต รวมถึงสนับสนุนการเรียนรู้ตามจุดแข็งและจุดอ่อนโดยคำนึงถึงรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมของพนักงานแต่ละคนอีกด้วย ซึ่งฝ่าย Learning & Development มีแนวโน้มทำงานใกล้ชิดมากขึ้นกับผู้บริหารระดับสูงและผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลในเรื่องนี้

จากข้อมูลของ LinkedIn ทักษะที่จำเป็นในการทำงานเปลี่ยนไปประมาณ 25% ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 และมีการคาดการณ์ว่าภายในปีพ.ศ. 2570 จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และ 89% ของทีม Learning & Development เห็นด้วยว่า การพัฒนาทักษะให้กับพนักงานที่ครอบคลุมทั้งปัจจุบันและอนาคตจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาโลกการทำงานแห่งอนาคต

คำแนะนำ: ออกแบบโปรแกรมการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์สถานการณ์ธุรกิจและโลกการทำงานในปัจจุบัน ส่งเสริมการแบ่งปันความรู้ภายในและภายนอกองค์กร สร้างหรือให้โอกาสพนักงานเข้าร่วมคอมมูนิตี้ (Community-Based Learning) สังคมของคนที่ทำงานในสายเดียวกัน ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีและโอกาสในการทำงานร่วมกันในโครงการต่างๆ และให้คำปรึกษาเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าในงานของพนักงานรุ่นมิลเลนเนียล

.

2.3 Flexible Work Arrangements

ความปรารถนาที่จะสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานและการจัดการงานที่ยืดหยุ่นคือจุดเด่นของพนักงานรุ่นมิลเลนเนียล ผู้จัดการฝ่ายบุคคลต้องปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ และสร้างแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการทำงานระยะไกลและการจัดกำหนดการที่ยืดหยุ่น ในขณะเดียวกันก็รักษาประสิทธิภาพการทำงานและการทำงานร่วมกันเป็นทีม สิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งที่รัฐบาลกำลังโปรโมทให้ภาคธุรกิจหันมาใช้นโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่นกับพนักงานโดยคาดว่าจะครอบคลุม 40% ของพนักงานในปลายปี 2024 เพิ่มขึ้นจาก 27% ในปัจจุบัน

คำแนะนำ: ปรับใช้นโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่นที่เน้นที่ผลลัพธ์มากกว่าชั่วโมงทำงาน และจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการทำงานระยะไกล (Remote Work) หรือการทำงานแบบไฮบริด (Hybrid) อย่างจริงจัง

.

2.4 Digital Transformation

เพราะเติบโตมาในโลกที่เห็นการพัฒนาของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด จึงไม่น่าแปลกใจที่คนรุ่นมิลเลนเนียลจะคาดหวังเห็นองค์กรมีเครื่องมือดิจิทัลที่ทันสมัยและกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ หัวหน้างานและฝ่ายบุคคลจึงต้องนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ รวมถึงแพลตฟอร์มการสื่อสารที่ทันสมัย เครื่องมือการบริหารจัดการงานและโครงการ และระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยลดภาระงานที่ไม่จำเป็นลง จากรายงานของ PwC ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า ซีอีโอ 79% กำลังวางแผนในการลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในอีก 3 ปีข้างหน้าอย่างจริงจัง รวมถึงรัฐบาลของหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซียก็มี Blueprint ในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสู่ยุคดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

คำแนะนำ: เลือกลงทุนในเครื่องมือดิจิทัล ให้การฝึกอบรมความรู้และทักษะใหม่ ๆ และส่งเสริมวัฒนธรรมขององค์กรแห่งนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี

.

2.5 Purpose and Impact

เป็นที่รู้กันดีว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลมักจะตามหาเป้าหมายและหาความหมายในการทำงานอยู่เสมอ เพื่อเติมไฟให้กับตัวเอง ค่านิยมที่คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยึดถือ ประกอบไปด้วยการให้ความสำคัญกับครอบครัว ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ความซื่อสัตย์ต่อกันและกัน การพูดจริงทำจริง มองโลกในแง่ดีและเชื่อในพลังของการเปลี่ยนแปลง รักษ์สิ่งแวดล้อม และความยุติธรรมทางสังคม

ดังนั้น ฝ่ายบุคคลและหัวหน้างานจูงใจพนักงานเหล่านี้ด้วยการมอบหมายงานที่ตรงกับเป้าหมายส่วนบุคคล และทำให้รู้สึกว่างานของคนกลุ่มนี้มีประโยชน์จริง มีผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจหรือสังคม รวมไปถึงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

คำแนะนำ: สื่อสารวิสัยทัศน์และค่านิยมขององค์กร โดยมุ่งเน้นผลกระทบในวงกว้างจากการทำงาน และให้โอกาสในการพัฒนาทักษะและความก้าวหน้าในอาชีพที่ตอบโจทย์ทั้งส่วนบุคคลและด้านการงาน

เหลืออีกเพียงไม่กี่เดือนก็จะหมดปี 2567 แล้ว นี่คงจะเป็นช่วงเวลาที่หลายองค์กรกำลังประเมินผลสิ่งที่ดำเนินการไปในปีนี้เทียบกับกลยุทธ์ที่วางไว้ และวางแผนสำหรับอนาคตในปีต่อไป ความท้าทายและความต้องการของพนักงานกลุ่มใหญ่นี้ เป็นแนวทางในการวางแผนชิ้นดี แต่อย่างไรก็ตาม พนักงานทุกคนและทุกกลุ่มล้วนมีความสำคัญกับองค์กร และไม่สามารถบริหารจัดการโดยใช้วิธีเดียวกันทั้งหมดได้ นี่จึงเป็นแนวทางในการบริหารจัดการสำหรับคนกลุ่มใหญ่กลุ่มใหม่นี้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตระยะยาว

อ้างอิง : khonatwork

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

CEO of the year
อยากสำเร็จ อย่ารอคำว่าพร้อม ถอดบทเรียนจาก Lisa Su ถึงคนทำงาน เจ้าของรางวัล CEO of the year 2024 จากนิตยสาร Times
Lisa Su หรือเจ้าแม่แห่ง AMD ได้มีโอกาสให้สัมภาษณ์ ในรายการ View From The Top with Lisa Su: Chair and CEO of AMD โดย Stanford Graduate School of Business...
The One-Page Financial Plan
วิธีสรุปการเงินของคุณ ไว้ในแผ่นเดียว แค่ทำตามขั้นตอนนี้ จากหนังสือ The One-Page Financial Plan
สำหรับใครที่อยากจัดการ การเงินของตัวเองให้เป็นระเบียบกว่าเดิม วันนี้ CareerVisa อยากมาแนะนำการทำสรุปการเงินไว้ให้ครบ จบในแผ่นเดียว จากหนังสือ The One-Page...
สวัสดิการสำคัญ
เช็กลิสต์ 10 สวัสดิการสำคัญ ถามไว้ก่อนไปสมัครงาน
“สวัสดิการสำคัญ” ไม่แพ้เงินเดือน! หลายคนอาจโฟกัสที่ตัวเลขเงินเดือนเป็นหลัก แต่แท้จริงแล้ว สวัสดิการที่ดีสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้อย่างมาก...