Makoto Marketing: การตลาดใช้ใจขาย ลูกค้าใช้ใจซื้อ

Makoto Marketing
500 ปีที่แล้ว Toraya บริษัทที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้แป้งและถั่วแดงมาทำขนมญี่ปุ่น (วากาชิ) ได้ผลิตขนมส่งถวายพระจักรพรรดิญี่ปุ่น500 ปีต่อมา Toraya ยังคงดำเนินกิจการมาจนถึงทุกวันนี้ ยังเชี่ยวชาญการทำขนมญี่ปุ่นเหมือนเดิม พร้อมยอดขายหลักหมื่นล้านเยนต่อปี

เพราะบริษัทยึด Makoto Marketing เป็นหัวใจในการทำธุรกิจ การตลาดนี้ยังเป็นแก่นของอีกหลายธุรกิจที่เดี๋ยวเราจะได้รู้กัน

Makoto Marketing การตลาดใช้ใจขาย ลูกค้าใช้ใจซื้อ

โดยปกติ การบริหารธุรกิจจากโลกฝั่งตะวันตกในกระแสหลัก จะมุ่งเน้นที่การ “ทำกำไรสูงสุด” 

  • เร่งขยายกิจการให้โตเร็วที่สุด
  • พนักงานคนไหน Performance ไม่ดี หรือทำผิดพลาดก็ไล่ออก หาคนใหม่มาแทน
  • สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องรอง ยอดขายเป็นเรื่องหลัก

แต่ Makoto Marketing ดูจะให้ความสำคัญกับคุณค่าที่อยู่ขั้วตรงข้าม

โดย “Makoto” มาจากภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า “ความจริงแท้ จริงใจ ไม่ปรุงแต่ง”

Makoto Marketing จึงเป็นการตลาดที่ใช้ใจบริสุทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ ซื่อสัตย์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นำเสนอคุณค่าที่เป็นแก่นสาร

ที่สำคัญ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า Makoto Marketing ไม่ได้ “ปฏิเสธ” การตลาดพื้นฐานอย่าง 4P / STP / SWOT และไม่ได้ปฏิเสธระบบทุนนิยม แต่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมเกลียว

ยังคงน้อมรับหลักการดั้งเดิมมาใช้ หากแต่มีแก่นหลักเป็น “ใจ” มีความละเมียดละไมในการคิดวิเคราะห์ ใส่ใจ จริงใจกับลูกค้าเป็นแก่นหลักที่สุด

จากจุดเริ่มต้นแบบเดิม

  • การเติบโตก้าวกระโดด สู่ การเติบโตแบบยั่งยืน
  • บริษัทเราเป็นเจ้าใหญ่ผูกขาด สู่ การโตไปพร้อมกันกับคนอื่นในวงการ
  • หาลูกค้าใหม่เยอะๆ สู่ หาลูกค้าแค่คนเดียว แต่ซื้อซ้ำ 100 ครั้ง
  • รวยเร็ว ไม่แคร์สิ่งแวดล้อม สู่ รวยแบบพอดี สิ่งแวดล้อมยังอยู่
  • ทำแล้วกำไรลด…ไม่ทำ สู่ แม้กำไรลด แต่ถ้าผู้อื่นมีความสุขขึ้น…ก็ทำอยู่ดี

ตัวอย่างธุรกิจที่น่าสนใจ 

BALMUDA นิยามตัวเองเป็น “บริษัทครีเอทีฟเทคโนโลยี” (ไม่ใช่ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) 

เดิมผลิตสินค้าไฮเทคที่สะดวกสบาย แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 บริษัทก็เจ็บตัวพอสมควร ประธานบริษัทจึงกลับมาทบทวนตัวเอง พบว่าลึกๆ แล้วสินค้านั้นมีความฉาบฉวย ไม่ใช่สิ่งของที่ผู้คนต้องการจริงๆ หากผลิตของที่คนต้องการจริงๆ ยอดขายจะไม่พังขนาดนี้

เมื่อคิดได้เช่นนั้น จึงเปลี่ยนไปยึด “ประสบการณ์” ของผู้ใช้งานเป็นที่ตั้ง เกิดเป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จถล่มทลาย ชื่อเสียงดังมาไกลถึงเมืองไทย

  • เช่น เครื่องปิ้งขนมปัง BALMUDA The Toaster ที่มีหลากหลายโหมดให้เลือกสอดคล้องกับหลากหลายโอกาสการกิน เช่น โหมดกรอบนอกนุ่มใน / โหมดครัวซองค์ / โหมดขนมปังฝรั่งเศส
  • พัดลม The Green Fan พัดลมใบพัด 2 ชั้น ที่ให้ลมเย็นสบายแบบธรรมชาติที่สุด และเสียงเบามากเพียงแค่ 13 เดซิเบล เหมาะกับเปิดอ่านหนังสือ
  • โคมไฟตั้งโต๊ะ BALMUDA The Light สร้างจากแนวคิด “แสงที่ปกป้องดวงตาเด็กๆ” พร้อมฟีเจอร์ที่เหมาะกับการนั่งใช้งานของเด็กๆ

เมื่อออกแบบโดยโฟกัสถึงผู้ใช้งานอย่างแท้จริง ปรากฏว่ากลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่ากว่าที่เคยผ่านมาทั้งหมด!! โดยเฉพาะเครื่องปิ้งขนมปังราคาเป็นหมื่นบาท (แพงกว่าท้องตลาด 8 เท่า) แต่กลับมียอดขายทะลุ 100,000 เครื่อง และดังไกลมาถึงเมืองไทยแล้ว!!

.

.

Nakamichi Hiroshi เชฟชาวญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญอาหารฝรั่งเศส เจ้าของร้านอาหารมิชลิน 3 ดาวในซัปโปโร เขาเองเติบโตที่ฮอกไกโด

Image Cr. bit.ly/3hXF5NN

วันหนึ่งเขาถูกทาบทามจากผู้ใหญ่บ้านเมืองชนบทอย่าง Makkari ในฮอกไกโดให้ไปเปิดร้าน เพราะอยากสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดยหมู่บ้านจะใช้เงินกองกลางสร้างให้ ซึ่งก็ชวนตั้งคำถามไม่น้อยถึงโอกาสประสบความสำเร็จ เพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเหลือเกิน (ใครจะขับรถมากินถึงนี่)

แต่แล้วเมื่อเขาได้มาสำรวจก็พบว่า ผักและวัตถุดิบท้องถิ่นมากมายช่างอุดมสมบูรณ์…อันที่จริง ดีกว่าที่ใช้ตามร้านอาหารหรูๆ บางร้านเสียอีก!! เขาประทับใจกับวัตถุดิบและเกิดแรงบันดาลใจอยากที่จะช่วยเหลือเกษตรกรท้องถิ่นไปในตัว

แต่แล้วเสียงผู้คนในหมู่บ้านเริ่มไม่เห็นด้วย เพราะกลัวว่าจะไม่มีลูกค้ามากิน กลายเป็นเงินกองกลางหมู่บ้านจะสูญเปล่า

เมื่อเรื่องนี้ไปถึงหู Hiroshi แทนที่เค้าจะปล่อยวาง กลับไปบริหารร้านเดิม (ที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว) เขากลับตัดสินใจนำเงินเก็บที่จะใช้สร้างบ้านให้คุณแม่ เอาไปลงทุนกับร้านนี้เต็มรูปแบบ

เนื่องจากร้านอาหารฝรั่งเศสเป็นของใหม่สุดๆ ในย่าน สื่อมวลชนจึงมารุมทำข่าว และคุณ Hiroshi ก็ไม่ลืมที่จะโปรโมทผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรท้องถิ่น โดยทานอาหารร้านเค้าเสร็จ ถ้าติดใจก็เดินไปซื้อผลิตภัณฑ์เกษตรกรท้องถิ่นที่สร้างอยู่ข้างๆ ได้เลย

ร้านเค้าอยู่ดี-เกษตรกรอยู่ได้ ลูกหลานบางคนก็ตัดสินใจไม่ย้ายเข้าเมือง แต่สานต่อเกษตรกรรมที่บ้านเพราะมีช่องทาง คุณ Hiroshi ยังได้เปิดโรงเรียนสอนทำอาหารและวิธีเพาะปลูกโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย…ซึ่งทั้งหมด ทำไปเพื่ออยากสร้างประโยชน์แก่ชุมชน ไม่ได้หวังเม็ดเงินแต่อย่างใด

จากเดิมที่เมืองนี้มีประชากรแค่ 2,000 คน พอร้านอาหารมาตั้งและจิตวิญญาณในการสนับสนุนท้องถิ่น ทำให้ต่อมาดึงดูดนักท่องเที่ยวได้กว่า 800,000 คน/ปี

.

.

คุณ Toshio Kawahara เจ้าของร้านไข่ปลา Fukuya (จากเมือง Fukuoka) ใช้เวลาถึง 8 ปี ในการคิดค้นไข่ปลาที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “เมนไทโกะ”

ช่วงทศวรรษ 1960s เมนไทโกะของร้านเขาเริ่มเป็นที่นิยม เริ่มมีหลายร้านอื่นๆ มาขอซื้อไปขายต่อ แต่แทนที่จะขาย…เขากลับเลือกที่จะ “สอน” ให้เจ้าอื่นทำเป็นโดยไม่จดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด แต่มีข้อแม้หนึ่งคือขอให้คำมั่นสัญญาว่า “ต้องไม่ทำรสชาติให้เหมือนกัน” เด็ดขาด

เหตุผลที่เลือกเส้นทางนี้ เพราะหวังให้เมนไทโกะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ลูกค้าหาซื้อง่าย จนกลายเป็นสินค้าชื่อดังประจำจังหวัด (ซึ่งปัจจุบันก็เป็นจริงแล้ว)

ความหวังของเขาเป็นจริงเลยทีเดียว เพราะสุดท้ายแต่ละร้านก็พัฒนาสูตรเมนไทโกะที่แตกต่างกันเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าหลักของตัวเอง ยิ่งปี 1975 ชินคันเซ็นมาถึงฟุคุโอกะ เมนไทโกะยิ่งเป็นที่แพร่หลายต่อคนภูมิภาคอื่นมากขึ้น

Toshio Kawahara ไม่ได้หวัง “ผูกขาด” สินค้านี้ หรือใช้ประวัติศาสตร์อันยาวนาน และการเป็นเจ้าแรกผู้คิดค้นมาเป็นความได้เปรียบ 

แต่เขาเป็นคนใจกว้าง เลือกที่จะสร้าง “พันธมิตร” ไม่ได้มองเป็นคู่แข่งที่มาแย่งเค้กส่วนแบ่งการตลาด…หากแต่มาร่วมช่วยกันทำให้ตลาดโตขึ้นในแบบที่ถ้าทำคนเดียวคงไม่สำเร็จแน่ๆ และสุดท้าย “ลูกค้า” ก็ได้รับสินค้าที่ดีที่สุด (แถมหลากหลาย) ด้วยนั่นเอง

ปัจจุบัน ตลาดเมนไทโกะเฉพาะในฟุคุโอกะ มีมูลค่าถึง 300,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

Makoto Marketing เหมาะกับใคร?

จากตัวอย่างที่กล่าวมา เราจะเห็นว่าสามารถปรับใช้ได้กับหลากหลายประเภทและขนาดของธุรกิจ 

“ไม่ใช่แค่บริษัทเล็ก…บริษัทใหญ่ก็ทำได้เช่นกัน”

เพราะแก่นของมันคือ การตั้งอยู่เพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้า / การปฏิบัติต่อพนักงานและคู่ค้าอย่างเป็นธรรม / การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากกว่าตัวเลขกำไร / แคร์สังคมรอบตัวมากกว่าแค่ตัวองค์กร

แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง มันอาจเป็นทางเลือกกลยุทธ์เดียวที่เหลือ กรณีที่คุณเป็น “ปลาเล็ก” ท่ามกลางปลาใหญ่ในอุตสาหกรรมที่สู้ด้วยวิธีเดิมๆ ไม่ได้แล้ว 

เช่น สู้ด้วยการขยายสาขาเร็วๆ ไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีเงินทุน ก็อาจใช้ Makoto Marketing มาสร้างจุดแข็งให้ตัวเอง

นอกจากนี้ Makoto Marketing ไม่ได้ใช้เงินทุนมากมาย จึงเหมาะกับบริษัทรายเล็กเกิดใหม่ที่ยังไม่มีเงินทุนหนา เป็นวิธีสร้างรากฐานที่ยั่งยืนแก่บริษัท การเติบโตอาจไม่หวือหวานักแต่ชนะใจลูกค้าขาประจำ

ปรับใช้กับองค์กรคุณได้อย่างไร?

อย่างแรกเลยต้องเริ่มจากข้างใน วางวิธีคิดการตลาดแบบดั้งเดิมลงก่อน แล้วเปิด “ใจ” น้อมรับแนวคิด Makoto Marketing ไม่ใช่แค่กับผู้นำองค์กร แต่พนักงานทุกระดับต้องเข้าใจเรื่องนี้ด้วย

แก่นอย่างหนึ่งที่ต้องมีควบคู่กันไปคือ Empathy เอาใจเขามาใส่ใจเรากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย (Stakeholders) 

ลองตั้งคำถามเหล่านี้…

  • เหตุผลการมีอยู่ของบริษัทคืออะไร? 
  • สินค้า-บริการเราแก้ปัญหาอะไรให้ลูกค้า?
  • จะทำสินค้าอย่างไรให้ ลูกค้า 1 คนซื้อ 100 ครั้ง แทนที่ลูกค้า 100 คนซื้อแค่ 1 ครั้ง
  • ทำอย่างไรให้บริษัทคุณ…รวมถึงคนอื่น เติบโตไปด้วยกันได้
  • นอกจากลูกค้าแล้ว ทำอย่างไรให้พนักงานบริษัทมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้นได้
  • นอกจากกำไร…ทำอย่างไรให้บริษัทเป็นที่รักของทุกคน

แม้โลกธุรกิจจะหมุนไปเร็วแค่ไหน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน หรือเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปท์ 

แต่องค์กรที่มี Makoto Marketing เป็นหัวใจจะยังคงยืนหยัดอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งหลายบริษัทญี่ปุ่นได้พิสูจน์มาแล้วผ่านกาลเวลานับร้อยๆ ปี

Makoto Marketing การตลาดที่มาจากใจ ยั่งยืน และทำให้ทุกคนมีความสุข…

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ จะได้ทำงานอย่างมีความสุขในทุกๆ วัน…และคุณอาจค้นพบว่าตัวเองเหมาะกับองค์กรที่มี Makoto Marketing เป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจ!! >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

openai
ข่าวดี! OpenAI Academy เปิดให้เรียนรู้ AI ฟรีแล้ววันนี้!
CareerVisa ขอแนะนำแพลตฟอร์มใหม่จาก OpenAI ที่เปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจทั่วไปก็สามารถเรียนรู้และใช้งาน AI ได้อย่างมั่นใจ...
discipline
ฝึกตัวเองให้มีวินัยขั้นสุดยอด อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้ด้วยสิ่งนี้ โดย Andrew Huberman
สำหรับใครที่รู้สึกว่าควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ ไม่มีวินัยเอาซะเลย วันนี้ CareerVisa จะมาเล่าให้ฟังแบบบ้านๆ เรื่องอยากมีวินัย (discipline) ให้ฟังว่าทำยังไงถึงจะฝึกวินัยได้แบบเป็นวิทยาศาสตร์...
Kelly McGonigal
"เครียดยังไงให้กลายเป็นพลังบวก" สรุปแนวคิดจาก Kelly McGonigal นักจิตวิทยาด้านสุขภาพและผู้เขียนหนังสือ "The Upside of Stress"
วิธีคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนมุมมองต่อความเครียดเพื่อใช้มันเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเอง 1. มองความเครียดเป็นพลัง ความเครียดไม่ใช่สิ่งที่ต้องกลัว การเชื่อว่าความเครียดช่วยเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมรับมือความท้าทาย...