5 เรื่องไม่รู้ไม่ได้ถ้าทำงานใน “บริษัทญี่ปุ่น” !

บริษัทญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นยังคงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย คนไทยยังต้องติดต่อทำงานกับคนญี่ปุ่นอีกเยอะ การเรียนรู้วัฒนธรรมที่ค่อนข้าง “ซ่อนเร้น” เหล่านี้จะสร้างความเข้าอกเข้าใจและประทับใจแก่ทั้งสองฝ่าย…โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราเองทำงานในบริษัทญี่ปุ่น!
  • ปี 2019 FDI จากญี่ปุ่น สูงสุดในไทยเป็นอันดับ 2 ที่ 79,265 ล้านบาท
  • ปี 2019 มูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่นอยู่ที่ 694,000 ล้านบาท
  • ปี 2019 มูลค่าการนำเข้าจากญี่ปุ่นอยู่ที่ 909,000 ล้านบาท

แม้ว่าสำหรับคนญี่ปุ่นเองแล้ว ทั้ง 5 ข้อนี้ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็น “มาตรฐาน” ในการดำเนินธุรกิจ…แต่สำหรับคนต่างชาติ การเข้าใจอย่างลึกซึ้งและปฏิบัติได้ถูกต้อง จะทำให้เราโดดเด่นพิเศษกว่าคนอื่นทันที!

1. อ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไว้

    ญี่ปุ่นเป็น “สังคมอาวุโส” ที่หยั่งรากลึก มีระดับชั้นสถานะชัดเจนกว่าเมืองไทยเสียอีก (ลามไปถึง “ภาษา” ที่ใช้พูดต่างกันสิ้นเชิง เมื่อคุยกับคนต่างวัย-ต่างสถานะ) การทำงานก็เช่นกัน ถ้าอ่อนน้อมถ่อมตนจนเป็นกิจวัตรก็มีแนวโน้มจะได้รับการ “เอ็นดู” เป็นพิเศษ 

    • เวลา “ยื่น” ของอะไรก็ตาม เช่น นามบัตร ให้ยื่นโดยจับ “2 มือ” เสมอ
    • ญี่ปุ่นให้เกียรติกันด้วยการ “โค้ง” ทำอะไรหัวอ่อนไว้ก่อน
    • การเดินข้ามผ่านหัวขณะผู้ใหญ่นั่งอยู่ ให้โค้งหัวลงผ่านทาง
    • เวลาพูดคุย (โดยเฉพาะกับลูกค้า) ให้ลากหางเสียงยาวขึ้นเล็กน้อย จะดู Soft ขึ้น
    • หรือเมื่อกำลังแยกทางกับลูกค้า ก็ให้ “ยืนรอส่งจนลูกค้าเดินลับสายตา” (เรื่องปกติมากที่ญี่ปุ่น)

    อันที่จริง ไม่ได้ใช้กับแค่ผู้อาวุโสอย่างเดียว แต่คนญี่ปุ่นดูความอ่อนน้อมถ่อมตนในรายละเอียดเรื่องอื่นด้วย เช่น สังเกตไหม เราอาจเห็นคนญี่ปุ่น “โค้งขอบคุณไปขณะคุยโทรศัพท์ไป” เพราะเชื่อว่าอิริยาบถของเราถ่ายทอดสู่น้ำเสียงการพูดคุยได้ แถมภาพลักษณ์ยังดูดีในสายตาคนรอบข้าง หรือ เวลาทีมเซลส์ทำยอดขายได้ดี ก็ควรแสดงความดีใจอย่าง “ถ่อมตน” ไม่ออกนอกหน้าจนเกินไป 

    ขอให้จำไว้…อ่อนน้อมถ่อมตน ดูกาลเทศะ ให้เกียรติผู้หลักผู้ใหญ่ นี่คือ “พื้นฐาน” อันดีในการทำงานกับคนญี่ปุ่น

    2. โนมิไค: ดื่มสังสรรค์หลังเลิกงาน 

      • วัฒนธรรมหลังเลิกงานชาวเยอรมันคือกลับบ้านอยู่กับครอบครัว
      • วัฒนธรรมหลังเลิกงานชาวญี่ปุ่นคือ…ไปดื่มต่อ!

      นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะครับ วัฒนธรรมนี้ถึงกับมีคำศัพท์เลยเรียกว่า “โนมิไค”【飲み会】หรือไปกินดื่มกันต่อหลังเลิกงาน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะวันศุกร์เท่านั้น แต่วันธรรมดาอื่นๆ ก็อาจมีบ้าง อย่างน้อย 1-2 วัน/สัปดาห์ ถึงขนาดมี “Pattern” ในการไปดื่มเลย เช่น มาถึงโต๊ะแล้วสั่งเฉพาะเครื่องดื่มทันที 🡺 สั่งเสร็จระหว่างที่พนักงานเดินกลับไปเตรียม 🡺 เราจะเลือกเมนู 🡺 เมื่อพนักงานกลับมาใหม่ก็สั่งอาหารได้ทันที

      ที่ญี่ปุ่นยังมี “เบียร์ไร้แอลกอฮอล์” ออกมามากมาย เพื่อคนรักสุขภาพและแก้ Pain Point ของคนที่ต้องไปโนมิไคแต่ไม่อยากดื่มแอลกอฮอล์ (เช่น ต้องขับรถ) การโนมิไคใหญ่ๆ ตอนสิ้นเดือน บริษัทจ่ายให้อยู่แล้ว แต่ถ้ากินนอกรอบหัวหน้าชวนไปก็อาจเป็นคนเลี้ยงเอง หรือไม่ก็ช่วยออกเป็นส่วนใหญ่  “งบสังสรรค์” ถือว่าสูงไม่น้อย ส่วนหนึ่งเพราะมันกระชับความสัมพันธ์คนในทีม เป็น Team Building อย่างหนึ่ง และสามารถปิดดีลสำคัญกับลูกค้าได้ด้วยนั่นเอง

      วัฒนธรรมนี้แข็งแกร่งมาก แม้แต่ช่วงล็อคดาวน์โควิดเมื่อปี 2020 บริษัทในญี่ปุ่นก็ให้พนักงาน Work From Home ช่วงนั้นหลังเลิกงานยังมีโนมิไคแบบ Virtual ผ่าน ZOOM หรือแพลตฟอร์มประชุมทางไกลต่างๆ เลยทีเดียว

      3. ความเป็น “ทางการ” ในทุกเรื่อง 

        คนญี่ปุ่นชื่นชอบ “ความเป็นทางการ” ครับ จะทำอะไรขอแบบทางการไว้ก่อนยิ่งดี โดยเฉพาะถ้าใช้ “ภาษาญี่ปุ่น” จะมีรูปประโยคและไวยากรณ์พิเศษที่ต้องใช้เพื่อความเป็นทางการในการทำงานเท่านั้นเลยทีเดียว แม้แต่การขึ้นลิฟต์ก็มีระเบียบแบบแผน หลักการคือ ลูกค้า 🡺 ผู้อาวุโสกว่า 🡺 เรา

        • แม้จะมาถึงก่อน ยืนอยู่ใกล้ลิฟต์กว่า แต่เราไม่ควรเข้าลิฟต์ก่อน ให้กดปุ่มลิฟต์ค้างไว้หรือยื่นแขนบังลิฟต์ไปเลย พร้อมทำสัญลักษณ์โบกมือเชิญอีกฝ่ายให้เข้าก่อน 
        • จากนั้น ให้ยืนอยู่หน้าแผงควบคุมลิฟต์ ถามคนอื่นก่อนว่าจะขึ้นชั้นไหนและให้เรากดชั้นตัวเองเป็นลำดับสุดท้าย 
        • ถ้ามีคนใหม่เข้ามาในลิฟต์ ก็ควรมีน้ำใจถามว่าไปชั้นไหนและกดให้ 
        • ตอนยืนพยายามยืน ‘เฉียงๆ’ ไม่หันหลังปิดทึบให้คนข้างหลัง 
        • ตอนออกให้เราออกเป็นคนสุดท้าย

        นอกจากนี้ ต้องมี Common Sense บางอย่างด้วย เช่น ไม่ยืนรอบังหน้าลิฟต์ / ไม่คุยกันเสียงดังในลิฟต์ หรือแม้แต่การขึ้น Taxi (และรถนั่งที่มีพลขับ) หลักการเดิมยังคงอยู่ นั่นคือ ลูกค้า 🡺 ผู้อาวุโสกว่า 🡺 เรา

        • ตำแหน่งที่นั่งข้างคนขับ คือ ตัวเราเอง มีหน้าที่บอกทาง จด-ถ่ายทะเบียนรถ จ่ายเงิน ดูความเรียบร้อยไม่ลืมของก่อนลง
        • ที่นั่งหลังคนขับ คือ ตำแหน่งสูงขึ้นมา
        • ที่นั่งหลังด้านซ้าย คือ ลูกค้า-บุคคลอาวุโสสูงสุด
        • กรณีถ้ามา 2 คน(ไม่รวมคนขับรถ) ให้ตัวเราย้ายมานั่งหลังคนขับ ปรับเบาะหน้าให้เลื่อนขึ้น ลูกค้า-บุคคลอาวุโสสูงสุดจะได้มีพื้นที่เพิ่ม

        ความทางการยังครอบคลุมในอีกหลายเรื่องมากๆ

        • การใส่สูท ที่แขนเสื้อเชิ้ตต้องยื่นออกนอกเสื้อสูท 1.5 ซม.
        • เวลาจะกลับบ้านก็ต้องพูด “ขอบคุณสำหรับความเหน็ดเหนื่อยในวันนี้นะครับ/คะ”

        แม้ว่าคนญี่ปุ่นใน”บริษัทญี่ปุ่น”ที่ประจำอยู่เมืองไทย อาจถูกสอนให้ลด-ละ-เลิกเรื่องยิบย่อยพวกนี้ไปบ้างแล้ว (ปรับตัวกับวัฒนธรรม) แต่ถ้าคุณรู้เรื่องพวกนี้และทำได้ดี อาจ “โดดเด่น” แตกต่างขึ้นมาในสายตาคนญี่ปุ่น

        4. กินข้าวเที่ยงคนเดียว 

          ข้อนี้คนไทยทำใจยากและอาจเข้าใจผิดบ่อยๆ เมื่อกี้ยังทำงานคุยกันอยู่ดีๆ ทำไมพักเที่ยงแว่บไปกินคนเดียว เอ…นี่เราทำอะไรให้เค้าไม่พอใจรึเปล่าน้า? แต่คนญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องปกติมากๆ เพราะมันค่อนข้าง “รวดเร็ว” กว่าไปกินหลายคนเป็นหมู่คณะมาก กว่าจะรอว่างพักไปพร้อมกัน-กว่าจะรอที่นั่ง-กว่าจะรอสั่ง-กว่าจะกลับพร้อมกัน ทุกขั้นตอนล้วนใช้เวลา

          และที่ญี่ปุ่นคลั่งไคล้งาน ถูกคาดหวังให้ทุ่มเทกับงาน แม้คุณมีเวลาพักเต็ม 1 ชม. แต่ถ้า 40 นาทีกินเสร็จแล้วก็ควรกลับมาทำต่อ หรือถ้ามีงานค้างต้องสะสาง เผลอๆ ถูกคาดหวังให้ใช้เวลากินมื้อเที่ยงเพียง 20-30 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ หลายร้านที่ญี่ปุ่นก็ออกแบบมารองรับการกินคนเดียวได้สะดวกสบาย (นึกภาพ Yoshinoya) เหล่านี้กลายเป็นความเคยชินสำหรับคนญี่ปุ่นไปแล้ว สำหรับการกินสังสรรค์นั้นคนญี่ปุ่นจะทุ่มเทกับ “โนมิไค” ในข้อ 2 แยกไปเลยต่างหาก เลิกงานแล้วไปเต็มที่ยาวๆ ถึงเที่ยงคืน!

          5. แต่สปิริตทำงานเป็นทีมสูง

            เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมมีความซับซ้อนเล็กน้อย เที่ยงแยกย้ายกินของใครของมัน แต่เมื่อกลับมาทำงานจะรวมทีมกันง่ายมาก ให้ความร่วมมือสูง กิน(มื้อเที่ยง)คนเดียว แต่ สปิริตทำงานเป็นทีมสูง

            สปิริตทำงานเป็นทีมชัดเจนมากผ่านการสื่อสารคุยงานที่เรียกว่า Ho-Ren-So  

            • รายงานความคืบหน้าให้ทีมทราบ (Ho)
            • แจ้งสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปให้ทราบ (Ren)
            • ปรึกษาหารือกันเป็นทีม แชร์ปัญหาร่วมกัน (So)

            ทุกขั้นตอนจะมีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเป็นเรื่องปกติ

            ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีจริต “คนนอก x คนใน” ในบริบทการทำงาน “คนใน” จะหมายถึงเพื่อนร่วมทีมทั้งหมดนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีอิทธิพลชุดความเก่าที่หยั่งรากลึกที่ว่า  เมื่อเข้าองค์กรไปแล้ว องค์กรจะดูแลคุณอย่างดี (สวัสดิการค่าเดินทาง การศึกษาบุตร) และคุณก็ควรทุ่มเทให้องค์กร-ให้กับเพื่อนร่วมงานเต็มที่เช่นกัน

            .

            .

            แม้จะไม่ได้ประยุกต์ใช้ทั้งหมด แต่เชื่อเลยว่ามันจะทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานกับคนญี่ปุ่นมากขึ้น นำไปสู่ความสัมพันธ์อันดี และความสำเร็จร่วมกัน

            ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ ใครจะไปรู้…คุณอาจเหมาะกับวัฒนธรรมการทำงานแบบ บริษัทญี่ปุ่น ก็ได้!! >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

            อ้างอิง

            Author

            • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

            Related   Articles

            generation
            จะทำอย่างไร? หากต้อง "ทำงานกับคนต่าง Generation" ที่คิดไม่เหมือนกัน
            Generation กับความคิดที่ไม่เหมือนกัน เป็นอย่างไร?ความท้าทายของการทำงานร่วมกับคนที่ต่างอายุ ต่างช่วงวัย หลายครั้งไม่ใช่ความสามารถในการทำงานหรือประสบการณ์ที่มากกว่ากัน...
            Bystander Effect
            Bystander Effect : สาเหตุที่พนักงานมีความลับแล้วไม่บอกบริษัท
            ที่มาของ “ไทยมุง” มัวแต่ยืนดู…แต่ไม่มีใครช่วยสาเหตุที่บริษัทเปลี่ยนแปลงยาก แม้ทุกคนจะรู้หน้าที่พนักงานทุกคนรู้ปัญหาดี แต่ทำไมไม่มีใครพูดเปิดประเด็น?เหตุการณ์น่าเป็นห่วงเหล่านี้มีสาเหตุทางจิตวิทยาเหมือนกันที่เรียกว่า...
            Scout Mindset
            Scout Mindset : เข้าใจปัญหาด้วยการเฝ้ามองอยู่เงียบ ๆ ห่าง ๆ
            เคยสงสัยไหม? ทำไมผู้บริหารบางคนถึงมองปัญหาได้ทะลุปรุโปร่ง “อ่านเกมขาด” ทั้งๆ ที่ดูก็ไม่ได้มีความสามารถเลิศเลอเหนือไปกว่าใคร? แม้ผู้บริหารท่านนั้นไม่ได้มีทักษะพิเศษ...