“Ikigai” (อิคิไก) ในการทำงาน & การใช้ชีวิต

Ikigai
เราจะเห็นว่า แต่ละคน-แต่ละธุรกิจมีความแตกต่างกัน แต่ดังที่ทุกคนจะได้รู้จากบทความนี้ เรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน…สิ่งนั้นคือ “อิคิไก”

Ikigai (อิคิไก) คืออะไร ?

หากแปลตรงตัว “อิคิไก”【生き甲斐】คือ “ความหมายในการมีชีวิตอยู่” เราอาจตีความด้วยภาษาที่เรียบง่ายขึ้นก็ได้ว่า “เหตุผลที่ทำให้เราอยากตื่นนอนในทุกๆ วัน” / “เคล็ดลับที่ทำให้ไม่เกลียดวันจันทร์” / “เทคนิคที่ทำให้มีความสุขในทุกวันจนไม่อยากนอน”

ไม่ว่าจะแบบไหน อิคิไกล้วนจุดประกายให้คนเรามี “เป้าหมายในชีวิตถึงแก่นแท้” เพราะไม่มีอะไรที่จะกระตุ้น-สร้างแรงบันดาลใจ-เปลี่ยนแปลงคนเราได้มากไปกว่าการที่เค้ามีเป้าหมายในชีวิตอีกแล้ว

**ก่อนลงรายละเอียด ขอให้เข้าใจก่อนว่า อิคิไกเป็นปรัชญาที่ตกผลึกมาจากคนญี่ปุ่นก็จริง แต่นั่นไม่ได้จำกัดเฉพาะคุณค่าความเป็นญี่ปุ่นเท่านั้น หากแต่เป็นปรัชญาที่ใช้ได้กับมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ (Universal Value) คนอังกฤษ-คนอินเดีย-คนไทยก็มีอิคิไกได้เช่นกันแม้จะไม่มีความรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่นเลย

เราจะค้นหาอิคิไกได้จากไหน ?

คุณ Ken Mogi ชาวญี่ปุ่นผู้เขียนหนังสือ The Little Book of Ikigai ซึ่งทำให้คำๆ นี้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกในวงกว้าง บอกว่าอิคิไกมักประกอบด้วย “5 เสาหลัก” ด้วยกันเพื่อความสมดุล

  • เสาหลักที่ 1: เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ
  • เสาหลักที่ 2: ปลดปล่อยตัวเอง
  • เสาหลักที่ 3: สอดคล้องและยั่งยืน
  • เสาหลักที่ 4: มึความสุขกับสิ่งเล็กๆ
  • เสาหลักที่ 5: อยู่กับปัจจุบันขณะ

ทั้ง 5 เสาหลักไม่ได้เรียงตามลำดับขั้น เราอาจสัมผัสเสาหลักที่ 5 ก่อนไล่ไปเสาหลักที่ 1 ก็ได้ และทั้ง 5 เสาหลักไม่ได้ ‘แยกขาด’ จากกัน แต่กลับ ‘เชื่อมโยง’ กันชนิดที่อาจขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไปไม่ได้ ใครเคยไปเที่ยวญี่ปุ่น จะเห็นร้านราเมงเล็กๆ เต็มไปหมดทั่วประเทศที่เจ้าของลงมาทำเองกับมือ ร้านเหล่านี้คือตัวอย่างของการ “เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ” เริ่มเล็ก-แต่ฝันใหญ่ พวกเขาไม่ได้หวังรวยเร็ว แต่ตั้งใจสร้างอาหารคุณภาพดี เจ้าของหลายคนตื่นแต่เช้ามืดใช้เวลาคั่วน้ำซุปนานนับ 10 ชม. เพื่อเสิร์ฟรสชาติที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า

คุณ Hiroki Fujita คือพ่อค้าปลาทูน่าที่อยู่ในวงการมาหลายทศวรรษ เป็นคนหนึ่งที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ เคล็ดลับคือ “ตื่นตี 2” ทุกวัน เพื่อมาคัดเลือกปลาที่ดีที่สุด มาวันนี้เขาคือเซียนของวงการนี้ไปแล้ว คุณปู่ Jiro Ono ในวัย 96 ปี ก็เริ่มจากจุดเล็กๆ ด้วยการเปิดร้านซูชิบ้านๆ เพราะมีต้นทุนถูกกว่าร้านประเภทอื่น (สมัยก่อนซูชิเป็นของไม่แพง) เขาฝึกปรือฝีมือทุกวัน ใส่ใจในทุกรายละเอียด จนวันนี้ครองตำแหน่งเชฟมิชลิน 3 ดาวติดกันหลายสมัยไปแล้ว 

การไม่ประนีประนอมต่อคุณภาพแม้จะเป็นรายเล็กที่มีเงินทุนจำกัดสามารถพบเห็นได้ในอีกหลายวงการทั่วญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวจึงได้สัมผัสสินค้าบริการคุณภาพดี วัสดุชั้นเยี่ยม ในราคาปกติธรรมดา เรามาสู่เสาหลักการ “ปลดปล่อยตัวเอง” ไม่ผูกติดตัวเองกับอาชีพ การศึกษา ผลงาน รายได้ เพราะมันเหมือนเป็นการ “ตีกรอบ” ให้ตัวเองโดยไม่รู้ตัว ให้ละทิ้งอีโก้ซะ ไม่โทษตัวเองจากความผิดพลาดในอดีต ปลดปล่อยตัวเองจากอนาคตเพราะคาดเดาไม่ได้ ปลดพันธนาการที่ตีตราว่าคุณต้องเป็นคนแบบนั้น-แบบนี้

คุณ Ken Mogi บอกว่าการจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ เราต้องปลดปล่อยพันธนาการตัวเองเสียก่อน เมื่อนั้นเราจะพบกับจักรวาลความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัด มนุษย์เปรียบเสมือนต้นไม้ที่อยู่ในป่าใหญ่ ต้นไม้ทุกต้นล้วนมีผลต่อระบบนิเวศน์ของมันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การกระทำของเราจึงต้อง “สอดคล้องและยั่งยืน” ต่อสังคมรอบตัวด้วย

ที่ญี่ปุ่นจะมีโปรแกรมบริหารร่างกายสั้นๆ ทางวิทยุที่ได้รับความนิยมมาหลายทศวรรษเรียกว่า “เรดิโอ ไทโซ” ซึ่งเปิดกันทั่วไปตอนเช้าในออฟฟิศ / โรงงาน / โรงเรียน / สวนสาธารณะ ฯลฯ เป็นวัฒนธรรมร่วมที่แข็งแกร่งอย่างหนึ่งของสังคม “มีความสุขกับสิ่งเล็กๆ” เป็นอีกเสาหลักที่เรียบง่ายมากในการออกเดินทางหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ นี่คืออิคิไกในชีวิตประจำวัน คุณบอย วิสูตร นักเขียนชื่อดังของเมืองไทยเสริมว่า ควรฝึกตัวเองให้มีความสุขกับเรื่องในชีวิตประจำวัน…มากกว่าเรื่องพิเศษในบางโอกาส เพราะเราใช้ชีวิตอยู่กับความ “ประจำวัน” มากกว่าความพิเศษ มันอาจจะเป็น…

  • ตื่นมาเดินออกกำลังกายเช้าตรู่เงียบๆ ในหมู่บ้าน
  • นั่งจิบกาแฟหอมๆ ยามเช้าพลางมองสวนนอกบ้าน 
  • ดอกไม้ริมทางที่ออกใบสวยสดงดงาม
  • รอคอยที่จะได้กินข้าวกะเพราหมูสับเจ้าเด็ดแถวออฟฟิศ ร้านบ้านๆ ราคาถูก แต่รสชาติอร่อยเหาะ
  • เอนจอยกับการชมวิวตึกระฟ้าของกรุงเทพมหานครระหว่างนั่ง BTS ไปทำงาน
  • เขียนบทความประจำวันลง FB Page เล็กๆ ของตัวเองโดยไม่สนยอดไลค์

สุดท้ายแล้วคือการ “อยู่กับปัจจุบันขณะ” จะว่าไปแล้วปัจจุบันคือสิ่งเดียวที่เรามี (ไม่ใช่อดีต-อนาคต) นี่คือเคล็ดลับที่นำเราไปสู่ Flow State ภาวะที่จิตเราจดจ่ออยู่กับการกระทำตรงหน้า มีสมาธิเต็มเปี่ยม อยู่กับโลกทำงานตรงหน้าจนลืมเวลารอบตัว คนสำเร็จที่สร้างสรรค์นวัตกรรมเปลี่ยนโลกล้วนเคยเข้าสู่ Flow State ทั้งนั้นเวลาสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้นอยู่

Hayao Miyazaki ผู้สร้างอะนิเมะในตำนานของญี่ปุ่น (เจ้าของผลงาน: Spirited Away และ My Neighbor Totoro) เคยกล่าวว่า “รางวัลในการทำงานของผม ไม่ใช่เงินทองหรือถ้วยรางวัล…แต่คือการได้ทำงานในตัวมันเองต่างหาก” เขาอยู่กับปัจจุบันขณะทุกครั้งที่ออกแบบอะนิเมะ เราอาจพูดได้ว่าเขาประสบความสำเร็จทุกๆ วันเมื่อได้ทำงาน

Ikigai (อิคิไก) ในธุรกิจ

อิคิไกของคุณปู่ Jiro Ono ในวัย 96 ปีคือการได้ทำซูชิในทุกๆ วัน “ถ้าเลือกได้ เมื่อเวลานั้นมาถึง ผมขอตายระหว่างการทำซูชิดีกว่า” เขาเคยกล่าวไว้อย่างหนักแน่น อย่างไรก็ตาม อิคิไกไม่ได้จำกัดแค่เรื่องยิ่งใหญ่ แต่รวมถึงความสวยงามของเรื่องเล็กๆ อย่างการเสิร์ฟซูชิให้แก่ลูกค้าเจ้าประจำในร้านซูชิเล็กๆ แถวบ้านก็เป็นอิคิไกชั้นเลิศได้เช่นกัน

แม้แต่การเช็ดถูทำความสะอาดก็เป็นอิคิไกได้ ดังที่พนักงานบริษัท TESSEI พิสูจน์มาแล้วถึงการทำความสะอาดภายในรถไฟชินคันเซ็นด้วยเวลาเพียง 7 นาทีที่สื่อต่างชาติมักขนานนามว่า “The 7-Minute Miracle” พนักงานเผยว่าการทำความสะอาดเป็นอิคิไกอย่างหนึ่ง รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ดูแลความสะอาดให้กับชินคันเซ็นซึ่งพาผู้โดยสารไปทั่วญี่ปุ่น นี่เป็นอาชีพที่มีความสุขและอยากทำให้ดียิ่งๆ ขึ้น

Comiket เป็นงานการ์ตูนที่ใหญ่ที่สุดในโลกจัดขึ้นที่โตเกียว มีผู้เข้าร่วมงานเฉลี่ยกว่า 700,000 คน มีสีสันหนึ่งที่อยู่คู่กับงานทุกปีนั่นคือการ “แต่งคอสเพลย์” ที่เสื้อผ้าหน้าผมจัดเต็มระดับโลก ประเมินว่ามีคนแต่งคอสเพลย์มากถึง 27,000 คนที่มาร่วมสร้างสีสัน อย่างไรก็ตาม หลายคนไม่ได้ค่าจ้างใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการทำสิ่งที่ใจรัก ชาวคอสเพลย์หลายคน ชีวิตประจำวันก็เป็นพนักงานออฟฟิศ-เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่แค่หลงใหลในงานอดิเรกนี้ แม้แต่งคอสเพลย์แล้วไม่ได้เงิน ก็ยังคงทำต่อไปเพราะเป็นความสุขในตัวมันเอง

Tim Cook ทำงานวันละ 12-14 ชม. ชีวิตของเขาอุทิศให้กับการทำงานที่ Apple เลยก็ว่าได้ เขาบอกว่า “ผมชอบอยู่ท่ามกลางคนเก่งที่เชื่อว่าพวกเค้าสามารถเปลี่ยนโลกได้ และนั่นทำให้ผมอยากตื่นตี 4 ทุกวันเพื่อมาทำงานกับพวกเค้า” ถ้าคุณยังหา อิคิไก ของตัวเองไม่เจอ…ไม่เป็นไร ให้ “แบบประเมินอาชีพ”  จาก CareerVisa ช่วยคุณสิ เพราะเราประเมินจาก 5 ด้านของชีวิตคุณ แถมได้ผลประเมินอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเองเบื้องต้นฟรี! อีกด้วย

เหล่า “ธุรกิจครอบครัว” ในนิยามของคนญี่ปุ่น จะมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น และผู้สืบทอดทุกคนล้วนถูกปลูกฝัง ‘อิคิไก’ เป็นแก่นหลัก

  • ตระกูล Akuto จากจิจิบุ ทำสาเกมาตั้งแต่ปี 1625
  • ตระกูล Sen จากเกียวโต เชี่ยวชาญงานด้านพิธีชงชามาตั้งแต่ปี 1591
  • ตระกูล Ikenoba จากเกียวโต เชี่ยวชาญด้านการจัดดอกไม้ (อิเคบานะ) มาตั้งแต่ปี 1462
  • Kongo Kumi เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูบูรณะซ่อมแซมวัดมาตั้งแต่ปี 578 หรือกว่า 1,400 ปีมาแล้ว ถือว่าเป็นบริษัทที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังดำเนินการอยู่

Ikigai (อิคิไก) ในชีวิต

มาถึงตรงนี้เราสังเกตได้ว่า อิคิไกเป็นเรื่อง “ภายในมากกว่าภายนอก” กล่าวคือ สังคมรอบข้างอาจไม่เห็นความสำคัญต่อสิ่งที่คุณทำ นั่นก็ไม่เป็นไร ตราบใดที่มันเป็นอิคิไกและมอบความสุขให้คุณได้ เพราะอิคิไกเป็นเรื่องปัจเจก เราย่อมมีต่างกันอยู่แล้ว

อิคิไกไม่ได้หมายความว่าเราจะประสบความสำเร็จร่ำรวยเป็นเศรษฐีเสมอไป (แต่การมีอิคิไกมักนำพาให้เราไปสู่จุดนั้นเองต่างหาก) แต่ที่แน่ๆ อิคิไกจะทำให้คุณรู้สึกอิ่มสุขมากขึ้น ถึงจุดหนึ่งเรารู้ว่า ความสุขมีค่ามากกว่าชื่อเสียงเงินทองเพราะเงินที่ช่วยให้เราตอบโจทย์ชีวิตขั้นพื้นฐาน พอมีอาหารกิน-พอมีที่อยู่อาศัย เงินจำนวนนี้จะทำให้เรามีความสุขมาก แต่เมื่อเรามีเงินมากพอตอบสนองความต้องการพื้นฐานเหล่านี้ครบ เงินที่เกินเลยจากนั้นไม่ได้ผันแปรตามความสุขของเราเสมอไป

หัดอยู่กับปัจจุบันขณะให้มากขึ้นเพราะนั่นคือสิ่งเดียวที่เรามี อดีตเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้วเอาคืนมาไม่ได้ ส่วนอนาคตยังมาไม่ถึง และเมื่อมาถึง…มันก็กลายเป็นปัจจุบันอยู่ดี อย่ากลัวที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ เพราะเราเริ่มทีละเล็กทีละน้อยก่อนขยายใหญ่ได้ และต้องไม่ลืมคิดถึงส่วนรวมเพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและโลกใบนี้ ลองสังเกตสิ่งรอบตัวด้วยสายตาที่สดใหม่และปล่อยใจไปกับมัน คุณอาจค้นพบความสุขสุดยอดจากเรื่องแสนเรียบง่ายที่มองข้ามมันมาตลอดทั้งชีวิตก็ได้

วันนี้…คุณเริ่มมองหาอิคิไกแล้วหรือยัง?

.

.

“แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa ก็เป็นหนทางหนึ่งในการค้นหา ‘อิคิไก’ ของตัวเอง เพราะช่วยให้พบกับอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ จนเราอยากตื่นเช้ามาทำงานทุกวัน! >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

อ้างอิง

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

Bystander Effect
Bystander Effect : สาเหตุที่พนักงานมีความลับแล้วไม่บอกบริษัท
ที่มาของ “ไทยมุง” มัวแต่ยืนดู…แต่ไม่มีใครช่วยสาเหตุที่บริษัทเปลี่ยนแปลงยาก แม้ทุกคนจะรู้หน้าที่พนักงานทุกคนรู้ปัญหาดี แต่ทำไมไม่มีใครพูดเปิดประเด็น?เหตุการณ์น่าเป็นห่วงเหล่านี้มีสาเหตุทางจิตวิทยาเหมือนกันที่เรียกว่า...
Scout Mindset
Scout Mindset : เข้าใจปัญหาด้วยการเฝ้ามองอยู่เงียบ ๆ ห่าง ๆ
เคยสงสัยไหม? ทำไมผู้บริหารบางคนถึงมองปัญหาได้ทะลุปรุโปร่ง “อ่านเกมขาด” ทั้งๆ ที่ดูก็ไม่ได้มีความสามารถเลิศเลอเหนือไปกว่าใคร? แม้ผู้บริหารท่านนั้นไม่ได้มีทักษะพิเศษ...
การประเมินผลการทำงาน
เตรียมตัวให้พร้อม : เคล็ดลับรับมือการประเมินผลการทำงานช่วงสิ้นปีอย่างมืออาชีพ
การประเมินผลการทำงาน คืออะไร?การประเมินผลการทำงาน คือกระบวนการประเมินผลงานของพนักงานอย่างเป็นทางการ โดยจะมีเกณฑ์ตรงกลางที่บริษัทตั้งไว้ และพนักงานจะถูกประเมินโดยหัวหน้างานหรือคนที่เกี่ยวข้องกับตัวเองในการทำงาน...