รับมือเด็ก Gen Z ยังไงให้ไม่โดนถอนหงอก?!!

Gen Z
“Gen Z” จะเป็นกลุ่มคนทำงานที่มีจำนวนมากที่สุดในบรรดาทุกเจน HR จึงต้องเตรียมองค์กรให้พร้อมรับคนรุ่นใหม่ซึ่งมาพร้อมความคิดใหม่ๆ ที่เราคาดไม่ถึง

นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มี “คนครบทุกเจเนอเรชั่น” มารวมอยู่ในที่ทำงาน

และภายในปี 2025 “Generation Z” จะเป็นกลุ่มคนทำงานที่มีจำนวนมากที่สุดในบรรดาทุกเจน HR จึงต้องเตรียมองค์กรให้พร้อมรับคนรุ่นใหม่ซึ่งมาพร้อมความคิดใหม่ๆ ที่เราคาดไม่ถึง

การจะรับมือคน Generation Z เราต้องรู้ก่อนว่าพวกเขาเป็นคนอย่างไร?

Who is Gen Z ?

Generation Z คือกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 1996-2010 ถึงปัจจุบันมีอายุระหว่าง 11-25 ปี ช่วงอายุที่มากที่สุดของ Generation Z พึ่งจะเริ่มเข้าทำงานเป็นครั้งแรกได้ไม่กี่ปี หรือที่เรียกว่ากลุ่ม “First Jobber”

Knowledge Gap

Gen Z

ในมุมมองของคนเจนก่อนหน้า อาจรู้สึกว่า Generation Z “โตกว่าวัย” เพราะเทคโนโลยีได้พาพวกเขาสู่โลกแห่งข้อมูลข่าวสาร พวกเขาเป็นคนยุคแรกในประวัติศาสตร์ที่เกิดมาก็มี smartphone ดีๆ ให้เล่นตั้งแต่แบเบาะแล้ว

เรื่องที่ Baby Boomers รู้และเข้าใจตอนเป็นผู้ใหญ่… Generation Z อาจรู้และเข้าใจตั้งแต่วัยรุ่น!

นั่นจึงทำให้ Generation Z มีความ “รอบรู้” หลายด้าน ประยุกต์ศาสตร์ต่างๆ เข้าหากัน (Connecting the Dots) มีความรู้แบบ T-shaped เป็นพื้นฐาน รู้ลึกเรื่องเดียว…แต่รู้กว้างหลายเรื่อง

ในฐานะ HR หรือหัวหน้า จะมองข้ามเรื่องนี้ไปไม่ได้เลย องค์ความรู้ที่คุณมี…Gen-Z ก็อาจมีเหมือนกัน แต่มาในเวอร์ชั่นที่ใหม่กว่า อัพเดทกว่า เกี่ยวข้องกับโลกปัจจุบันมากกว่า จะดีกว่าถ้าเราใช้ “ประสบการณ์” คอยชี้แนะพวกเค้าให้ต่อยอดยิ่งขึ้น

เวลาคุยกับพวกเค้าต้องเข้าหาด้วยเหตุผล วลี “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”  ใช้ไม่ได้อีกต่อไป หรือ “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน”  Generation Z จะถามย้อนกลับ “ร้อนกี่องศา และ ทำไมต้องอาบน้ำร้อน…อากาศข้างนอกยังร้อนไม่พอเหรอครับ?”

Born in Crisis

Generation Z เติบโตมาพร้อมวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงและถี่มากที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ตั้งแต่ต้มยำกุ้ง ปี 1997 / วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008 / การตกต่ำของเศรษฐกิจไทยในรอบหลายปีนี้ / จนมาล่าสุดโควิด-19…ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาพึ่งเรียนจบ (จบมาไม่ทันไรโดนหนักเลย!)

ตอนยังเด็กพวกเขาเห็นพ่อแม่สูญเสียความมั่งคั่ง พอตัวเองโตมาเรียนจบก็ถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติโควิด-19 ที่ตามมาด้วยวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก กลุ่มนี้จึงมีความ Realistic สูงมาก ไม่โลกสวย มองโลกตามความเป็นจริง การวิเคราะห์ใดๆ จะต้องพิจารณาสภาพเหตุการณ์โลกควบคู่กันและมี “ข้อมูล” รองรับเสมอ

เรื่อง “เงิน” สำหรับ Generation Z เป็นเรื่องใหญ่ HR ต้องคุยให้เคลียร์เรื่องผลตอบแทน และ บอกให้ชัดเจนถึงโอกาสก้าวหน้าในองค์กร (Internal Mobility) เพราะ Gen-Z ต้องการความมั่นคงในองค์กรไม่ต่างจาก Gen X ที่เป็นรุ่นพ่อแม่

นอกจากด้านเศรษฐกิจ Generation Z ยังโตมาพร้อมปัญหาแห่งศตวรรษอย่างการก่อการร้าย ภาวะโลกร้อน ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความเหลื่อมล้ำ วิกฤติทางการเมือง ปัญหาเหล่านี้บีบบังคับให้ Gen Z “ตั้งคำถาม” กับสิ่งเดิมๆ ที่เคยเป็นมา และมองหาหนทางที่จะ “สร้าง” อนาคตขึ้นมาใหม่ในแบบตนเอง หล่อหลอมให้มีจิตวิญญาณแบบผู้ประกอบการที่จะหานวัตกรรมใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา

ถ้าผู้บริหารใจกว้างมากพอ ควรลองมอบหมายโปรเจ็คท์ที่เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ Generation Z ในองค์กรเป็นคนนำทีม รู้หรือไม่ว่า…เบื้องหลังการจับมือระหว่าง KBank และ BLACKPINK เมื่อปลายปี 2019 มีทีมมันสมองเป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ Young Talents ของ KBank คอยคิดอยู่แทบทั้งหมด (ผู้บริหารเป็นแค่ที่ปรึกษาและคอยอนุมัติ)

Gen Z

Image Cr. bit.ly/3bkvDz1

Authenticity

Generation Z กล้าแสดงออก เปิดเผยความเป็นตัวเองสูงมาก โพสอะไรในโซเชียลมักดูสมจริงกว่าเจนอื่น รูปไม่ต้องเนี้ยบมาก หน้าไม่ต้องใสเว่อร์ก็ได้

ทัศนคตินี้ส่งผลมาถึงการทำงานโดยเฉพาะด้าน Marketing แบรนด์ต้องไม่มีภาพลักษณ์ดีเกินจริง (Too good to be true) เรื่องราวที่กินใจต้องบอกได้ว่ามาจากประสบการณ์จริงไม่ใช่ฟังเขามาอีกที พรีเซนเตอร์ต้องดูออกว่าอินกับสินค้าของแบรนด์นั้นจริงๆ

อาจออกนอกกรอบของบริษัทไปบ้าง แต่จุดแข็งคือ Gen-Z จะปฏิบัติแบบไม่ดูถูกความรู้ของลูกค้า ไม่ผิวเผิน รับฟังปัญหาลูกค้าจริงๆ เสนอสินค้าบริการเพื่ออยากแก้ปัญหาให้เค้าจริงๆ

Social Interaction

Philip Kotler ปรมาจารย์ด้านการตลาดกล่าวไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขา Marketing 5.0 ว่า แม้ Gen-Z จะโตมากับหน้าจอ smartphone แต่กลับเป็นกลุ่มคนที่โหยหา “ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม” (Social Interaction) สูงกว่าที่หลายคนคิด เทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือที่เชื่อมพวกเขาให้มาเจอกันตัวเป็นๆ ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง

HR จึงต้องออกแบบวัฒนธรรมองค์กรให้พนักงานมีส่วนร่วม (Employee Engagement) เช่นอาจทำ Standup Meeting ยืนล้อมวงก่อนเริ่มงานทุกเช้า ที่นอกจากจะอัพเดทเรื่องงานแล้ว ก็ให้แต่ละคน “บอกเล่า” เรื่องราวที่ตนไปเจอมา จะมีสาระ/ไม่มีสาระก็ได้ (แสดงออกความเป็นตัวเอง)

หรือหากเป็นวิกฤติช่วงโควิด-19 ที่ทุกคน Work From Home และประชุมทางไกล HR ก็สามารถออกมาตรการให้ทุกคน “เปิดกล้อง” คุยกันทุกครั้งแทนการปิดกล้องไม่เห็นหน้า

Gen Z

หรืออาจนัด Team Hangout ทุกๆ 2 อาทิตย์หรือเดือนละครั้ง ออกไปหาร้านอร่อยๆ ทานหรือทำกิจกรรมต่างๆ ให้รู้จักเพื่อนร่วมทีมในมิติอื่นๆ Generation Z จะมีความสุขในการทำงานและจงรักภักดีต่อองค์กรมากขึ้น

Visual rather than Text

Generation Z ชื่นชอบการใข้รูปภาพครีเอทีฟและภาพเคลื่อนไหวแทนตัวอักษร (ส่งผลมาถึงการส่งสติ๊กเกอร์ไลน์แทนคำพูด…ซึ่งผู้ใหญ่อาจไม่เข้าใจว่าสื่อถึงอะไร)

การสื่อสารภายในองค์กรที่ต้องการโน้มน้าวหรือขอความร่วมมือ Generation Z จะรับรู้และยอมทำตามกว่ามากถ้าเป็นรูปภาพแทนที่ตัวอักษรทื่อๆ เต็มหน้า A4

ส่งผลไปถึงการทำ Marketing ที่ถูกจริตกับ Video Content มากกว่าบทความยาวๆ (แม้จะย่อยมาแล้วก็ตาม) ผลวิจัยจาก GenHQ เผยว่ากลุ่มคน Generation Z ยังดู YouTube นานถึงวันละ 3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

Sustainability is Standard.

Generation Z มองว่าการช่วยเหลือสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรฐานที่องค์กรต้องมีไปแล้ว CSR ต้องไม่ทำด้วยเหตุผลแฝงด้านภาษี Gen-Z จะวิเคราะห์อย่างหนักว่าบริษัทตั้งใจแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือช่วยเหลือสังคมจริงๆ หรือไม่?

มองในมุมผู้บริโภค Generation Z ให้คุณค่ากับแบรนด์มากกว่าแค่ ‘ตัวสินค้า’ แต่มองไปถึง…

  • ความเป็นธรรมในการใช้แรงงาน ค่าแรงเป็นธรรมไหม? มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศไหม? 
  • การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โรงงานใช้ระบบ Zero Waste รึเปล่า? อัตราการรีไซเคิลอยู่ที่เท่าไร? 
  • แม้แต่อุดมการณ์ทางการเมือง ก็เป็นสิ่งที่ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการให้แบรนด์แสดงออกถึงจุดยืนในบางเรื่อง

ลองมาดู 2 ตัวอย่างจาก 2 เจนที่บอกถึงความแตกต่างด้านทัศนคติ เช่น ไปซื้อของแล้วทางซูเปอร์มาร์เก็ตมีนโยบายไม่แจกถุงพลาสติก

  • Baby Boomers อาจมองว่าเอาเปรียบ ราคาสินค้าก็ไม่ลด ฉันจ่ายเงินซื้อของนะก็ต้องมีสิทธิ์ได้ถุงสิ นี่มันผลักภาระมาให้ผู้บริโภคนี่นา
  • Generation Z มองว่าก็ปกตินี่นา การช่วยรักษ์โลกเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างพวกเราเช่นกัน หลายคนถึงกับมองว่า เข้าซูเปอร์มาร์เก็ตซื้อของแล้วหิ้วถุงพลาสติกออกมาเป็นเรื่องที่ “เชย!”

เมื่อเราช่วยโลก โลกจะเป็นบ้านที่ดีให้เราต่อไป

เมื่อเราช่วยทุกคนได้มากขึ้น โอกาสและมูลค่าทางธุรกิจก็มากขึ้นตาม

Community

Engaging Brands แบรนด์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า มีการสร้าง Community ขึ้นมา คือสิ่งที่ Gen Z มองหา เขาจะรู้สึกถึงการมีตัวตนและพร้อมปกป้องแบรนด์

ซึ่งจะว่าไป…นี่เป็นเทรนด์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว “ไม่ใช่แค่ Gen-Z แล้วที่คิดแบบนี้”

“น้าเน็ก” พิสูจน์เรื่องนี้ได้ชัดเจนมาก น่าเหลือเชื่อว่าคน Gen X แบบเขาพึ่งมาทำธุรกิจสื่อออนไลน์ได้เพียง 2-3 ปี แต่กลับประสบความสำเร็จอย่างสูง เขาเล่าว่า “หัวใจยุคนี้คือ ต้องสร้าง Community ให้ได้” เป็นกลุ่มคนที่มารวมกันและมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์อย่างแน่นแฟ้น ซึ่งธุรกิจของเขาที่มีอยู่เยอะครอบคลุมหลายกลุ่มเป้าหมาย ทุกช่องทางล้วนมี Community อันแข็งแกร่งเป็นของตัวเอง

Flexibility

Generation Z เชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยีมากที่สุด และพร้อมเรียนรู้ของใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่เต้นโชว์ลง TikTok จนมาถึงการหาทุกช่องทางเพื่อถูกเชิญเข้า Clubhouse

และเป็นอีกเจนที่ถูกจริตการทำงานที่ยืดหยุ่นทั้งด้านเวลา สถานที่ สไตล์การทำงาน ซึ่งเป็นสภาวะที่เฟ้นความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้ดีที่สุด

ผลสำรวจจาก Kronos ในหมู่ Generation Z กว่า 3,400 คนยังพบว่า กว่า 1/4 ยินดีอยู่กับบริษัทนานขึ้นและทำงานหนักขึ้น ถ้าบริษัทออกแบบตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นให้พวกเขาได้

Google ให้พนักงานออกแบบตารางการทำงานที่เหมาะกับตนที่สุดด้วยตัวเอง และสร้างห้องนอนภายในออฟฟิศที่เรียกว่า “Nap Pods” ใครง่วงแวะงีบได้ก่อนลุยงานต่อ

องค์กรที่สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปิดกว้างที่รับฟังเสียงทุกเสียง จะสามารถดึงศักยภาพของ Gen-Z ออกมาได้มากที่สุด

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พลังคลื่นลูกใหม่อย่าง Generation Z จะเข้าสู่ตลาดแรงงานเต็มตัวพร้อมเฉิดฉายพลังความคิดคนรุ่นใหม่ ท้ายที่สุด HR ต้องเรียนรู้และคอยเปิดใจ “รับฟัง” พวกเขาอยู่ตลอดเวลา

องค์กรขับเคลื่อนด้วยคน ใครดึงศักยภาพของ Gen-Z (ที่มีจำนวนมากที่สุดและสดใหม่ที่สุด) ออกมาได้เยอะที่สุด คือผู้ชี้ชะตาองค์กรแห่งอนาคต

.

.

ลองให้ Generation Z มาทำ “แบบประเมินอาชีพ” ได้ฟรีๆ จาก CareerVisa เพื่อเช็คให้ชัวร์ก่อนว่านี่คืออาชีพที่ใช่ ที่เหมาะสมกับเราหรือไม่ >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

อ้างอิง

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

CEO of the year
อยากสำเร็จ อย่ารอคำว่าพร้อม ถอดบทเรียนจาก Lisa Su ถึงคนทำงาน เจ้าของรางวัล CEO of the year 2024 จากนิตยสาร Times
Lisa Su หรือเจ้าแม่แห่ง AMD ได้มีโอกาสให้สัมภาษณ์ ในรายการ View From The Top with Lisa Su: Chair and CEO of AMD โดย Stanford Graduate School of Business...
The One-Page Financial Plan
วิธีสรุปการเงินของคุณ ไว้ในแผ่นเดียว แค่ทำตามขั้นตอนนี้ จากหนังสือ The One-Page Financial Plan
สำหรับใครที่อยากจัดการ การเงินของตัวเองให้เป็นระเบียบกว่าเดิม วันนี้ CareerVisa อยากมาแนะนำการทำสรุปการเงินไว้ให้ครบ จบในแผ่นเดียว จากหนังสือ The One-Page...
สวัสดิการสำคัญ
เช็กลิสต์ 10 สวัสดิการสำคัญ ถามไว้ก่อนไปสมัครงาน
“สวัสดิการสำคัญ” ไม่แพ้เงินเดือน! หลายคนอาจโฟกัสที่ตัวเลขเงินเดือนเป็นหลัก แต่แท้จริงแล้ว สวัสดิการที่ดีสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้อย่างมาก...