“Eat Smart” ปรับการกิน ส่งผลต่อความสำเร็จมากกว่าที่คิด 

ปรับการกิน

“ปรับการกิน พิชิตประสิทธิภาพการทำงาน : สุขภาพดีเริ่มต้นที่ออฟฟิส”

“เที่ยงนี้ทานอะไรกันดี” เป็นคำถามที่เรามักได้ยินจากเพื่อนร่วมงานอยู่แทบทุกวัน ก็เพราะคนเราโดยเฉลี่ยใช้เวลา 1 ใน 3 ของชีวิตหรือครึ่งหนึ่งของวันไปกับการทำงาน งานวิจัยหลายชิ้นจึงพบว่า การส่งเสริมให้พนักงาน “ปรับการกิน” ส่งผลต่อสุขภาพของพนักงานและสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตลงได้ ซึ่งสำคัญไม่แพ้เรื่องการป้องกันอุบัติเหตุในที่ทำงานเลยทีเดียวแต่กลับเป็นประเด็นที่มักถูกละเลย

การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Occupational and Environmental Medicine พบว่าพนักงานที่รับประทานอาหารไม่ดีต่อสุขภาพมีแนวโน้มที่จะเสียประสิทธิภาพการทำงานมากกว่าพนักงานที่มีพฤติกรรมการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพถึง 66% นอกจากนี้ยังพบว่า ธุรกิจที่ลงทุนในโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพของพนักงานได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 3.27 ดอลลาร์ต่อทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่จ่ายไป


และรู้หรือไม่ พนักงาน 68% กลับไม่ชอบพักเที่ยง และ 2 ใน 3 คนไม่ทานอาหารกลางวันเลยด้วยซ้ำ จากการสำรวจของ Reed แต่อย่างไรก็ตาม พนักงาน 90% ที่ใช้เวลาพักเที่ยงอย่างเหมาะสมรู้สึกสดชื่นและพร้อมที่จะกลับไปทำงานมากขึ้น การเคลื่อนไหวร่างกายในช่วงเวลาพักเที่ยงช่วยเพิ่มสมาธิ อารมณ์ และประสิทธิภาพในการทำงานได้ ดังนั้นแค่การสนับสนุนให้พนักงานใช้เวลาพักเที่ยงอย่างเต็มที่ รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ จัดให้มีการเดินเล่นพักผ่อนบ้างก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้แล้ว

ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จการองค์กรที่ช่วย “ปรับการกิน” พรักงาน

บริษัท Salesforce ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านลูกค้าสัมพันธ์ชั้นนำของโลก มีโครงการส่งเสริมนิสัยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพของพนักงานที่เรียกว่า “Ohana Culture” โดยนำคอนเซปต์ของ “Farm to Table” จัดอาหารที่มีคุณภาพจากฟาร์มมายังโรงอาหารพนักงาน นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้แก่พนักงานเกี่ยวกับประโยชน์ของอาหารในแต่ละท้องถิ่นและอาหารตามฤดูกาลอีกด้วย ผลปรากฎว่า พนักงานของ Salesforce ลาป่วยลดลง 20% และผลิตภาพเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดภายในเวลาเพียงแค่หกเดือน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จนั่นไม่ใช่แค่สถิติตัวเลขทางสุขภาพของพนักงานเท่านั้น แต่ยังเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ดีต่อพนักงานในระยะยาวอีกด้วย
.
กรณีของ Johnson & Johnson ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลก มีโครงการที่เรียกว่า “Wellness at Work” ซึ่งประกอบด้วยเวิร์กชอปให้ความรู้ด้านโภชนาการและแนะนำขนมของว่างที่ดีต่อสุขภาพที่หาซื้อได้ง่าย ๆ จากเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติใกล้ออฟฟิศ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ พนักงานจำนวนเพิ่มขึ้น 35% เลือกของว่างเพื่อสุขภาพแทนอาหารขยะที่คุ้นเคย ส่งผลให้ประสิทธิภาพโดยรวมของพนักงานดีขึ้น
.
ฝั่งของบริษัทเทคโนโลยี Cisco เองก็มีโครงการด้านโภชนาการที่ครอบคลุมซึ่งสนับสนุนให้พนักงานเลือกรับประทานอาหารที่ดีขึ้น โดยมีโค้ชด้านโภชนาการส่วนบุคคลให้กับพนักงาน คลาสเรียนทำอาหาร และจัดให้มีของว่างเพื่อสุขภาพในที่ทำงาน ซึ่ง Cisco พบว่าความผูกพันของพนักงานเพิ่มขึ้นถึง 15%

ไอเดียปรับการกินในองค์กรที่คุณทำได้ทันที

จากการสำรวจเรื่อง Health at Work ของ Financial Times พบว่า การมีนักโภชนาการช่วยดูแลการบริโภคอาหารของพนักงาน มีอัตราทำให้พนักงานหันมาดูแลสุขภาพและมีสุขภาพที่ดีขึ้นจากการกินได้มากที่สุด ดังนั้น องค์กรอาจจัดให้มีการปรึกษาเรื่องโภชนาการแบบเร่งด่วน 30 นาทีต่อคน นอกจากนี้ ตัวอย่างกิจกรรมที่หลายองค์กรสามารถทำได้ อาทิเช่น การจัดการแข่งขัน “Eat Smart” เป็นทีม เป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน เพื่อส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมในการมีสุขภาพที่ดีร่วมกันเป็นทีม โดยให้มีการเตรียมแพลนอาหารสำหรับในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์โดยเน้นที่ธัญพืชไม่ขัดสี โปรตีนไม่ติดมัน และผักใบเขียว จะช่วยสร้างสมาธิและความแจ่มใสทางจิตใจที่ดีขึ้นตลอดสัปดาห์การทำงาน
ไม่เพียงแต่การรับประทานอาหารภายในที่ทำงานเท่านั้น ในเมืองใหญ่อย่างซานฟรานซิสโกมีการจัดพื้นที่สำหรับรับประทานอาหารร่วมกันในชื่อ “The Mill” ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมผู้ประกอบการในท้องถิ่น ศิลปิน และผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีมารวมตัวกัน เพื่อแบ่งปันอาหารและแลกเปลี่ยนความคิดกันอีกด้วย สภาพแวดล้อมของเมืองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มสถาบันหรือเครือข่ายต่างๆ โดยโครงการนี้ช่วยเพิ่มให้เกิดความร่วมมือและการแก้ปัญหาร่วมกันได้มากถึง 25% หากองค์กรจะนำคอนเซปต์นี้ไปใช้บ้าง ก็สามารถสร้างบรรยากาศที่น่าดึงดูดด้วยการจัดพื้นที่ส่วนกลาง ที่มีโต๊ะกลางและการจัดที่นั่งแบบยืดหยุ่นที่ให้พนักงานมาพูดคุยกันได้แบบเป็นกันเอง
.
สำหรับองค์กรที่ต้องการปรับพฤติกรรมการบริโภคของพนักงาน ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญและเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ชีวิต ให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพ และยังมีการลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นการอบรมด้านการดูแลสุขภาพเป็นประจำ การแสดงฉลากอาหารที่ขายอยู่ในบริเวณโรงอาหาร หมั่นจัดกิจกรรมอาหารเพื่อสุขภาพร่วมกัน ทำให้พนักงานเข้าใจเรื่องการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ พร้อมทั้งสร้างความสนใจให้กับพนักงานในรูปแบบที่สนุกสนานและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อีกด้วย เพียงเท่านี้ องค์กรก็จะสามารถมีพนักงานที่สุขภาพดีทั้งกายและใจ พร้อมที่จะลุยงานต่อไปด้วยกันได้ในระยะยาว

อ้างอิง : khonatwork

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

openai
ข่าวดี! OpenAI Academy เปิดให้เรียนรู้ AI ฟรีแล้ววันนี้!
CareerVisa ขอแนะนำแพลตฟอร์มใหม่จาก OpenAI ที่เปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจทั่วไปก็สามารถเรียนรู้และใช้งาน AI ได้อย่างมั่นใจ...
discipline
ฝึกตัวเองให้มีวินัยขั้นสุดยอด อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้ด้วยสิ่งนี้ โดย Andrew Huberman
สำหรับใครที่รู้สึกว่าควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ ไม่มีวินัยเอาซะเลย วันนี้ CareerVisa จะมาเล่าให้ฟังแบบบ้านๆ เรื่องอยากมีวินัย (discipline) ให้ฟังว่าทำยังไงถึงจะฝึกวินัยได้แบบเป็นวิทยาศาสตร์...
Kelly McGonigal
"เครียดยังไงให้กลายเป็นพลังบวก" สรุปแนวคิดจาก Kelly McGonigal นักจิตวิทยาด้านสุขภาพและผู้เขียนหนังสือ "The Upside of Stress"
วิธีคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนมุมมองต่อความเครียดเพื่อใช้มันเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเอง 1. มองความเครียดเป็นพลัง ความเครียดไม่ใช่สิ่งที่ต้องกลัว การเชื่อว่าความเครียดช่วยเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมรับมือความท้าทาย...