Confirmation Bias : มองหาแต่สิ่งที่ยืนยันความเชื่ออันฝังรากลึกของตัวเอง!

Confirmation Bias
Confirmation Bias คือแนวโน้มที่คนจะหาข้อมูลหรือเชื่อเฉพาะสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อหรือความคิดเห็นที่มีอยู่แล้ว และมองข้ามหรือปฏิเสธข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อนั้น ส่งผลให้การตัดสินใจไม่เป็นกลาง

เคยเป็นไหม? มองหาแต่หลักฐานที่มาสนับสนุนความคิด-ความเชื่อที่ฝังรากลึกของตัวเอง อะไรที่ไม่เข้าพวกก็ปัดทิ้ง ฟังผ่านๆ หรือทำเป็นไม่รับรู้ซุกไว้ใต้พรม

ถ้าใช่ คุณอาจกำลังติดกับดักทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “Confirmation Bias” อยู่

Confirmation Bias คืออะไร ?

ลองนึกภาพตาม มันคือการที่เรา “ปักธง” คิดหรือเชื่ออะไรไปก่อนล่วงหน้าแล้ว ก่อนจะรับข้อมูลเข้ามาและปรับแต่งให้ “ถูกจริต” กับความคิด-ความเชื่อของเรา เป็นการ “ย้ำคอนเฟิร์ม” นั่นเอง (พร้อมๆ กับปิดกั้นข้อมูลที่ขัดแย้งอยู่ขั้วตรงข้าม)

ในกรณีที่เลวร้าย จะไม่ใช่แค่การรับข้อมูลเฉยๆ แต่เรามีแนวโน้มจะ “ค้นหา-เลือก” เฉพาะข้อมูลที่ถูกจริตกับเราเท่านั้น!

เช่น “ข่าว” ที่เรามักเปิดเฉพาะช่องที่ให้ข้อมูลตรงกับเรา หรือ “อยู่ฝ่ายเรา” เท่านั้น

Bias เป็นได้ทั้งด้านบวก และ ลบ เหมือนกับการ “มองหาอะไร ก็ได้อย่างนั้น”

  • คุณชอบนาย A เป็นทุนเดิม ก็มักเห็นแต่ด้านดีๆ ของเขา (ทั้งๆ ที่ด้านแย่ก็มีไม่น้อย)
  • คุณไม่ชอบนาย B เป็นทุนเดิม ก็มักเห็นแต่ด้านแย่ๆ ของเขา (ทั้งๆ ที่ด้านดีเขาก็เยอะ)

Confirmation Bias ในธุรกิจ ?

Algorithm ของ Facebook เป็น Bias ที่เราปะทะอยู่ทุกวัน ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า เวลาเราไถฟีดใน FB สิ่งที่เห็นไม่ได้สะท้อนภาพรวมของธุรกิจ สังคม แต่สะท้อนแค่ในวงสังคมของเราเท่านั้น…ซึ่งอาจไม่ใช่วงที่ใหญ่นัก

การสมัครงานก็เช่นกัน ถ้ามีผู้หญิงมาสมัครในตำแหน่งวิศวกรยานยนต์ Confirmation Bias อาจทำงานระดับ “จิตใต้สำนึก” จนคุณเผลอคิดในใจไปว่า ผู้หญิงคนนี้ไม่น่าเก่งเพราะวิศวกรยานยนต์ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย (ซึ่งไม่จริงเสมอไป)

Confirmation Bias

บอสใหญ่เสนอไอเดียสินค้าตัวใหม่และให้ลูกทีมไปทำ Market Research แต่บอสคนนี้ดันเชื่อไปก่อนแล้วว่าสินค้าต้องประสบความสำเร็จแน่ๆ ซึ่งส่งผลต่อการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มา อาจหยิบยกเฉพาะตัวที่ยืนยันความเชื่อ ส่วนตัวที่ไม่เข้าพวกก็มองผ่านๆ หรือหลอกตัวเองด้วยเหตุผลว่า “นั่นมันเป็นข้อยกเว้น” 

Bias นี้จะยิ่งสุ่มเสี่ยงต่อผู้นำองค์กรที่มีคาแรคเตอร์แบบ “เถ้าแก่-อาเสี่ย” ที่ชอบสั่งการ หลงใหลอำนาจ ไม่พอใจอะไรก็ตะโกนด่ากราดจน “ลูกน้องกลัว” ผู้นำแบบนี้ ลูกน้องมีแต่อยากบอกข่าวดี พรางซุกปัญหาไว้ใต้พรม 

Confirmation Bias

เคสที่ใกล้ตัวมาหน่อยก็เช่น นาย A เชื่อหัวปักหัวปำว่าการ “เปิดร้านกาแฟ” ในทำเลที่ใช่หน่อย-คุณภาพที่ดีหน่อย ยังไง๊ยังไงก็สำเร็จ พอมี 1 ใน 100 ที่ประสบความสำเร็จก็จะรีบชี้มือ ”นั่นไง! เห็นไหม…ว่าแล้วเชียว! อีกหนึ่งรายแล้วที่เปิดร้านกาแฟแล้วปัง” 

ทั้งๆ ที่อีก 99 เจ้าที่เหลือล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่กลับถูกมองข้าม ธุรกิจนี้การแข่งขันสูงมาก มีหลายปัจจัยเหลือเกินที่ทำให้หลายคนไปไม่ถึงฝัน แม้จะมีทำเลที่ใช่-คุณภาพที่ดี

ป้องกัน Confirmation Bias ยังไงได้บ้าง ?

อันดับแรกต้องยอมรับว่า “ยาก” เพราะมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ คนเราไม่สามารถคิดวิเคราะห์ทุกเรื่องจากศูนย์ได้ กลไกสมองจึงถูกออกแบบให้รับสิ่งที่เห็นดีเห็นงามกับเราเพื่อตัดสินใจอย่างรวดเร็ว เพราะในยุคโบราณการที่เราตัดสินใจช้า นั่นอาจหมายถึงความตาย 

อย่างไรก็ตาม เรายังพอมีวิธีบรรเทาได้บ้าง โดยวิธีที่ใช้กันในหมู่ผู้บริหารใหญ่ มักคือการ assign ให้ talent บางคนที่เก่งด้านวิเคราะห์และการใช้ตรรกะเหตุผลมาเป็น “Devil’s advocate” …คนนี้จะสวมบทบาทอยู่ ‘ขั้วตรงข้าม’ กับเรา และทำยังไงก็ได้เพื่อโต้แย้งหรือเบรคความคิดของคุณ(อย่างมีเหตุผล)

Confirmation Bias

Devil’s advocate จะช่วยให้เราตกผลึกทางความคิดมากขึ้น มองเห็นมุมมองมิติอื่น ลดอคติ ไม่หวือหวากับสิ่งที่ชอบเป็นทุนเดิม

นอกจากนี้ เวลาหาข้อมูล ควรหาจากหลากหลายแหล่งช่องทาง อย่าให้ความสำคัญเกินตัวกับแหล่งใหญ่ที่น่าเชื่อถือ อย่ามองข้ามแหล่งช่องทางรอง ให้เปิดรับความคิดเห็นอันหลากหลาย มันอาจจะไม่ถูกใจเรามาก แต่ต้องไม่ลืมว่า การที่เราเพิกเฉยต่อความจริงบางอย่าง…ไม่ได้ทำให้ความจริงนั้นเปลี่ยนแปลงไป

อีกวิธีหนึ่งที่ใช้เตือนสติได้ดีคือ เมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกว่า “นั่นไง…ว่าแล้วเชียวววววว!” ให้ดึงสติกลับมาทันที คุณอาจกำลังติดกับดัก Bias นี้อยู่ เพราะประโยคนี้มันส่อว่าเราดันคิดหรือเชื่ออะไรล่วงหน้าไปก่อนแล้วนั่นเอง

ปรับใช้ธุรกิจอย่างไร ?

  1. เล่นตามน้ำ

คนเราเมื่อ ‘ปักธง’ เชื่ออะไรไปแล้ว ก็ยากที่จะเปลี่ยน ให้เราค้นหาว่ากลุ่มเป้าหมายเราปักธงเรื่องอะไร และสร้าง Content ตามนั้นเพื่อเปลี่ยนมาเป็นจุดแข็งให้เรา 

หน้าที่เราเพียงแค่ “ย้ำคอนเฟิร์ม” อีกครั้งว่า “ลูกค้า…คุณคิดถูกแล้ว!” 

Apple เข้าใจเรื่องนี้ดี ตอนออก iPad Pro ใหม่ๆ ใช้คำโฆษณาว่า “Anything you can do, you can do better.” อะไรที่คุณทำได้อยู่แล้ว…จะยิ่งทำได้ดียิ่งขึ้น 

Image Cr. bit.ly/3ewwYWw

เพราะเรารู้ดีว่า “สาวก Apple” เชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์แอปเปิ้ลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ข้อความนี้แค่ย้ำคอนเฟิร์มความคิดนั้น สาวกก็พร้อมควักเงินจ่าย

นอกจากนี้ยังประยุกต์ใช้กับการเหมารวม (stereotype) ของผู้บริโภคได้เหมือนกัน เช่น คนเชื่อมั่นว่า “วิศวกรรมเยอรมัน” คือที่สุดแห่งยานยนต์ เวลาโปรโมทสินค้าก็ต้องตอกย้ำถึงวิศวกรรมเยอรมัน

  1. พวกเดียวกัน

หนึ่งในเหตุผลหลักที่ลูกค้าซื้อสินค้าเราเพราะมันแก้ Pain Point ของเค้าได้

อันดับแรก ให้ระบุ Pain Point นี้ให้ลูกค้ารับรู้(คอนเฟิร์ม) ว่า…ใช่ Pain Point นี้มีอยู่จริง นี่คือปัญหาจริง และเรากำลังนำเสนอ Solution ให้คุณอยู่ 

วิธีนี้จะสร้างความเป็น “พวกเดียวกัน” ระหว่างเรากับลูกค้า และต่อไปลูกค้าจะเปิดใจรับฟังสินค้าบริการของเรามากขึ้น

  1. First Impression 

First Impression ที่ดีของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ พลอยทำให้ชอบเรื่องอื่นๆ ของแบรนด์คุณไปด้วย นี่เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญมากๆ เพราะถ้าทำสำเร็จ จะช่วยให้ขั้นตอนอื่นง่ายขึ้นเยอะ

มันคือการ “ปักธง” ด้านดีๆ ลงในใจลูกค้า อย่างที่บอกไป Confirmation Bias เริ่มจากการปักธง คิด รู้สึก หรือเชื่ออะไรไปก่อนแล้ว ต่อไปลูกค้ามักมีแนวโน้มรับแต่ด้านบวกของแบรนด์เรา

.

.

และถ้าอยากมี First Impression ที่ดีในการเข้าทำงานบริษัท จะต้องรู้ก่อนว่าอยากทำงานบริษัทแนวไหน? อุตสาหกรรมไหน?

ถ้ายังไม่แน่ใจ ไปลองทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa ได้เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ จะได้มีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/


อ้างอิง

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

ใครๆ ก็ไม่รักผม…อยากเป็นคนน่าสนใจมากขึ้น ควรทำอย่างไร?

เคยสงสัยหรือไม่ว่าเราเป็นคนที่น่าสนใจหรือเปล่า? ถ้าคิดว่าตอนนี้เราไม่ได้เป็นที่น่าสนใจ ก็อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะว่าความน่าสนใจมันสามารถสร้างได้เพียงแค่เสริมหรือปรับพฤติกรรมแค่บางอย่างเท่านั้น มาลองดูกันว่ามีอะไรบ้าง

Constructive Feedback

Constructive Feedback ฟีดแบคยังไงให้ลูกทีมรัก ?

Constructive Feedback คือการให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ โดยเน้นการปรับปรุงและพัฒนา แทนที่จะเป็นการวิจารณ์เชิงลบ โดยควรชี้จุดที่ต้องปรับปรุงพร้อมแนวทางแก้ไข เพื่อช่วยให้ผู้รับข้อเสนอแนะพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ