เคล็ดลับการพัฒนา วัฒนธรรมองค์กรยุคดิจิทัล | ตัวอย่างจากองค์กรไทย

วัฒนธรรมองค์กรยุคดิจิทัล

จากสถิติของ Work Institute พนักงานในสหรัฐอเมริกามีอัตราการลาออกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 31.6% ซึ่งเหตุผลที่สำคัญที่สุดคือ ความไม่พอใจกับวัฒนธรรมองค์กร โดยในปัจจุบันปี 2024 การที่เราจะสร้าง “วัฒนธรรมองค์กรยุคดิจิทัล” ให้ตอบโจทย์ทั้งธุรกิจและพนักงานนั้นต้องพบเจอกับความยากลำบากมากกว่าเดิม เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของพนักงานที่ต้องพบเจอ

มากไปกว่านั้น จากรายงาน PwC Global Culture Survey 2024 พบว่า 72% ของผู้บริหารระดับสูง มองว่าวัฒนธรรมองค์กรเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนผลประกอบการ แต่กลับมีเพียง 16% ของพนักงาน ที่เห็นว่าวัฒนธรรมองค์กรในปัจจุบันช่วยให้พวกเขาทำงานได้ดีขึ้นงานวิจัยจาก Gallup แสดงให้เห็นว่า 85% ของพนักงานทั่วโลกไม่มีความผูกพันกับองค์กร (disengaged) ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพและผลผลิตขององค์กร

.

ส่วนหนึ่งของปัจจัยที่ทำให้การสร้างวัฒนธรรมองค์กรไม่ง่ายในปัจจุบันคือ ค่านิยมองค์กร สิ่งอำนวยความสะดวก/สภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานที่ทำงาน และรวมไปถึง เพื่อนร่วมงาน แต่ถ้าเราทำความเข้าใจปัจจัยเหล่านี้ได้กระจ่างแล้วนั้น ก็ย่อมที่จะสามารถจัดการและวางแผนในการรับมือกับอนาคตได้อย่างแน่นอน

.

โดยจะอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

1. การทำงาน(เป็นทีม)จากที่บ้าน

การทำงานระยะไกลคนเดียวยังไม่ยากเท่าไร แต่การทำงานเป็นทีมนั้น โดยปกติเข้าออฟฟิศก็ยังมีประเด็นให้ต้องพัฒนาความร่วมมืออยู่ตลอด แต่การทำงานทางไกลนั้นยิ่งมีความท้าทายในการสร้างสัมพันธภาพและความเชื่อมโยงระหว่างพนักงาน และการทำงานกับทีมที่มีสมาชิกมากๆ ต้องการการจัดการและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ บริษัท Shopify ได้เริ่มโครงการ “Digital by Default” เพื่อส่งเสริมการทำงานระยะไกล โดยการให้พนักงานมีสิทธิ์ทำงานที่บ้านเป็นปกติ โดยไม่จำกัดจำนวนวันที่ทำงานที่สำนักงานและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารและการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และในปี 2023 ที่ผ่านมา ถึงแม้จะเริ่มกลับมาทำงานที่สำนักงาน แต่ก็ยังคงนโยบาย Remote First ไว้อยู่

.

2. ความหลากหลายทาง วัฒนธรรมองค์กรยุคดิจิทัล

บริษัทที่มีพนักงานที่มีวัฒนธรรมและชนชาติที่แตกต่างกันจึงมีความท้าทายในการสร้างวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน โดย Google Diversity Core เป็นโปรแกรมของ Google ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีวัฒนธรรมหลากหลายที่สุดในโลก เนื่องจากมีพนักงานจากทั่วโลกที่มารวมตัวกัน ส่วนใหญ่ของบริษัทนี้มีนโยบายและโปรแกรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนความหลากหลาย ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนกลุ่มนักพัฒนาและองค์กรที่สนับสนุนการศึกษาและการสร้างเสริมทักษะให้แก่ทุกกลุ่มชนและมีการสร้าง Google Developer Groups (GDGs) หรือ ชุมชนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่กลุ่มต่างๆ ทั่วโลก ที่มุ่งเน้นการสร้างคอมมูนิตี้หรือสังคมที่แตกต่างและการแบ่งปันความรู้ทางเทคโนโลยีในระดับท้องถิ่นและสากล

.

3. ความต้องการความยืดหยุ่นและการปรับตัว

วัฒนธรรมที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างกิจกรรมที่สามารถทำได้เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการปรับตัวยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ได้แก่

Sprint Retrospective Meeting หรือการประชุมเพื่อวิเคราะห์การทำงานในรอบการพัฒนา (Sprint) ที่ผ่านมา เพื่อหาวิธีการปรับปรุงและป้องกันปัญหาในการทำงานในรอบต่อไป

Pair Programming การทำงานแบบมีคู่ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการทำงานแบบ Agile โดยการให้พนักงานสองคนทำงานร่วมกันในโครงการเดียวกัน ซึ่งช่วยเพิ่มความเข้าใจและความสามารถในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

Kanban Board การใช้กระดาน Kanban เพื่อแสดงงานที่กำลังทำอยู่ งานที่เสร็จสมบูรณ์ และงานที่กำลังรอดำเนินการ เพื่อให้ทุกคนในทีมเข้าใจและติดตามความก้าวหน้าของงานได้ง่ายขึ้น เวลาที่จะต้องปรับตัวตื่นตัวก็จะทำได้ดีขึ้นไปด้วย

.

4. การรักษาความสมดุลระหว่างทำงานและชีวิตส่วนตัว

ความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวมีความสำคัญต่อความพึงพอใจของพนักงาน ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ บริษัท Zappos ที่มีการจัดค่าย 3 วันที่เรียกว่า Culture Camp ให้พนักงานได้สมัครเข้าร่วมและออกจากสถานที่ทำงานเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความเชื่อมโยงระหว่างพนักงานเองโดยจะได้รับการฝึกอบรมและเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมขององค์กรอย่างเจาะลึก โดยหัวใจสำคัญของค่ายนี้คือการทำให้พนักงานรู้สึกว่าได้รับการใส่ใจดูแล เคารพซึ่งกันและกัน และทำงานอย่างมืออาชีพ

.

5. การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วส่งผลให้บริษัทต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง “วัฒนธรรมองค์กร” เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

Adobe Kickbox โปรแกรมที่แจกกล่องอุปกรณ์ให้แก่พนักงานทุกคนที่สนใจ ในกล่องนี้จะมีทรัพยากรและเครื่องมือที่ช่วยในการสร้างและทดสอบไอเดียใหม่ๆ และสนับสนุนในการสร้างนวัตกรรมในองค์กร

Microsoft มีกิจกรรม One Week Hackathon ที่จัดขึ้นทุกปี เพื่อให้พนักงานมีโอกาสในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาสิ่งใหม่ในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์

.

การสร้าง “วัฒนธรรมองค์กรยุคดิจิทัล” ต้องการการบริหารจัดการและความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถรับมือกับความท้าทายทั้งหมดเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างบรรยากาศที่เป็นประโยชน์แก่พนักงานและธุรกิจทั้งหมด ซึ่งต้องเริ่มจากการให้ความสำคัญจากผู้บริหารระดับสูง การลงมือปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์จากหน่วยงานต่าง ๆ และการให้ความร่วมมือจากพนักงานทุกคนในองค์กร เพราะวัฒนธรรมไม่ได้เกิดขึ้นจากคนกลุ่มเดียว แต่เป็นเรื่องของพนักงานทุกคนที่มาอยู่ร่วมกันในที่ที่เรียกว่าองค์กร

ตัวอย่างองค์กรในไทยที่ส่งเสริม “วัฒนธรรมองค์กรยุคดิจิทัล”

  1. SCG (บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด)
    SCG เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรไทยที่ให้ความสำคัญกับ วัฒนธรรมการเรียนรู้ (Learning Culture) โดยสนับสนุนพนักงานผ่านโปรแกรมพัฒนาทักษะ เช่น SCG Skills Marketplace ที่ให้พนักงานเลือกอบรมหรือพัฒนาทักษะใหม่ๆ ด้วยตัวเอง ทั้งในเรื่องเทคโนโลยีและทักษะส่วนบุคคล
  2. AIS (แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส)
    AIS มีนโยบาย Flexible Working ที่ช่วยสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวของพนักงาน เช่น การให้พนักงานทำงานแบบ Hybrid และการจัดโปรแกรมสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น “Mind Coaching Program” เพื่อสนับสนุนสุขภาพจิตของพนักงานในช่วงวิกฤต COVID-19 และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
  3. LINE ประเทศไทย
    LINE เป็นตัวอย่างบริษัทที่มี วัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้างและยืดหยุ่น โดยพนักงานสามารถเลือกทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work Anywhere Policy) และส่งเสริมความหลากหลายด้วยการสนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ ภายในองค์กร นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น “LINE HACK 2023” เพื่อกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรม
  4. ธนาคารกสิกรไทย (KBank)
    KBank เป็นตัวอย่างองค์กรที่ปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยส่งเสริม Agile Culture ในการทำงาน เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและยืดหยุ่น นอกจากนี้ยังมีโครงการ “Green DNA” ที่สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนให้กับพนักงาน
  5. Bitkub Capital Group Holdings
    ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนในไทย Bitkub มีนโยบายที่ส่งเสริม การพัฒนาทักษะดิจิทัล ของพนักงานผ่านคอร์สอบรมเกี่ยวกับบล็อกเชนและคริปโตเคอเรนซี พร้อมทั้งสนับสนุนการทำงานในรูปแบบ Remote First

ขอบคุณข้อมูลจาก : Khon At Work

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

generation
จะทำอย่างไร? หากต้อง "ทำงานกับคนต่าง Generation" ที่คิดไม่เหมือนกัน
Generation กับความคิดที่ไม่เหมือนกัน เป็นอย่างไร?ความท้าทายของการทำงานร่วมกับคนที่ต่างอายุ ต่างช่วงวัย หลายครั้งไม่ใช่ความสามารถในการทำงานหรือประสบการณ์ที่มากกว่ากัน...
Bystander Effect
Bystander Effect : สาเหตุที่พนักงานมีความลับแล้วไม่บอกบริษัท
ที่มาของ “ไทยมุง” มัวแต่ยืนดู…แต่ไม่มีใครช่วยสาเหตุที่บริษัทเปลี่ยนแปลงยาก แม้ทุกคนจะรู้หน้าที่พนักงานทุกคนรู้ปัญหาดี แต่ทำไมไม่มีใครพูดเปิดประเด็น?เหตุการณ์น่าเป็นห่วงเหล่านี้มีสาเหตุทางจิตวิทยาเหมือนกันที่เรียกว่า...
Scout Mindset
Scout Mindset : เข้าใจปัญหาด้วยการเฝ้ามองอยู่เงียบ ๆ ห่าง ๆ
เคยสงสัยไหม? ทำไมผู้บริหารบางคนถึงมองปัญหาได้ทะลุปรุโปร่ง “อ่านเกมขาด” ทั้งๆ ที่ดูก็ไม่ได้มีความสามารถเลิศเลอเหนือไปกว่าใคร? แม้ผู้บริหารท่านนั้นไม่ได้มีทักษะพิเศษ...