Clubhouse แอปเปลี่ยนโลก จาก 2 สหายผู้ก่อตั้งและพนักงาน 9 คน

Clubhouse แอปเปลี่ยนโลก
Clubhouse แอปเปลี่ยนโลก โตระเบิดขึ้นแท่นยูนิคอร์น! ยอดผู้ใช้งานแตะ 10 ล้าน ผลการค้นหา “Clubhouse app” เพิ่มขึ้นถึง 3,250% ในเวลาเพียง 3 เดือน
  • แอป Clubhouse เกิดจาก 2 ผู้ก่อตั้งที่เป็นเพื่อนกันมานาน
  • มีพนักงานเริ่มแรกเพียง…9 คน
  • และใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ก็สามารถให้บริการได้แล้ว

จากแอปที่ไม่เป็นที่รู้จัก มีผู้ลงทะเบียนใช้แค่ 1,500 คน ผู้ใช้งานจริงราว 300 คน/วัน ยังไม่มีแม้แต่เว็ปไซต์ของตัวเอง มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท และมีพนักงานทั้งบริษัทแค่ 9 คน แต่มาหลังโควิด อย่างที่เราทราบกัน Clubhouse โตระเบิดขึ้นแท่นยูนิคอร์น! (มูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาท) ยอดผู้ใช้งานแตะ 10 ล้านคน! ผลการค้นหาคีย์เวิร์ด “Clubhouse app” เพิ่มขึ้นถึง 3,250% ในเวลาเพียง 3 เดือน น่าสนใจว่าที่ผ่านมา Clubhouse มีวิธีคิดปั้นองค์กรอย่างไร?

คิดนอกกรอบ

จะสร้างความแตกต่างท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดยังไงได้บ้าง? การคิดแบบเดิมๆ คงสู้เจ้าตลาดที่มีอยู่แล้วไม่ได้แน่ๆ ทีมจึงถูกกระตุ้นให้ “คิดนอกกรอบ” ลองตั้งคำถามกับทุกสิ่ง เช่น ตั้งแต่ด่านแรกเลยว่า จำเป็นไหมที่คนต้องเข้าเล่นแอปได้ ‘เข้าถึงง่าย’ เสมอไป? จึงออกมาเป็น Gimmick การตลาดคือ “Invitation-Only” ต้องถูกเชิญเท่านั้นถึงจะเล่น Clubhouse ได้ เงื่อนไขคือ 1 คนมีโควต้าชวนเพื่อนได้แค่ 2 คน ให้ความรู้สึก Exclusive และเป็น Pre-Experience ก่อนเข้าใช้งานแอป 

ถูกเรียกว่า Gimmick เพราะเมื่อคำนวณดีๆ 1 คนชวนได้ 2 คน / 2 ชวนได้ 4 / 4 ชวนได้ 16 / 16 ชวนได้ 256 / 256 ชวนได้ 65,536 คน…จากจุดเริ่มต้นถ้าทุกคนเชิญไปแค่ 30 รอบ ผลลัพธ์จะทวีคูณไปอยู่ที่หลัก “พันล้านคน” หรือก็คือ ชวนกันไป-ชวนกันมาสุดท้ายแล้วเรา “ทุกคน” จะได้เข้าเล่นแน่นอนไม่ต้องห่วง (ตอนนี้กำลังพัฒนาของ Android อยู่)

มากไปกว่านั้น แอปอื่นๆ ล้วน “ดูย้อนหลัง” ได้ Clubhouse จึงโดดไปอยู่ขั้วตรงข้ามโดยการสนทนาทุกห้องจะ “ไม่มีการบันทึก” จบแล้วจบเลย การคิดนอกกรอบนี้ กลายเป็นเอกลักษณ์ของ Clubhouse ถูกพูดถึงแพร่หลายตามสื่อ สร้างกระแส FOMO กลัวตกเทรนด์ ผู้คนต่างร้องหา “ชวนเข้าแอปหน่อยครับ/ค่ะ” และรีบเข้าฟังห้องที่กำลังเป็น Viral เพราะไม่มีโอกาสกลับมาฟังใหม่

ฟัง แทน มอง

ก่อนพัฒนาแอป 2 คู่หู Co-founder วิเคราะห์ถึงรากฐานพัฒนาการของมนุษย์ เรามักได้ยินคำนี้ “ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน” จะเห็นว่าพัฒนาการของเด็กเล็กจะเริ่มมาจากการ “ฟัง” ก่อน ซึ่งมนุษย์เป็นเหมือนกันหมดไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหน วัฒนธรรมไหนของโลก การฟัง(ที่เชื่อมโยงกับการพูด) น่าจะเป็นความต้องการพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ และเมื่อสังเกตไปรอบตัว Facebook / Instagram / Twitter / YouTube โซเชียลมีเดียที่ครองโลกทุกวันนี้บังคับให้เรา “มอง” หน้าจออยู่ตลอดเวลา (แถมอาจยังต้อง “ถือ” มือถือเพื่อมอง)

การ “ฟัง” ที่เป็นพื้นฐานของคนและแตกต่างจากยักษ์ใหญ่ในตลาดจึงถูกพัฒนาต่อยอด Bilal Zuberi หนึ่งในหุ้นส่วนสำคัญทางธุรกิจ ให้ข้อสังเกตว่านี่เป็นโซเชียลมีเดียเดียวในตอนนี้ที่คุณ “ไม่ต้องมองหน้าจอ” 

“ผมสามารถทำอย่างอื่นไปด้วยขณะฟัง Clubhouse…นั่งอยู่ริมสระว่ายน้ำมองดูลูกๆ เล่นอย่างสนุกสนานขณะฟัง Clubhouse ไปด้วยก็ได้ นี่เป็นประสบการณ์ที่วิเศษ”

แกนหลักคือ Creator 

Clubhouse ให้ความสำคัญที่ Experience มากกว่ายอด Click (จึงไม่มีปุ่ม Like/Comment/Share) และ Creator เป็นกลุ่มคนที่สร้างประสบการณ์ที่ดี ทำให้แอปโตมาถึงทุกวันนี้ได้พวกเค้าสร้างห้องขึ้นมา ชวนเพื่อน จัดทอล์กโชว์พูดคุยประจำทุกอาทิตย์  ล่าสุดเดือนมีนาคม Clubhouse ได้เปิดตัว Creator First Accelerator โปรแกรมที่ช่วยบ่มเพาะเหล่าครีเอเตอร์และเป็นช่องทางสร้างรายได้ในที่สุด โดยเริ่มแรกจะทดลองคัดเลือกทั้งหมด 20 รายมาเข้าร่วม

จะเรียกว่า “โชคดี” (คูณพัน)ก็ได้ เพราะ Elon Musk / Oprah Winfrey / Mark Zuckerberg / Kanye West คนดังระดับโลกโปรโมทแอปนี้ด้วยตัวเอง 2 สัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ (หลังเหล่าคนดังช่วยโปรโมท) ยอดดาวโหลด Clubhouse เพิ่มจาก 3.5 ล้าน สู่ 8.1 ล้านดาวโหลด เมื่อถึงสิ้นเดือนยอดได้แตะ 10 ล้านเป็นที่เรียบร้อย 

ไม่นานนัก แอปก็ได้ดึงดูดกลุ่มคน “Elites” ในแต่ละวงการให้มาร่วมวงสนทนา สร้างประสบการณ์ Exclusive เข้าไปอีก เมื่อคนคนธรรมดาพูดคุยสดๆ กับคนใหญ่คนดังได้  คุณยกมือถามสดๆ ถึงเคล็ดลับการบริหารองค์กรกับผู้ร่วมก่อตั้ง Netflix ในห้องที่เค้าจัดขึ้นด้านบริหารองค์กร ซึ่งในชีวิตจริงมันไม่มีโอกาสเลยที่เราจะได้คุยกับคนระดับนี้ Elites เหล่านี้มาพร้อมผู้ติดตามมหาศาล ตอนนี้ใครอยากให้ห้องมีคนเข้าฟังเยอะๆ “แขกที่ถูกเชิญมาร่วมพูดคุย” จะต้องเป็นคนดังที่มีผู้ติดตามเยอะเป็นทุนเดิม

“Ear + Elite + Exclusive” ทั้ง 3Es นี้รวมกันจนกลายเป็นเสน่ห์อันแตกต่างของ Clubhouse ไปแล้ว

ก้าวต่อไปของ Clubhouse แอปเปลี่ยนโลก

จุดจากเริ่มต้นที่พนักงาน 9 คนนำพาให้แอปยืนหยัดท่ามกลางการโตระเบิด ถึงวันนี้ Clubhouse กำลังเปิดรับสมัครพนักงานเพิ่มแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 3 ทีมหลักได้แก่

  1. ทีม General เช่น ตำแหน่ง General Application
  2. ทีม HR เช่น ตำแหน่ง Recruiting Coordinator
  3. ทีม Trust & Safety เช่น ตำแหน่ง Trust & Safety Specialist

เดือนมีนาคม 2021 Maya Watson “อดีตผู้บริหาร Netflix” (ในวัยเพียง 35!) ถูกแต่งตั้งให้เป็น Global Head of Marketing ของ Clubhouse  เธออยู่เบื้องหลังความสำเร็จด้านผลิตสื่อและช่องทางมีเดียมากมายตลอด 4 ปีที่ Netflix หนึ่งในนั้นคือ Strong Black Lead แบรนด์ภายใต้ Netflix ที่ประสบความสำเร็จล้นหลามสร้างชื่อเสียงให้เธอในด้าน Diversity การมาคุมบังเหียนด้านการตลาดให้ Clubhouse เราคงจะได้เห็นอะไรน่าสนใจต่อจากนี้อีกแน่นอน..

หางเป็นไงให้ดูที่ “หัว”

ยึดประสบการณ์ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง จะทำอะไรให้คิดก่อนว่าท้ายที่สุดคนจะ “รู้สึก” อย่างไร? นี่ไม่ใช่คำพูดสวยหรูที่มาจากฝั่ง HR หรือทีม PR แต่มาจากปากผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสองเองเลย โดย Paul Davidson และ Rohan Seth เป็นเพื่อนกันมาก่อน 

  • Paul Davison เป็นนักพัฒนาและนักลงทุน
  • Rohan Seth เป็นอดีตวิศวกร Google

ทั้งคู่ต่างทำงานในวงการ Social App มาตั้งแต่ปี 2011 เคยสร้าง Social App แต่ล้มเหลวมาถึง 9 ครั้ง! กาลเวลาผ่านไป ประสบการณ์กว่าทศวรรษมอบบทเรียนให้พวกเขา รวมถึงอายุที่เริ่มเป็นวัยกลางคน ในปี 2019 ทั้งคู่จึงตัดสินใจลองสร้างแอปใหม่(เป็นครั้งสุดท้าย) ที่มีชื่อว่า Clubhouse โดยมีแก่นว่ามันต้อง “มีความเป็นมนุษย์” (Felt more human) มากกว่าแอปอื่นที่มีอยู่ในท้องตลาด และมนุษย์นั้น สุดท้ายเมื่อเจอหน้าเราก็ต้อง “พูดคุย” กัน

  • เมื่อคุณต้องการแสดงความคิดเห็นใน Facebook…คุณพิมพ์ Comment
  • เมื่อคุณต้องการแสดงความคิดเห็นใน Clubhouse…คุณแค่พูดมันออกมา และเป็นปฏิสัมพันธ์แบบ Real-time

ทั้งคู่เชื่อใน The Power of Voice และยึดจุดนี้เป็นเสาหลักของแอป จึง “ตัด” ฟีเจอร์อื่นทิ้งไปให้หมด (เอาแค่ “ฟัง+พูด”) โดยเป้าหมายคือ หลังจากคุณออกจากแอป ต้อง “รู้สึกดีกว่า” ตอนที่คุณเข้าแอปมา ได้มิตรภาพที่แน่นแฟ้นขึ้น ได้พบเจอผู้คนใหม่ๆ และได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง บริษัทยังเชื่อในคุณค่า “Diversity & Inclusion” มาตั้งแต่ Day1 อย่างในการเปิดรับสมัครงานเพิ่ม Message หนึ่งที่เน้นย้ำบ่อยครั้งคือ “Everyone is welcome.” ยินดีต้อนรับทุกคนนะ คุณไม่ได้จบมหาลัยฯดังไม่เป็นไรลองส่งมาก่อน 

Paul และ Rohan เชื่อว่าโลกเราทุกวันนี้ไม่มีวัฒนธรรมเดียว (Monoculture) อีกต่อไปแล้ว สะท้อนมาถึงประสบการณ์การใช้งาน ห้องสนทนาไหนที่ผู้ฟังยิ่งมาจากหลากหลายกลุ่มมากเท่าไร ยิ่งมีการตกผลึกทางความคิดมากเท่านั้น (และยิ่งทำให้คนอยากใช้ Clubhouse ต่อไป) อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ องค์กรนี้โอบกอด “ความไม่รู้” ในการรับสมัครคนเพิ่ม ถึงกับเขียนประกาศชัดเลยว่า คุณต้องเป็นพวกสบายใจกับความไม่รู้และตื่นเต้นไปกับการค้นหาคำตอบ พร้อมแก้ปัญหาที่ไม่คาดคิดในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเร็วอยู่ตลอด

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa ได้เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ และหลงรักไปกับมันในทุกๆ วัน! >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/


อ้างอิง

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

การตั้งชื่อ
Assigning Name : คำใหม่ กรอบใหม่ ชีวิตใหม่
Economy , Business Class , First Class ///4P: Product – Price – Place – Promotion ///London bus VS. The Routemaster ///new Coke VS. Coca-Cola classic นี่คือตัวอย่างของพลังการ...
Burnout
สัญญาณ Burnout : ทำไมการ ‘พร้อมเพื่อทุกคน’ อาจทำร้ายคุณ?
ในยุคที่ทุกอย่างเป็น “Always on” หรือพร้อมทำงานตลอดเวลา อาการ Burnout กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในกลุ่มคนทำงานโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะสำหรับคนที่มักจะ...
Perfectionist
ความเป็น Perfectionist อาจทำลายชีวิตของคุณ พร้อมวิธีแก้ไขและรับมือ
คุณเคยรู้สึกไหมว่ารู้ว่าควรทำอะไร แต่ก็ไม่ลงมือทำสักที ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งรู้สึกแย่? พฤติกรรมนี้อาจเป็นผลมาจากความเป็น Perfectionist...