Clubhouse แอปเปลี่ยนโลก จาก 2 สหายผู้ก่อตั้งและพนักงาน 9 คน

Clubhouse แอปเปลี่ยนโลก
Clubhouse แอปเปลี่ยนโลก โตระเบิดขึ้นแท่นยูนิคอร์น! ยอดผู้ใช้งานแตะ 10 ล้าน ผลการค้นหา “Clubhouse app” เพิ่มขึ้นถึง 3,250% ในเวลาเพียง 3 เดือน
  • แอป Clubhouse เกิดจาก 2 ผู้ก่อตั้งที่เป็นเพื่อนกันมานาน
  • มีพนักงานเริ่มแรกเพียง…9 คน
  • และใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ก็สามารถให้บริการได้แล้ว

จากแอปที่ไม่เป็นที่รู้จัก มีผู้ลงทะเบียนใช้แค่ 1,500 คน ผู้ใช้งานจริงราว 300 คน/วัน ยังไม่มีแม้แต่เว็ปไซต์ของตัวเอง มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท และมีพนักงานทั้งบริษัทแค่ 9 คน แต่มาหลังโควิด อย่างที่เราทราบกัน Clubhouse โตระเบิดขึ้นแท่นยูนิคอร์น! (มูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาท) ยอดผู้ใช้งานแตะ 10 ล้านคน! ผลการค้นหาคีย์เวิร์ด “Clubhouse app” เพิ่มขึ้นถึง 3,250% ในเวลาเพียง 3 เดือน น่าสนใจว่าที่ผ่านมา Clubhouse มีวิธีคิดปั้นองค์กรอย่างไร?

คิดนอกกรอบ

จะสร้างความแตกต่างท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดยังไงได้บ้าง? การคิดแบบเดิมๆ คงสู้เจ้าตลาดที่มีอยู่แล้วไม่ได้แน่ๆ ทีมจึงถูกกระตุ้นให้ “คิดนอกกรอบ” ลองตั้งคำถามกับทุกสิ่ง เช่น ตั้งแต่ด่านแรกเลยว่า จำเป็นไหมที่คนต้องเข้าเล่นแอปได้ ‘เข้าถึงง่าย’ เสมอไป? จึงออกมาเป็น Gimmick การตลาดคือ “Invitation-Only” ต้องถูกเชิญเท่านั้นถึงจะเล่น Clubhouse ได้ เงื่อนไขคือ 1 คนมีโควต้าชวนเพื่อนได้แค่ 2 คน ให้ความรู้สึก Exclusive และเป็น Pre-Experience ก่อนเข้าใช้งานแอป 

ถูกเรียกว่า Gimmick เพราะเมื่อคำนวณดีๆ 1 คนชวนได้ 2 คน / 2 ชวนได้ 4 / 4 ชวนได้ 16 / 16 ชวนได้ 256 / 256 ชวนได้ 65,536 คน…จากจุดเริ่มต้นถ้าทุกคนเชิญไปแค่ 30 รอบ ผลลัพธ์จะทวีคูณไปอยู่ที่หลัก “พันล้านคน” หรือก็คือ ชวนกันไป-ชวนกันมาสุดท้ายแล้วเรา “ทุกคน” จะได้เข้าเล่นแน่นอนไม่ต้องห่วง (ตอนนี้กำลังพัฒนาของ Android อยู่)

มากไปกว่านั้น แอปอื่นๆ ล้วน “ดูย้อนหลัง” ได้ Clubhouse จึงโดดไปอยู่ขั้วตรงข้ามโดยการสนทนาทุกห้องจะ “ไม่มีการบันทึก” จบแล้วจบเลย การคิดนอกกรอบนี้ กลายเป็นเอกลักษณ์ของ Clubhouse ถูกพูดถึงแพร่หลายตามสื่อ สร้างกระแส FOMO กลัวตกเทรนด์ ผู้คนต่างร้องหา “ชวนเข้าแอปหน่อยครับ/ค่ะ” และรีบเข้าฟังห้องที่กำลังเป็น Viral เพราะไม่มีโอกาสกลับมาฟังใหม่

ฟัง แทน มอง

ก่อนพัฒนาแอป 2 คู่หู Co-founder วิเคราะห์ถึงรากฐานพัฒนาการของมนุษย์ เรามักได้ยินคำนี้ “ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน” จะเห็นว่าพัฒนาการของเด็กเล็กจะเริ่มมาจากการ “ฟัง” ก่อน ซึ่งมนุษย์เป็นเหมือนกันหมดไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหน วัฒนธรรมไหนของโลก การฟัง(ที่เชื่อมโยงกับการพูด) น่าจะเป็นความต้องการพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ และเมื่อสังเกตไปรอบตัว Facebook / Instagram / Twitter / YouTube โซเชียลมีเดียที่ครองโลกทุกวันนี้บังคับให้เรา “มอง” หน้าจออยู่ตลอดเวลา (แถมอาจยังต้อง “ถือ” มือถือเพื่อมอง)

การ “ฟัง” ที่เป็นพื้นฐานของคนและแตกต่างจากยักษ์ใหญ่ในตลาดจึงถูกพัฒนาต่อยอด Bilal Zuberi หนึ่งในหุ้นส่วนสำคัญทางธุรกิจ ให้ข้อสังเกตว่านี่เป็นโซเชียลมีเดียเดียวในตอนนี้ที่คุณ “ไม่ต้องมองหน้าจอ” 

“ผมสามารถทำอย่างอื่นไปด้วยขณะฟัง Clubhouse…นั่งอยู่ริมสระว่ายน้ำมองดูลูกๆ เล่นอย่างสนุกสนานขณะฟัง Clubhouse ไปด้วยก็ได้ นี่เป็นประสบการณ์ที่วิเศษ”

แกนหลักคือ Creator 

Clubhouse ให้ความสำคัญที่ Experience มากกว่ายอด Click (จึงไม่มีปุ่ม Like/Comment/Share) และ Creator เป็นกลุ่มคนที่สร้างประสบการณ์ที่ดี ทำให้แอปโตมาถึงทุกวันนี้ได้พวกเค้าสร้างห้องขึ้นมา ชวนเพื่อน จัดทอล์กโชว์พูดคุยประจำทุกอาทิตย์  ล่าสุดเดือนมีนาคม Clubhouse ได้เปิดตัว Creator First Accelerator โปรแกรมที่ช่วยบ่มเพาะเหล่าครีเอเตอร์และเป็นช่องทางสร้างรายได้ในที่สุด โดยเริ่มแรกจะทดลองคัดเลือกทั้งหมด 20 รายมาเข้าร่วม

จะเรียกว่า “โชคดี” (คูณพัน)ก็ได้ เพราะ Elon Musk / Oprah Winfrey / Mark Zuckerberg / Kanye West คนดังระดับโลกโปรโมทแอปนี้ด้วยตัวเอง 2 สัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ (หลังเหล่าคนดังช่วยโปรโมท) ยอดดาวโหลด Clubhouse เพิ่มจาก 3.5 ล้าน สู่ 8.1 ล้านดาวโหลด เมื่อถึงสิ้นเดือนยอดได้แตะ 10 ล้านเป็นที่เรียบร้อย 

ไม่นานนัก แอปก็ได้ดึงดูดกลุ่มคน “Elites” ในแต่ละวงการให้มาร่วมวงสนทนา สร้างประสบการณ์ Exclusive เข้าไปอีก เมื่อคนคนธรรมดาพูดคุยสดๆ กับคนใหญ่คนดังได้  คุณยกมือถามสดๆ ถึงเคล็ดลับการบริหารองค์กรกับผู้ร่วมก่อตั้ง Netflix ในห้องที่เค้าจัดขึ้นด้านบริหารองค์กร ซึ่งในชีวิตจริงมันไม่มีโอกาสเลยที่เราจะได้คุยกับคนระดับนี้ Elites เหล่านี้มาพร้อมผู้ติดตามมหาศาล ตอนนี้ใครอยากให้ห้องมีคนเข้าฟังเยอะๆ “แขกที่ถูกเชิญมาร่วมพูดคุย” จะต้องเป็นคนดังที่มีผู้ติดตามเยอะเป็นทุนเดิม

“Ear + Elite + Exclusive” ทั้ง 3Es นี้รวมกันจนกลายเป็นเสน่ห์อันแตกต่างของ Clubhouse ไปแล้ว

ก้าวต่อไปของ Clubhouse แอปเปลี่ยนโลก

จุดจากเริ่มต้นที่พนักงาน 9 คนนำพาให้แอปยืนหยัดท่ามกลางการโตระเบิด ถึงวันนี้ Clubhouse กำลังเปิดรับสมัครพนักงานเพิ่มแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 3 ทีมหลักได้แก่

  1. ทีม General เช่น ตำแหน่ง General Application
  2. ทีม HR เช่น ตำแหน่ง Recruiting Coordinator
  3. ทีม Trust & Safety เช่น ตำแหน่ง Trust & Safety Specialist

เดือนมีนาคม 2021 Maya Watson “อดีตผู้บริหาร Netflix” (ในวัยเพียง 35!) ถูกแต่งตั้งให้เป็น Global Head of Marketing ของ Clubhouse  เธออยู่เบื้องหลังความสำเร็จด้านผลิตสื่อและช่องทางมีเดียมากมายตลอด 4 ปีที่ Netflix หนึ่งในนั้นคือ Strong Black Lead แบรนด์ภายใต้ Netflix ที่ประสบความสำเร็จล้นหลามสร้างชื่อเสียงให้เธอในด้าน Diversity การมาคุมบังเหียนด้านการตลาดให้ Clubhouse เราคงจะได้เห็นอะไรน่าสนใจต่อจากนี้อีกแน่นอน..

หางเป็นไงให้ดูที่ “หัว”

ยึดประสบการณ์ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง จะทำอะไรให้คิดก่อนว่าท้ายที่สุดคนจะ “รู้สึก” อย่างไร? นี่ไม่ใช่คำพูดสวยหรูที่มาจากฝั่ง HR หรือทีม PR แต่มาจากปากผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสองเองเลย โดย Paul Davidson และ Rohan Seth เป็นเพื่อนกันมาก่อน 

  • Paul Davison เป็นนักพัฒนาและนักลงทุน
  • Rohan Seth เป็นอดีตวิศวกร Google

ทั้งคู่ต่างทำงานในวงการ Social App มาตั้งแต่ปี 2011 เคยสร้าง Social App แต่ล้มเหลวมาถึง 9 ครั้ง! กาลเวลาผ่านไป ประสบการณ์กว่าทศวรรษมอบบทเรียนให้พวกเขา รวมถึงอายุที่เริ่มเป็นวัยกลางคน ในปี 2019 ทั้งคู่จึงตัดสินใจลองสร้างแอปใหม่(เป็นครั้งสุดท้าย) ที่มีชื่อว่า Clubhouse โดยมีแก่นว่ามันต้อง “มีความเป็นมนุษย์” (Felt more human) มากกว่าแอปอื่นที่มีอยู่ในท้องตลาด และมนุษย์นั้น สุดท้ายเมื่อเจอหน้าเราก็ต้อง “พูดคุย” กัน

  • เมื่อคุณต้องการแสดงความคิดเห็นใน Facebook…คุณพิมพ์ Comment
  • เมื่อคุณต้องการแสดงความคิดเห็นใน Clubhouse…คุณแค่พูดมันออกมา และเป็นปฏิสัมพันธ์แบบ Real-time

ทั้งคู่เชื่อใน The Power of Voice และยึดจุดนี้เป็นเสาหลักของแอป จึง “ตัด” ฟีเจอร์อื่นทิ้งไปให้หมด (เอาแค่ “ฟัง+พูด”) โดยเป้าหมายคือ หลังจากคุณออกจากแอป ต้อง “รู้สึกดีกว่า” ตอนที่คุณเข้าแอปมา ได้มิตรภาพที่แน่นแฟ้นขึ้น ได้พบเจอผู้คนใหม่ๆ และได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง บริษัทยังเชื่อในคุณค่า “Diversity & Inclusion” มาตั้งแต่ Day1 อย่างในการเปิดรับสมัครงานเพิ่ม Message หนึ่งที่เน้นย้ำบ่อยครั้งคือ “Everyone is welcome.” ยินดีต้อนรับทุกคนนะ คุณไม่ได้จบมหาลัยฯดังไม่เป็นไรลองส่งมาก่อน 

Paul และ Rohan เชื่อว่าโลกเราทุกวันนี้ไม่มีวัฒนธรรมเดียว (Monoculture) อีกต่อไปแล้ว สะท้อนมาถึงประสบการณ์การใช้งาน ห้องสนทนาไหนที่ผู้ฟังยิ่งมาจากหลากหลายกลุ่มมากเท่าไร ยิ่งมีการตกผลึกทางความคิดมากเท่านั้น (และยิ่งทำให้คนอยากใช้ Clubhouse ต่อไป) อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ องค์กรนี้โอบกอด “ความไม่รู้” ในการรับสมัครคนเพิ่ม ถึงกับเขียนประกาศชัดเลยว่า คุณต้องเป็นพวกสบายใจกับความไม่รู้และตื่นเต้นไปกับการค้นหาคำตอบ พร้อมแก้ปัญหาที่ไม่คาดคิดในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเร็วอยู่ตลอด

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa ได้เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ และหลงรักไปกับมันในทุกๆ วัน! >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/


อ้างอิง

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

คำทรงพลัง

ใช้ “คำทรงพลัง” ให้เป็น…การงานโตระเบิด!!

จากแม่บ้านโรคซึมเศร้า สู่เจ้าของ Auntie Anne’s

ไปเดตกันไหมครับ VS. ผมรู้จักพาสต้าอร่อยมากอยู่ร้านนึง ไปทานด้วยกันไหมครับ

ครัวซองค์ร้านอื่นธรรมดาไปเลย…เมื่อมาเจอครัวซองค์แสนอร่อยของร้านนี้”

บริหารคนในองค์กรให้เหมือนทีมฟุตบอล

เรื่องนี้มีแค่คุณเท่านั้นนะครับที่จะได้รู้

Toxic Productivity

Toxic Productivity : คลั่งโปรดักทีฟเกินไป อาจพาชีวิตพัง

ทุกสิ่งบนโลกใบนี้มีจุดสมดุล (Equilibrium) อะไรที่ “มากเกินไป” สุดท้ายจะย้อนกลับมาทำร้ายเรา เคสของ Toxic Productivity ก็เช่นกัน การทำงานก็เช่นกัน…ถ้าทำหนักเกินไป ใจจดจ่ออยู่กับมันทุกวินาทีเสมือนมันคือชีวิตทั้งหมดของเรา ย่อมส่งผลเสียมากกว่าผลดี เราเรียกมันว่า “Toxic Productivity” ภัยเงียบที่คุณไม่รู้ตัว  เพราะโลกธุรกิจเราโอบกอดระบบทุนนิยม โดยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง (Perpetual Growth) เป็นหมุดหมายที่ทุกองค์กรต้องทำให้ได้ การสร้างผลผลิต (Productivity) ให้ได้มากที่สุดจึงเป็นของคู่กัน  แถมในมุมของนายจ้าง ก็ต้องการใช้งานพนักงานให้คุ้มค่าที่สุด (Maximize capacity) แต่การหมกมุ่นโปรดักทีฟเกินไป นำไปสู่ Toxic Productivity ซึ่งอาจมาในรูปแบบของ หรือกำลังนั่งอยู่บนโซฟาเล่นกับลูกที่ยังเล็กอยู่ และเผลอมองนาฬิกาเพื่อดูว่า “มีเวลาเหลืออีกกี่นาที”  ในการได้เล่น…ถ้าถึงขั้นนั้นคุณอาจต้องหันกลับมาพิจารณาวิธีการทำงานใหม่ได้แล้ว และในแง่ตัวเลข ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของพนักงานอาจพุ่งไปสูงถึง 80-90 ชม./สัปดาห์ จะดีกว่าไหมถ้าทำงานอย่างสมดุลพอเหมาะ…โดยยังรักษาสุขภาพ / ความสัมพันธ์ / สังคม / หรือการได้เดินตามความฝันของตัวเอง ผลวิจัยมากมายยังระบุไปในทางเดียวกันว่า Toxic Productivity ยังเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของ Burnout Syndrome อาการหมดไฟในการทำงานของชาวอเมริกัน สัญญาณของ Toxic Productivity ? เมื่องานหนึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง แทบ “ไม่มีการเฉลิมฉลอง” ขอบคุณให้กำลังใจ แต่กลับตั้งเป็นมาตรฐานใหม่ ทุกคนโอเครับรู้แล้วก็รีบกลับไปทำงานต่อ เพื่อให้มาตรฐานสูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาพักผ่อน (หรือควรพักได้แล้ว) กลับยังเสพเนื้อหาเกี่ยวกับงาน (เช่น อ่านรายงาน) ราวกับไม่ยอมให้สมองได้หยุดพักแม้ครู่เดียว หรือไปชงกาแฟมาดื่มเพื่อเตรียมลุยงานต่อ กิจกรรมผ่อนคลายเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้เพิ่ม Productivity ทางตรง แต่หวังกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทีม…ถูกมองเป็น “ค่าเสียโอกาส” (และเสียเวลา) ไปซะหมด ไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องพยายามเสแสร้งทำตัวเป็นคนขยัน ยุ่ง เร่งรีบอยู่ตลอดเวลา เพราะเดี๋ยวถูกมองว่าเอื่อยเฉื่อยไม่โปรดักทีฟ หรือความรู้สึก “กลัววันจันทร์” ที่แว่บเข้ามาเพราะกลับไปประสบกับวงจรเดิม เราจะป้องกัน Toxic Productivity ได้อย่างไร ? ผู้นำองค์กรสามารถออกแบบนโยบายการทำงานที่จำกัดเวลาการทำงานของพนักงานอย่างเข้มงวด เช่น ไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรืออาจสร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กร เช่น ไม่มีการทำ OT แบบวัฒนธรรมการทำงานของชาวเยอรมันส่วนใหญ่ ประเด็นนี้ ภาครัฐก็มีส่วนเกี่ยวข้องไม่น้อย เช่น รัฐบาลเยอรมันมีแผนที่จะออกกฎหมาย “ห้ามบริษัทส่ง Email เรื่องงานหลัง 6 โมงเย็น” บริษัทใดที่ทำจะมีความผิดตามกฎหมาย และพนักงานคนนั้นจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย…ซึ่งน่าจะช่วยลด Toxic Productivity ได้ไม่มากก็น้อย ข้างนอกจะเปลี่ยนได้…ข้างในต้องเปลี่ยนก่อน มันอาจไม่แฟร์เลยที่จะนำเรื่องงานมา “กำหนดคุณค่า” ในชีวิต เพราะชีวิตมีหลายด้าน Adam Grant นักจิตวิทยาชื่อดังชาวอเมริกันเตือนสติว่า ให้แยกระหว่าง “การกระทำของคุณ VS. ตัวตนของคุณ” ตัวตนของคุณคือสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ไม่มีอะไรมาเทียบเท่าได้ อย่าให้การกระทำมาปะปนกับเรื่องนี้ “งานไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต” คำนี้ยังคงเป็นจริงไม่น้อยในหลายบริบท นอกจากนี้ เราอาจปรับเปลี่ยนเป้าหมายและความคาดหวังใหม่ให้สอดคล้องกับโลกความจริงหรือสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนไปแล้วก็ช่วยได้ไม่น้อย ต้องไม่ลืมว่า “คนรอบตัว” ก็ช่วยเราได้มากกว่าที่คิด ควรเปิดใจและหาโอกาสพูดคุยให้มากๆ เพราะบางครั้งเป็นคุณเองที่เริ่มข้ามเส้นเอาการงานมาปะปนกับชีวิตส่วนตัว เช่น ยกเลิกนัดรวมกลุ่มเพื่อนสนิทติดต่อกันถึง 3 รอบเพราะเรื่องงาน เชื่อเลยว่าเพื่อนสนิทของคุณไม่มีใครโอเคกับเรื่องนี้แน่นอน จะลุยงานหนักได้…ร่างกายต้องพร้อม อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองโดยการตั้ง แผนการออกกำลังกายที่ประนีประนอมไม่ได้ (Uncompromised Workout) เช่น วิ่งสัปดาห์ละ 3 วันๆ ละ 45 นาทีอย่างต่ำ แม้มีงานหนักแค่ไหน ก็ต้องเจียดเวลาให้กับกิจกรรมนี้ Elizabeth Blackburn ผู้ได้รับรางวัลโนเบลด้านการแพทย์และผู้เขียนหนังสือ The Telomere Effect เผยข้อเท็จจริงที่ฟังดูย้อนแย้งว่า  “เวลาที่คุณควรออกกำลังกายมากที่สุด คือ เวลาที่คุณรู้สึกไม่อยากออก” เพราะทุกครั้งที่ออกกำลังกาย จะเกิดการหลั่งสารเอ็นโดรฟินซึ่งเป็นสารที่เรารู้จักในชื่อ “สารแห่งความสุข” คุณจะรู้สึกผ่อนคลาย สมองไหลลื่นโล่งปลอดโปร่ง พร้อมกลับมาลุยงานใหม่ในเวอร์ชั่นที่ฟิตกว่าเดิม  และสารนี้เองที่หลั่งขณะออกกำลังกาย จะยิ่งทำให้เรารู้สึกอยากออกกำลังกายมากขึ้น…วนลูปวงจรด้านบวก . . สุดท้ายแล้ว ความขยัน-ความโปรดักทีฟเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีในการเติบโตขององค์กร เพียงแต่เราต้องหา “จุดสมดุล” ให้เจอ หาทางควบคุมตัวเอง รู้ลิมิตตัวเอง บางที การเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่หวือหวาแต่มั่นคง พร้อมๆ กับมีความสุขในการทำงาน…น่าจะเป็นจุดสมดุลที่หลายคนมองหาจริงๆ . . ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ จะได้ทำงานอย่างมีความสุขในทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/ ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/ อ้างอิง Author CareerVisa Team รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน Post Views: 76