ไม่ว่าจะองค์กรไหนก็ตาม ย่อมต้องมีการตั้งเป้าหมายและติดตามผลงานของพนักงาน ซึ่งแต่ละองค์กรก็มีรูปแบบการตั้งเป้าหมายที่แตกต่างกัน มี Template การใช้ที่ไม่เหมือนกันแล้วแต่ว่าองค์กรนั้นเหมาะกับการตั้งเป้าหมายแบบไหน OKR ก็เป็นอีกหนึ่ง Pattern ของการตั้งเป้าหมายในองค์กร และมีความแตกต่างที่น่าสนใจจากการตั้งเป้าหมายรูปแบบอื่นๆ วันนี้ CareerVisa จะมาอธิบายและให้ทุกคนได้ทำความรู้จัก OKR ให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้สามารถเลือกไปใช้พัฒนาองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้
OKR คืออะไร ?
OKRs ย่อมาจาก Objectives and Key Results หรือที่แปลง่ายๆ ว่า “วัตถุประสงค์และผลลัพธ์หลัก เป็นรูปแบบการตั้งเป้าหมายและติดตามผลที่หลากหลายองค์กรเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระดับโลกอย่าง Google, Intel, LinkedIn และ Netflix เป็นต้น
ซึ่งแนวคิดการวัดผลแบบ OKR เคยถูกคิดว่าเหมาะสมกับแค่ Startup เท่านั้น แต่จริงๆ แล้ววิธีนี้ถูกใช้มาอย่างยาวนานแล้วริเริ่มตั้งแต่องค์กร Intel ในปี 1975 โดย Andy Grove ก่อนที่รูปแบบการวัดผล OKR จะถูกเลือกใช้อย่างแพร่หลายในหลายองค์กรดังมากยิ่งขึ้น
มากไปกว่านั้น Objectives and Key Results จะเป็นการวัดเป้าหมายอย่างละเอียด ซึ่งมีความแตกต่างจากการวัดเป้าหมายในรูปแบบอื่นๆ อยู่พอสมควร เนื่องจากการตั้ง OKR จะไม่ใช่แค่การตั้งเป้าหมายเป็นชิ้นๆ ให้สำเร็จไป แต่จะเป็นการตั้งเป้าหมายให้เกินตัวขึ้นไปอีกเพื่อที่จะได้ทำให้เกิดการเติบโตและพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไม OKR ถึงเป็นที่นิยมอย่างมากในองค์กร Startup เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา
หลักการตั้งเป้าหมาย OKR
OKRs (Objectives and Key Results) คือระบบตั้งเป้าหมายที่ช่วยให้พนักงานทุกคนมุ่งไปในทิศทางเดียวกับองค์กรอย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพ โดยการตั้ง OKR ที่ดี ควรทำตามหลักการง่ายๆ ดังนี้:
- กำหนด Objective ไม่เกิน 5 ข้อ
ควรเลือกเป้าหมายที่สำคัญที่สุดและมุ่งเน้นในแต่ละไตรมาส เพื่อให้ทีมสามารถโฟกัสได้อย่างเต็มที่ - ตั้ง Key Results ไม่เกิน 5 ข้อ
Key Results (KR) คือผลลัพธ์ที่ต้องการเพื่อวัดความสำเร็จของ Objective ควรกำหนดให้น้อยและชัดเจน เพื่อการติดตามผลที่ง่ายขึ้น - ตั้ง Objective ให้ท้าทาย
เป้าหมายที่ตั้งควรเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้พนักงานก้าวข้ามขีดจำกัดและพัฒนาตัวเอง แต่ยังคงเชื่อมโยงกับความสำเร็จขององค์กร - Key Results ต้องวัดผลได้
KR ควรมีเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น ตัวเลขหรือผลลัพธ์ที่สามารถประเมินได้ และต้องเชื่อมโยงโดยตรงกับ Objective - สร้างความสมดุลระหว่างความท้าทายและความเป็นไปได้
แม้จะตั้งเป้าหมายให้ท้าทาย แต่ก็ควรอยู่ในระดับที่เป็นไปได้จริง เพื่อสร้างแรงจูงใจ ไม่ทำให้พนักงานรู้สึกกดดันจนเกินไป
ตัวอย่างการเขียน OKRs ของแต่ละแผนก
การตั้ง OKRs สามารถปรับใช้ได้กับทุกแผนกในองค์กร เพื่อให้เป้าหมายของแต่ละส่วนงานเชื่อมโยงและสนับสนุนเป้าหมายหลักขององค์กร ตัวอย่าง OKRs ของแต่ละแผนกมีดังนี้:
- แผนกการตลาด (Marketing)
Objective: เพิ่มการรับรู้ในแบรนด์ (Brand Awareness)- Key Result 1: เพิ่มยอดผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย 20% ภายในไตรมาสที่ 1
- Key Result 2: เปิดตัวแคมเปญการตลาด 3 แคมเปญในไตรมาสถัดไป
- Key Result 3: เพิ่มอัตราการมีส่วนร่วม (Engagement Rate) บนโซเชียลมีเดียเป็น 15%
- แผนกทรัพยากรบุคคล (HR)
Objective: ยกระดับประสบการณ์พนักงาน (Employee Experience)- Key Result 1: เพิ่มคะแนนความพึงพอใจของพนักงาน (Employee Satisfaction) เป็น 85% ในการสำรวจครั้งหน้า
- Key Result 2: จัดอบรมพัฒนาทักษะ 3 หลักสูตรให้พนักงานภายใน 6 เดือน
- Key Result 3: ลดอัตราการลาออกของพนักงานลง 10% ภายในสิ้นปี
- แผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development)
Objective: ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์- Key Result 1: ลดอัตราความผิดพลาด (Bug Rate) ของซอฟต์แวร์ลง 20% ภายในไตรมาสหน้า
- Key Result 2: เพิ่มความเร็วในการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ลดเวลานำส่ง (Time to Market) เหลือ 3 เดือน
- Key Result 3: ได้รับคะแนนรีวิวผลิตภัณฑ์เฉลี่ยจากลูกค้า 4.5/5
- แผนกฝ่ายขาย (Sales)
Objective: เพิ่มยอดขายและการปิดการขาย- Key Result 1: เพิ่มยอดขายรายเดือนขึ้น 25% ภายในไตรมาสนี้
- Key Result 2: ขยายฐานลูกค้าใหม่ 15 รายต่อเดือน
- Key Result 3: ลดระยะเวลาเฉลี่ยในการปิดการขายลง 10%
- แผนกไอที (IT)
Objective: ปรับปรุงโครงสร้างระบบให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงขึ้น- Key Result 1: ลด Downtime ของระบบให้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อเดือน
- Key Result 2: เพิ่มความเร็วในการแก้ไขปัญหาทางเทคนิค ลดเวลาเฉลี่ยเหลือ 2 ชั่วโมง
- Key Result 3: ผ่านการตรวจสอบระบบความปลอดภัยประจำปีโดยไม่มีข้อผิดพลาด
จากตัวอย่าง การตั้งวัตถุประสงค์คือการเพิ่มยอดขายให้สินค้า ซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงคุณภาพ ในขณะเดียวกันผลลัพธ์หรือ Key Result ควรเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้และนำไปสู่การทำเป้าหมายให้สำเร็จ จึงต้องมีการตั้งค่าที่วัดผลได้ และมีระยะเวลาชัดเจน
ประโยชน์ของ OKR ที่มีต่อองค์กร
1. สร้างแรงผลักดันให้พนักงานได้พัฒนาตัวเอง
เพราะแนวคิดแบบ OKRs เป็นการตั้งเป้าหมายที่เกินตัวขึ้นไปอีก จึงถือว่าเป็นการผลักดันให้เกิดการพัฒนาตัวเองขั้นสูงสุด และถ้าหากพนักงานสามารถำเป้าหมายนี้ได้สำเร็จ ก็จะสามารถเป็นคนที่เก่งและมีประสิทธิภาพขึ้นไปอีกระดับขึ้นหนึ่งเลยทีเดียว
2. มองเห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
เมื่อเกิดปัญหาในกระบวนการทำงาน ผู้บริหารสามารถวิเคราะห์คะแนน Objectives and Key Results เพื่อหาแนวทางแก้ไข โดยดูจากตัวเลขว่างานส่วนใดควรปรับปรุง และส่วนใดทำได้ดีอยู่แล้ว
3. พนักงานกับองค์กรพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
Objectives and Key Results ที่ดีจะช่วยให้ทุกระดับในองค์กรพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน โดยเชื่อมโยงเป้าหมายตั้งแต่ระดับบุคคลที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพ ไปจนถึงเป้าหมายระดับทีม เช่น การทำโปรเจกต์ และเป้าหมายระดับองค์กร ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ
ตัวอย่างองค์กรที่ใช้การตั้งเป้าหมายแบบ OKR
1. Google
- มุ่งเน้น OKRs ที่มีความทะเยอทะยาน (Stretch Goals) ครอบคลุมถึงนวัตกรรม เทคโนโลยี AI และการขยายการเข้าถึงบริการ
2. Intel
- มุ่งเน้น OKRs ที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาเทคโนโลยีชิป และการแข่งขันในตลาด
3. LinkedIn
- มุ่งเน้นการตั้งเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของผู้ใช้งาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และการเพิ่มรายได้
แม้ OKRs จะเป็นเครื่องมือวัดผลที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่การทำความเข้าใจหลักการของ OKRs อย่างถ่องแท้เป็นสิ่งสำคัญ หากองค์กรนำไปใช้อย่างถูกต้อง จะส่งผลดีและเพิ่มคุณค่าให้กับองค์กรอย่างแน่นอน
OKRs vs KPIs : ความแตกต่างที่คุณควรรู้
1. จุดประสงค์
- OKRs: เน้นที่การเติบโต การพัฒนา และการสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ เป้าหมายจะถูกตั้งให้มีความท้าทายเพื่อกระตุ้นการพัฒนาทั้งระดับบุคคล ทีม และองค์กร
- KPIs: ใช้สำหรับติดตามและวัดผลการดำเนินงานที่เฉพาะเจาะจงตามเป้าหมายธุรกิจที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
2. ลักษณะการใช้งาน
- OKRs:
- มุ่งเน้นเป้าหมายระยะสั้น เช่น รายไตรมาส
- เชื่อมโยงเป้าหมายระดับองค์กรและบุคคล
- มีลักษณะยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์
- KPIs:
- เป็นตัวชี้วัดที่ใช้ในระยะยาว เช่น ประจำปี
- วัดผลเฉพาะตัวชี้วัดที่มีผลต่อธุรกิจ เช่น ยอดขาย รายได้ หรือค่าใช้จ่าย
- มีความคงที่และต่อเนื่อง
3. ข้อดีและข้อเสีย
- OKRs:
- ข้อดี: ช่วยกระตุ้นการเติบโตและการพัฒนา มีความยืดหยุ่นสูง
- ข้อเสีย: อาจวัดผลยากในบางสถานการณ์ เนื่องจากเป้าหมายมีความทะเยอทะยาน
- KPIs:
- ข้อดี: ช่วยให้ติดตามผลลัพธ์ที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง
- ข้อเสีย: มักเน้นที่การรักษาประสิทธิภาพ มากกว่าการสร้างการเปลี่ยนแปลง
อ้างอิง:
- https://www.disruptignite.com/blog/okr#section3
- https://www.empeo.com/blog/hrm/what-is-okrs/
- https://truevirtualworld.com/th/article/objective-key-results