การประเมินผลการทำงาน คืออะไร?
การประเมินผลการทำงาน คือกระบวนการประเมินผลงานของพนักงานอย่างเป็นทางการ โดยจะมีเกณฑ์ตรงกลางที่บริษัทตั้งไว้ และพนักงานจะถูกประเมินโดยหัวหน้างานหรือคนที่เกี่ยวข้องกับตัวเองในการทำงาน ทั้งนี้การประเมินผลงาน ถูกจัดขึ้นเพื่อทำให้ตัวเองได้เข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนในการทำงานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งไม่ว่าใครตำแหน่งไหนก็ต้องผ่านการถูกประเมินผลการทำงานประจำปีทั้งนั้น
การประเมินผลการทำงาน มีขึ้นเพื่ออะไร?
1) วัดผลการทำงานหรือผลการปฏิบัติงาน: มีไว้เพื่อประเมินว่าพนักงานแต่ละคนสามารถทำงานได้ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้หรือไม่ และมีข้อดีหรือข้อเสียในการทำงานอย่างไรเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไข
2) เพื่อให้ข้อเสนอแนะกับผู้ถูกประเมิน: การประเมินจะช่วยให้ข้อแนะนำและข้อเสนอแนะในการทำงานให้กับพนักงานได้มากยิ่งขึ้น
3) เพื่อวางแผนพัฒนาบุคลากร: เพื่อวางแผนการฝึกอบรมหรือพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กรและตัวพนักงานเอง
4) เพื่อสร้างการตัดสินใจเรื่องอนาคต: ทำให้พนักงานเข้าใจเรื่องการปรับเงินเดือน การเลื่อนตำแหน่ง และการพิจารณาเลิกจ้าง (ถ้ามีความจำเป็น) มากยิ่งขึ้น
5) เป็นการสร้างแรงจูงใจ: เพื่อสร้างแรงจูงใจให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและมุ่งมั่นในการพัฒนาตัวเองในการทำงานเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้มากยิ่งขึ้น
การประเมินผลการทำงานที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร?
1) มีความชัดเจนและสามารถเข้าใจได้ง่าย
มีการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนที่สามารถวัดผลได้ และสอดคล้องกับความรับผิดชอบและหน้าที่ของพนักงานแต่ละคน โดยต้องมีเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน เช่น การใช้เกณฑ์มาตรฐาน หรือการสร้างตัวชี้วัดหรือ KPI ขึ้นมาให้จับต้องได้ อีกทั้งยังควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายในการประเมินอีกด้วย
2) มีความยุติธรรมและเป็นธรรม
การประเมินแต่ละครั้งควรมีหลักฐานการสนับสนุน เช่น ผลงานที่ผ่านมา ข้อเสนอแนะจากเพื่อนร่วมงานคนอื่นหรือการสำรวจความคิดเห็น อีกทั้งยังควรพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อม และควรเลี่ยงการใช้อคติของตัวเองในการประเมิน
3) เน้นการประเมินที่ช่วยในการพัฒนาตัวเอง
ให้ข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์ มีการตั้งเป้าหมายร่วมกันระหว่างคนประเมินกับพนักงานที่ถูกประเมิน อีกทั้งยังควรวางแผนพัฒนาอย่างชัดเจน
4) มีความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
ไม่ใช่ว่าประเมินแล้วจบเลย แต่อย่าลืมที่จะคอยติดตามผล และมีการประเมินอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุกๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี เป็นต้น
5) เน้นที่ผลลัพธ์และสร้างความมั่นใจ
ควรวัดด้วยผลลัพธ์ที่จับต้องได้และเป็นรูปธรรม มีตัวเลขที่มองเห็นได้ชัดเจน อีกทั้งกระบวนการที่ใช้ประเมินควรโปร่งใส และสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานและผลการประเมินควรสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงานว่าองค์กรให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร
เราควรเตรียมตัวก่อนการประเมินสิ้นปีอย่างไร?
1) ทบทวนเป้าหมายงานของตัวเองและผลงานที่ผ่านมา
นำเป้าหมายที่ตั้งไว้ในต้นปีมาเทียบกับผลงานที่ทำได้จริงว่าเราสามารถบรรลุเป้าหมายได้มากน้อยแค่ไหนและอะไรคืออุปสรรคที่เจอระหว่างการทำงาน อีกทั้งอย่าลืมที่จะเตรียมตัวอย่างหรือเอกสารที่แสดงถึงผลงานเอาไว้ก่อนที่จะเข้าร่วมการประเมิน และนำสิ่งเหล่านี้มาวิเคราะห์หาสิ่งที่เราทำได้ดี สิ่งที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง
2) เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการพูดคุยและถูกประเมิน
อย่าลืมจดคำถามที่อยากถามหัวหน้างานไว้ล่วงหน้า เช่น คำถามที่เกี่ยวกับโอกาสในการเติบโตในอนาคต หรือความคาดหวังของหัวหน้างานที่มีต่อเรา และอย่าลืมฝึกพูดถึงผลงานออกมาให้ได้อย่างมั่นใจ เน้นจุดเด่นและอธิบายถึงบทเรียนที่ได้เรียนรู้อย่างชัดเจน สุดท้ายให้เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของหัวหน้างานอย่างตรงไปตรงมา เพื่อนำไปปรับปรุงการทำงานในอนาคต
3) ตั้งเป้าหมายสำหรับปีต่อไป
นำ SMART Framework เข้ามาทำให้การตั้งเป้าหมายชัดเจนขึ้น ซึ่งเป้าหมายที่ดีควร Specific (เจาะจง), Measurable (วัดผลได้), Achievable (ทำได้จริง), Relevant (เกี่ยวข้อง) และ Time-bound (มีกำหนดเวลา) อีกทั้งอย่าลืมขอคำแนะนำจากหัวหน้างานเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง และร่วมกันวางแผนการพัฒนาในปีต่อไป
4) เตรียมจิตใจให้แข็งแกร่ง
เชื่อมั่นในความสามารถและผลงานของตัวเอง พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างและนำไปปรับปรุงตนเอง และอย่าลืมที่จะมองโลกในแง่ดี ให้มองการประเมินเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง ไม่ใช่การถูกตัดสิน
ควรทำอย่างไรหากผลประเมินไม่เป็นไปตามที่หวัง?
หากผลประเมินออกมาไม่เป็นไปตามที่คุณคาดหวัง อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ เพราะนี่คือโอกาสที่ดีในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ลำดับแรก ควรเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากหัวหน้างานและมองหาสาเหตุที่แท้จริงของคะแนนที่ต่ำลง ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่ยังต้องปรับปรุง หรือเป้าหมายที่อาจตั้งไว้สูงเกินไป จากนั้นให้พูดคุยกับหัวหน้างานเพื่อขอคำแนะนำเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีแก้ไขปัญหา หรือวิธีพัฒนาทักษะในด้านที่ยังไม่สมบูรณ์ คุณอาจขอวางแผนร่วมกันในเชิงปฏิบัติ เช่น การเข้าร่วมอบรม การปรึกษาเพื่อนร่วมงาน หรือการกำหนดเป้าหมายใหม่ที่ชัดเจนและทำได้จริง อย่าลืมว่าความล้มเหลวในผลประเมินครั้งนี้เป็นเพียงก้าวหนึ่งในเส้นทางอาชีพของคุณ และการปรับปรุงตัวอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้คุณก้าวไปสู่ความสำเร็จในอนาคต
การประเมินผลการทำงานประจำปีไม่ใช่แค่การรายงานผลงาน แต่เป็นโอกาสทองที่จะช่วยให้เราได้เติบโตในสายอาชีพอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ตามอย่าลืมเตรียมตัวในการประเมินแต่ละครั้งเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง และสร้างความประทับใจให้กับหัวหน้า
การประเมินผลเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเราและหัวหน้างาน เพื่อหาทางพัฒนาศักยภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น จงเปิดใจรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประเมินนี้ให้ได้มากที่สุด
อ้างอิง:
– https://www.qualtrics.com/experience-management/employee/performance-appraisal/
– https://www.indeed.com/career-advice/career-development/performance-evaluation