4 การเรียนรู้ สู่การพัฒนาตัวเองอย่างยั่งยืน

การเรียนรู้
คงจะดีไม่น้อยถ้าเรามีนิสัยรักการพัฒนาตัวเองบางอย่างที่ทำแล้วองค์ความรู้จะอยู่กับเราตลอดไป แถมเป็นไลฟ์สไตล์ที่ประยุกต์ใช้ได้ไม่ว่าจะอายุแค่ไหน ทำงานสายอาชีพอะไรวันนี้จึงขอแนะนำให้รู้จักกับ “4 การเรียนรู้สู่การพัฒนาตัวเองอย่างยั่งยืน”

1. อ่านหนังสือ

“ไม่มีนักคิดชั้นนำคนไหนบนโลกที่ไม่ใช่นักอ่านตัวยงในเวลาเดียวกัน”

เพราะตัวอักษรเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้อย่างเหลือเชื่อ ประโยคสั้นๆ บางจุดในหนังสืออาจเปลี่ยนมุมมองคุณที่มีต่อชีวิตไปตลอดกาล

หนังสือที่เราอ่านจบแค่ 1 สัปดาห์ อาจใช้เวลาเขียน 1 ปี 10 ปี หรือแม้แต่ประสบการณ์ทั้งชีวิตของนักเขียนกลั่นกรองออกมาอยู่ในเล่มเดียว นี่จึงเป็นทางลัดที่สะดวกในการเรียนรู้เรื่องราวของคนอื่น

Elon Musk อ่านหนังสือแบบยึดหลัก “คุณภาพ > ปริมาณ” โดยเรียงลำดับความสำคัญให้กับเรื่องที่ประยุกต์ใช้ได้จริง และมักรู้แบบปูพื้นฐานก่อนค่อยๆ ต่อยอดสู่ระดับแอดวานซ์ นอกจากนี้ เขาสามารถอ่านหนังสือสารานุกรม Encyclopedia Britannica ได้แล้วตั้งแต่ 8 ขวบ

ด้านคุณปู่ Warren Buffet ยึดเลข “5” โดยอ่านหนังสือพิมพ์ชั้นนำวันละ 5 ฉบับ / อ่านรายงานบริษัทวันละ 500 หน้า / อ่านหนังสือให้ได้วันละ 5 ชั่วโมง

สังเกตหรือไม่? การอ่านยังเป็นวิธี “รับข้อมูล” มหาศาลที่รวดเร็วกว่าการฟัง ตัวอย่างอยู่ใกล้ตัวเรา เช่น การพูดคุยใน Clubhouse 30 นาที เมื่อถูกเขียนออกมาเป็นบทความ เราอาจอ่านจบภายในเวลาแค่ 3 นาที

Bill Gates คืออีกคนที่อ่านหนังสือหนักมาก รองจากทำงานก็คงเป็นหนังสือนี่แหละที่เค้าใช้เวลาด้วยเยอะที่สุด ทุกปี เขาจะทำการ Retreat ปลีกวิเวกตัวเองไปอยู่บ้านพักในที่ห่างไกล ปิดตัวเองจากการทำงานในชีวิตประจำวัน 

บ้านแห่งนี้จะมีของกินเครื่องใช้ครบครัน หน้าที่หลักหน้าที่เดียวของเค้าคือ “อ่านหนังสือ” ที่เค้าพกไปด้วยหลายโหล อ่านมันเข้าไปพร้อมกับขบคิดอะไรหลายอย่าง ไม่ใช่แค่งานองค์กรที่เค้าดูแลเท่านั้น แต่รวมถึงสังคมและโลกใบนี้

Bill Gates จะเดินออกจากบ้านหลังนั้นกลับสู่โหมดชีวิตปกติ พร้อมกับความคิดบางอย่างที่ “ตกผลึก” มาแล้วเสมอ และทุกปีเขาจะทำการ “แนะนำหนังสือแห่งปี” ที่เขาอ่านมาแล้วและอยากบอกต่อให้คนอื่นได้อ่านตาม

การอ่านยังยั่งยืนในแง่ที่ว่า มันไม่จำเป็นต้องใช้แรงหรือพลังงานแต่อย่างใด และเมื่อเราแก่ตัวไป…ยิ่งต้องอ่าน! ผลวิจัยมากมายระบุว่าแค่การอ่านหนังสือก็ช่วยลดโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้แล้ว เพราะสมองต้อง “คิดตาม” อยู่ตลอด

การอ่านหนังสือยังเป็นกิจวัตรที่พบเจอในคนสำเร็จระดับโลกในแทบทุกวงการ…เราเองก็เริ่มต้นอ่านได้ง่ายๆ เช่นกัน

2. เรียนรู้ ต้นน้ำ-ปลายน้ำ 

“ดูซีรี่ย์ต้องดูให้จบ”

ถ้าดูเฉพาะช่วงกลาง-หลัง เราอาจจะเข้าใจผลลัพธ์…แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมมันถึงเกิด อะไรเป็นสาเหตุตั้งแต่แรก การเรียนรู้ก็เช่นเดียวกัน

คุณฤทธิ์ ธีระโกเมน แม่ทัพใหญ่ของ MK กล่าวว่านิสัยการเรียนรู้ของเค้าคือ หากอยากรู้อะไรต้องรู้แบบ “ครบวงจร” เหมือนการดูซีรีย์ก็ต้องดูให้จบทั้งเรื่อง เป็นความรู้แต่ละจุดที่นำมาประกอบกันจนเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด 

โดยเค้าชอบเจาะลึก (หนึ่งในนั้นคือการอ่านหนังสือ) ไปถึงประวัติผู้ก่อตั้งเพื่อสืบหารากเหง้าตั้งแต่ต้น เช่น ถ้าอยากรู้เรื่องราวของ Nike…นอกจากกลยุทธ์ธุรกิจปัจจุบันแล้ว จะสืบค้นข้อมูลของ Phil Knight ผู้ก่อตั้งด้วยเสมอ

เมื่อเรารู้ครบวงจรแบบต้นน้ำ-ปลายน้ำ อาจนำไปสู่การมองเห็น “โอกาส” ทางธุรกิจใหม่ๆ 

MK ทำตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เดิมเชี่ยวชาญด้านขนส่งอาหารอยู่แล้ว จึงต่อยอดสู่วงการโลจิสติกส์ที่มีมูลค่าแสนล้านบาท จับมือกับพันธมิตร M-SENKO LOGISTICS เบอร์ 2 ด้านโลจิสติกส์จากญี่ปุ่น

Fujifilm ต่อยอดสู่ธุรกิจเครื่องสำอางซึ่งต่อยอดมาจากคอลลาเจนที่ใช้รักษาสภาพฟิล์ม และบุกการวินิจฉัยโรคด้วยการ X-Ray ซึ่งเป็นสิ่งที่ Fujifilm มีเทคโนโลยีเป็นทุนเดิม

การไม่รู้จุดใดจุดหนึ่งระหว่างทางอาจนำพามาซึ่งความล้มเหลวในธุรกิจ ดังที่กานต์และซารต์ YouTuber ชื่อดังจากช่อง Bearhug ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนกับตัวว่าชานมยี่ห้อ Sunsu ที่ทั้งคู่ปั้นมากับมือ ขาดทุนไม่เป็นท่าจนต้องยกเลิกการวางจำหน่ายสินค้าใน 7-ELEVEN เพราะพบเจออุปสรรคที่ไม่คาดคิดมาก่อนทั้งภาษีความหวาน / การหมุนเงินสด / การบริหารสินค้าในสต๊อก

3. รู้กว้างในหลายศาสตร์

ยิ่งอยู่วงการอื่นมากเท่าไรยิ่งดี เปิด “มุมมอง” เราที่มีต่อโลก ให้ Input ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยคาดคิด โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่โลกเราโอบกอด Diversity & Inclusion

ผลวิจัยมากมายระบุว่า คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้ฉลาดหลักแหลมไปกว่าคนทั่วไปขนาดนั้นหรอก เพียงแต่เขามักเป็นคนที่มองเห็น “ความสัมพันธ์” ของสิ่งต่างๆ หรือ “มองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม” และจะยิ่งสร้างสรรค์เมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านั้น…มีความหลากหลายแตกต่างในตัวมันเอง

Dave Trott ปรมาจารย์ในวงการโฆษณาบอกว่า คนที่มีความคิดสร้างสรรค์คือคนที่แค่ “อยากรู้ไปเรื่อย” ไม่ใช่แค่วงการโฆษณาหรือการตลาด แต่พวกเค้าอยากรู้ประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณ / ประสาทวิทยาการทำงานของสมอง / การจัดดอกไม้อิเคบานะแบบญี่ปุ่น / ระบบ AI ในโรงงานอุตสาหกรรมยุคใหม่…ก่อนจะนำความรู้อันหลากหลายมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน

Steve Jobs กล่าวคำหนึ่งที่หลายคนจำได้ดีถึงทุกวันนี้ ว่าเรื่องนี้คือการ “Connecting the Dots” เชื่อมจุดแต่ละจุดที่เดิมทีดูเหมือนไม่มีความสัมพันธ์กัน แต่พอจับนำมารวมกันกลับเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ 

รู้หรือไม่? การจัดวางและออกแบบตัวอักษร (Typography) คือศาสตร์ที่ Steve Jobs เคยเรียนเมื่อนานมาแล้ว ก่อนจะนำ Dot นี้มาเชื่อมใส่ใน iPhone ในอีกหลายทศวรรษต่อมา

4. ลงมือทดลองทำ

นี่คือขั้นตอนจาก Input สู่ Output คนเราเมื่อมีของ…ก็ต้องปล่อยออกมา

Walt Disney เคยกล่าวไว้ว่า “คุณไม่มีวันเรียนรู้จริงๆ ถ้าคุณไม่ลงมือทำ” คำนี้ยังใช้ได้ดีอยู่จนถึงยุคนี้

นี่เป็นการเรียนรู้ที่มากกว่าแค่อ่านหรือฟังประสบการณ์จากผู้อื่น (Beyond Vicarious Learning) 

บางคนลงเรียนคอร์สออนไลน์เพื่อการปั้น Facebook Page มาหลายคอร์ส แต่ทฤษฎีก็เป็นเรื่องหนึ่ง ปฏิบัติจริงก็อีกเรื่องหนึ่ง…บางอย่างอาจไม่เป็นเหมือนในตำรา เช่น ทำตามทฤษฎี ทำตาม Case Study ที่สำเร็จทุกอย่าง…แต่ทำไมของจริง 3 เดือนผ่านไปแล้วแทบไม่มีลูกเพจเพิ่มขึ้นเลย

นักพูดมืออาชีพหลายคนเคยกล่าวบนเวทีว่า คนที่ได้มากที่สุดไม่ใช่ผู้ฟัง…แต่คือตัวผู้พูดเองต่างหาก ซึ่งใช้ได้กับเรื่องอื่น เช่น เวลาติวหนังสือเพื่อน คนติวจะได้ประโยชน์ตามไปด้วย เพราะนอกจากต้องเข้าใจทั้งหมดแล้ว ยังต้องเรียบเรียงอธิบายให้เข้าใจง่ายด้วย

ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ขอให้มีความรู้ขั้นพื้นฐานระดับหนึ่งพอ จากนั้นลองเอาตัวเองไปลองผิดลองถูก เอาตัวเองไป “ลงสนาม” จริง นอกจากเราจะ “รู้” จริงมากขึ้นแล้ว ยัง “รู้สึก” ถึงรสชาติของความสำเร็จและล้มเหลว

.

.

และถ้าอยากพัฒนาการทำงานอย่างยั่งยืนในองค์กร-ในตำแหน่งที่คุณรัก รีบไปทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ และมีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/


อ้างอิง

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

วิธีประเมินหัวหน้า
วิธีประเมินหัวหน้าอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาทั้งทีมและองค์กร
ในช่วงการประเมินผลการทำงานประจำปี นอกจากพนักงานจะถูกประเมินโดยหัวหน้าแล้ว หลายองค์กรยังเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถประเมินการทำงานของหัวหน้าตนเองได้อีกด้วย...
6 นิสัยสำคัญ
6 นิสัยสำคัญที่จะทำให้ปี 2025 เป็นปีที่ดีที่สุดของคุณ โดย Ali Abdal
ถ้าคุณกำลังมองหาวิธีพัฒนาตัวเองให้ชีวิตดีขึ้นในปี 2025 ลองมาดู 6 นิสัยสำคัญ ที่ Ali Abdal ผู้เชี่ยวชาญด้าน Productivity และเจ้าของช่อง YouTube ชื่อดังแนะนำไว้...
ลาพักร้อน
ก่อน "ลาพักร้อน" ต้องรู้ ! วิธีจัดการงานและตัวเองให้หยุดยาวอย่างสบายใจ 
ลาพักร้อนนี่แหละความสุขของพนักงานคงมีหลายคนที่ทำงานมาตลอดปี และอดทนรอเวลาที่จะได้ใช้วันลาของตัวเองเพื่อไปพักร้อนยาวๆ สัก 1 ทริป บอกเลยว่าการ “ลาพักร้อน”...