Sunk Cost Fallacy : ธุรกิจล่มเพราะแพ้ใจตัวเอง

Sunk Cost Fallacy
Sunk Cost Fallacy คือการยึดติดกับต้นทุนที่จมไปแล้ว ทำให้ตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่คุ้มค่า เพียงเพราะไม่อยากให้การลงทุนสูญเปล่า
  • บริษัทเสียเงินไปหลายร้อยล้าน ทุ่มเวลาไปหลายปี…จะให้มายกเลิกแบบนี้หรือ?
  • หนังไม่สนุก แต่ก็ทนดูต่อ เพราะเสียเงินซื้อตั๋วหนังไปแล้ว

นี่คือตัวอย่างคลาสสิกของหลุมพรางทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “Sunk Cost Fallacy” 

คือ ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นยังไงก็ตาม แต่ “ต้นทุน” นั้นจมไปแล้ว-จ่ายไปแล้ว-เสียไปแล้ว-ไม่มีวันได้คืน (Non-Recoverable Investment) แต่เราดันเอามันมาพิจารณาต่อในอนาคต 

(อนึ่ง ต้นทุนเป็นได้ทั้ง: เวลา / เงิน / ความรัก / แรงกายแรงใจ)

ผู้บริหารที่ยึดติดกับแผนการดั้งเดิม มีแนวโน้มจะติดกับ Fallacy นี้

CEO ที่ปั้นธุรกิจมากับมือมักมีแนวโน้มขยายธุรกิจต่อไปทั้งๆ ที่ไม่มีแววรุ่งก็เพราะ Sunk Cost Fallacy

ทัศนคติแบบนี้ไม่เวิร์คเพราะมันไม่สอดคล้องกับโลกธุรกิจสมัยใหม่ที่อะไรๆ เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ผู้บริหารต้องมีทักษะปล่อยวาง อะไรที่เจ๊งต้องรีบตัดทิ้งแล้วเริ่มใหม่ อย่าดันทุรังไม่ยอมเลิกเพราะแค่ลงเงินไปแล้ว 

Sunk Cost Fallacy ในชีวิตประจำวัน

Fallacy นี้อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด ตัวอย่างง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน คือเวลาไป “ดูหนัง” 

ถ้าเผอิญหนังเรื่องนั้นไม่สนุก น่าเบื่อมาก จนคุณแทบอยากนอนในโรง ถ้าว่าตามหลักเหตุผลแล้ว การตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดคือ คุณควร “ลุกออกจากโรงทันทีแล้วเอาเวลาไปทำเรื่องอื่นที่มีค่ากว่า” แต่หลายคนไม่ทำเช่นนั้น ยังคงดันทุรังนั่งดูหนังที่ไม่ชอบต่อไป เพราะ…”จ่ายเงินค่าตั๋วไปแล้ว”

Sunk Cost Fallacy

หรือเวลาไปกิน “บุฟเฟ่ต์” จ่ายเงินก้อนใหญ่ไปแล้ว จึงพยายาม “กินให้คุ้มที่สุด” แม้จะรู้สึกอิ่มแล้วก็ยังตะบี้ตะบันยัดเข้าไปอีก พอถึงจุดหนึ่ง(เชื่อว่าหลายคนเคยเป็น) ความพึงพอใจในมื้อนั้นจะดรอปลง ยิ่งกิน-ยิ่งแฮปปี้น้อยลง เพราะมันเกินเลยจุดที่ร่างกายรับไหวแล้ว

แม้แต่ “ความสัมพันธ์” ระหว่างสามี-ภรรยา (กรณีที่ไม่มีลูก) ยิ่งทั้ง 2 อยู่ด้วยกันมานานมากเท่าไร ยิ่งมีโอกาสแยกทางกันน้อยลงเท่านั้น…แม้ชีวิตคู่จะไม่มีความสุขเลยก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะทั้งคู่มองว่า ตนได้ลงทุน “เวลา” ไปมากกับอีกฝ่ายนั่นเอง (“…แต่เราคบกันมาตั้ง 10 ปีแล้วนะ”)

Sunk Cost Fallacy ในธุรกิจ 

Concorde คือตัวอย่างชั้นดีของ Fallacy นี้ ถึงขั้นถูกสมญานามว่า “Concorde Effect”

Concorde เป็นเครื่องบินเชิงพาณิชย์ความเร็วเหนือเสียงชนิดแรกของโลกให้บริการระหว่าง London – New York ได้ภายใน 3 ชั่วโมง ใช้เวลาวิจัยและพัฒนารวม 13 ปี หมดเงินไปกว่า 1,000 ล้านปอนด์

Sunk Cost Fallacy

Image Cr. bit.ly/3cjxm89

แต่วิศวกรรมชั้นเลิศนี้กลับขาดทุนในทางธุรกิจ ด้วยปัจจัยมากมายทำให้ Concorde ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องและไม่มีวี่แววคืนทุนเลย

อย่างไรก็ตาม ขาดทุน…แต่เลิกไม่ได้ เพราะ “ศักดิ์ศรี” ที่ค้ำคอระหว่างรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งอยู่เบื้องหลังการพัฒนาโปรเจ็คท์นี้…ไม่มีใครอยาก “เสียหน้า” ปีแล้วปีเล่า Concorde ก็ยังให้บริการอยู่แม้จะขาดทุนเพิ่มขึ้นทุกปีๆ

สุดท้าย Concorde มาถูกยกเลิกด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ในวันที่ 25 กรกฎาคม ปี 2000 เพราะเป็นวันที่ “Concorde ตก” เนื่องมาจากเหตุขัดข้องทางเทคนิค เหตุการณ์นี้ออกข่าวไปทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 113 ราย

จะว่าไป Sunk Cost Fallacy ก็แฝงอยู่รอบตัวในการทำงานโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว

ทีมวิจัยของบริษัททุ่มงบ 10 ล้านบาทเพื่อศึกษาตลาดกลุ่มใหม่ ก่อนจะพบว่าตลาดกลุ่มนี้ไม่มีศักยภาพมากพอที่จะทำกำไรในระยะยาวได้มากนัก แต่ก็ดันทุรังพยายามที่จะไปต่อ เพราะเสียไปตั้ง 10 ล้านแล้ว

ยิง Facebook Ads ไปแล้ว 2 อาทิตย์ แต่ผลตอบรับไม่ค่อยดีและไม่มีวี่แววจะดีขึ้น ดูก็รู้ว่าต่อให้ปล่อยไปอีก 2 อาทิตย์ (รวมเป็น 1 เดือน) ก็คงไม่ได้อะไรขึ้นมา คุณทำใจยอมรับว่า…Ads ตัวนี้ล้มเหลว!

จึงเดินไปบอกหัวหน้าที่มีอำนาจตัดสินใจให้หยุด แต่หัวหน้าพูดขึ้นมาว่า “ถ้าหยุดกลางคันตอนนี้ นั่นเท่ากับว่า ที่ทำมาทั้งหมดสูญเปล่านะ” (คุ้นๆ ไหม?)

ป้องกัน Sunk Cost Fallacy ยังไงได้บ้าง?

ตั้งเป้าหมายเป็น “ตัวเลข” ให้ชัดเจน ถ้ายอดถึงเป้าก็ไปต่อ แต่ถ้าไม่ถึงและไม่มีวี่แววจะถึง ก็ต้องทำใจยุติล้มเลิกซะ…เหมือนการ Cut Loss ของเหล่านักลงทุนมืออาชีพ

เรื่องนี้เป็นอะไรที่พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะมนุษย์มีกลไกตามธรรมชาติที่รู้สึก “กลัวเสีย” อยากปกป้องตัวเองจากการลงทุนลงแรงอะไรไป แรงต้านจะสูงมาก (ไม่มีใครอยากลงทุนเสียเปล่า จริงไหม?

พึงมีสติ จงระวังคำเหล่านี้ให้ดี

  • “เรามาไกลถึงขนาดนี้แล้วนะ”
  • “นี่บริษัทหมดเงินไปหลายสิบล้านแล้วนะ”
  • “เราเสียเวลาพัฒนาเรื่องนี้ไปแล้วตั้ง 5 ปีนะ”

ถ้ามีความคิดแบบนี้เด้งขึ้นในหัว ให้ระวังไว้ว่าอาจกำลังติดกับดัก “ต้นทุนจม” นี้

ลองมอง Cost & Benefit ไปข้างหน้าที่อนาคต ละทิ้งสิ่งที่ผ่านไปแล้ว-จบไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ต้องแยกให้ออกระหว่าง: เรื่องที่ยังไม่สำเร็จ VS. เรื่องที่ล้มเหลว

เรื่องบางเรื่อง ต้องใช้เวลาอีกซักหน่อยกว่าจะ…ออกดอกออกผล

ขณะที่บางเรื่อง ต่อให้ใช้เวลาอีกเท่าไร…ก็ไม่เป็นผล

นอกจากนี้ เราอาจเปลี่ยนFallacy นี้ให้เป็นผลดีกับเราเอง เช่น ยอมจ่ายค่าสมาชิกฟิตเนสหรูแสนแพง เพื่อบังคับให้เรามีวินัยในการไปเล่นสม่ำเสมอ

หรืออุตส่าห์อ่านมาถึงขนาดนี้ ก็ใช้เวลาอีกนิดเข้าไปทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ จะได้มีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

ใครๆ ก็ไม่รักผม…อยากเป็นคนน่าสนใจมากขึ้น ควรทำอย่างไร?

เคยสงสัยหรือไม่ว่าเราเป็นคนที่น่าสนใจหรือเปล่า? ถ้าคิดว่าตอนนี้เราไม่ได้เป็นที่น่าสนใจ ก็อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะว่าความน่าสนใจมันสามารถสร้างได้เพียงแค่เสริมหรือปรับพฤติกรรมแค่บางอย่างเท่านั้น มาลองดูกันว่ามีอะไรบ้าง

Constructive Feedback

Constructive Feedback ฟีดแบคยังไงให้ลูกทีมรัก ?

Constructive Feedback คือการให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ โดยเน้นการปรับปรุงและพัฒนา แทนที่จะเป็นการวิจารณ์เชิงลบ โดยควรชี้จุดที่ต้องปรับปรุงพร้อมแนวทางแก้ไข เพื่อช่วยให้ผู้รับข้อเสนอแนะพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Confirmation Bias

Confirmation Bias : มองหาแต่สิ่งที่ยืนยันความเชื่ออันฝังรากลึกของตัวเอง!

Confirmation Bias คือแนวโน้มที่คนจะหาข้อมูลหรือเชื่อเฉพาะสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อหรือความคิดเห็นที่มีอยู่แล้ว และมองข้ามหรือปฏิเสธข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อนั้น ส่งผลให้การตัดสินใจไม่เป็นกลาง