Clubhouse : โอกาสทองที่แบรนด์ต้องรีบโดดเข้าไป !

Clubhouse
หลังจาก Elon Musk จุดระเบิดให้คนรู้จัก Clubhouse เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมาด้วยการบอกแผนชีวิตบนดาวอังคาร / ชวนปูตินคุย / เปิดห้องสนทนากับ Kanye West แอพน้องใหม่ที่พึ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี 2020 อย่าง Clubhouse ก็โตระเบิดสู่ผู้ใช้งานกว่า 2 ล้านคนในไม่กี่อาทิตย์!

Clubhouse ขึ้นแท่นแอพโซเชียลมีเดียที่ถูกดาวโหลดมากที่สุด (แซงหน้า Facebook, TikTok!) เหล่าศิลปินดารา / นักร้อง-นักแสดง / นักธุรกิจ / นักกีฬา / เชฟ / ผู้จัดรายการ / Influencers / คนทำคอนเทนต์…และพวกเราต่างรีบเข้าไปทำความรู้จัก

คนทั่วโลกตอนนี้กำลังติดคลับเฮ้าส์กันงอมแงม..

ว่าแต่…Clubhouse คืออะไร ?

Clubhouse คือโซเชียลมีเดียน้องใหม่ที่ใช้ “เสียง” ในการพูดคุยกันสดๆ แบบเรียลไทม์ แบ่งการพูดคุยออกเป็นห้องๆ (Club) ไม่มีภาพ-ไม่มีข้อความ และไม่มีการบันทึกการสนทนา “จบแล้ว-จบเลย” สร้างปรากฏการณ์ “กลัวตกเทรนด์” ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีมานี้ เพราะคนกลัวพลาดอะไรใหม่ๆ โดยเฉพาะจากคนดังที่ตนชื่นชอบ

นอกจากนี้ การเข้าไปฟังจะถูกจำกัดสิทธิ์ ต้อง “ถูกเชิญเข้า” เท่านั้น (Invitation-Only) จึงสร้างความรู้สึกสุด Exclusive (โดยเฉพาะตอนนี้ใช้งานผ่านทาง iOS ได้เท่านั้น)

ในแต่ละห้องจะประกอบด้วยคน 3 กลุ่ม: 

  • ผู้ดำเนินรายการ (Moderator)
  • ผู้พูด (Speaker)
  • ผู้ฟัง (Audience)

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจคือ ถ้าเราเป็นคนถูกรับเชิญจะสามารถร่วมพูดคุยกับคนดังระดับโลกได้ (เช่น ถามตรงๆ กับ Elon Musk) เปิดโอกาสให้คนธรรมดาสัมผัสผู้ยิ่งใหญ่

หรือถ้าไม่ได้ถูกเชิญ ก็สามารถกดยกมือเพื่อขอแสดงความคิดเห็นได้ (มารยาทเดียวกับเวทีสัมมนา) และแม้เราไม่ได้ยกมือถาม แต่ก็สามารถถูก Moderator เรียกให้เสนอความคิดเห็นได้เช่นกัน (เช่น คุณอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น)

ทั้งนี้ เพราะผู้ใช้งานแต่ละคนก็จะมีชิ่อและรูป Profile ที่แสดงตัวตนได้ว่าเป็นคุณ (ขั้นตอนการได้มาซึ่ง Account จะยืนยันระดับหนึ่งมาแล้วว่าเป็น ‘คุณ’ จริงๆ)

น่าสนใจขนาดนี้ แล้ว Clubhouse มีจุดแข็ง-จุดอ่อน ตรงไหนบ้าง?

จุดแข็ง-จุดอ่อน ของ Clubhouse?

จุดแข็ง

  • ชัดเจนมากว่า คนที่ “พูดเก่ง” จะได้เปรียบในแอพนี้มากๆ เป็นเวทีแสดงทักษะการพูดที่เข้าถึงผู้ฟังได้กว้างขวาง คนกลุ่มนี้ครอบคลุมถึงบรรดา Podcaster / เหล่า MC-DJ / คนวงการสื่อออนไลน์ / รวมถึงอาชีพใหม่ที่กำลังได้รับการจับตามองภายในแอพอย่าง “ผู้ดำเนินรายการ” (Moderator)
  • ความง่ายในการเข้าถึงห้อง เหมือนฟังวิทยุแบบรวมทุกคลื่นมาไว้ในที่เดียวกัน
  • การพูดคุยสดๆ แบบเรียลไทม์ ช่วยให้เราทันทุกกระแส อะไรที่มัน “สด” ย่อมได้อรรถรสมากกว่า
  • โดยเฉพาะคุยสดจากปาก Speaker คนดัง บางคนเราจะฟังเค้าได้ปกติต้องซื้อตั๋วแพงๆ หรือบินไปฟังถึงต่างประเทศ แต่นี่นอนกลิ้งบนเตียงนอนก็ฟังได้แล้ว
  • ความที่ห้องๆ นึงสามารถมีผู้พูด-ผู้ฟังได้จากหลายวงการ ทั้งนักธุรกิจ / มือกีต้าร์ / เชฟ / นักเขียน / นักข่าว จึงมอบมุมมองที่หลากหลายดี

จุดอ่อน

  • “ความเป็นส่วนตัว” เพราะแอพนี้มีระบบแจ้งเตือนเวลาเราเข้าไปฟังห้องไหน จะขึ้นบอกเพื่อนเราให้รู้ว่าเรากำลังเข้าฟังห้องนี้อยู่นะ…ซึ่งบางครั้งเราไม่อยากให้คนอื่นรู้ เช่น ห้องที่คุยซีเรียสเรื่องการเมือง
  • บางเนื้อหา การ “อ่าน” จะใช้เวลาน้อยกว่าการ “ฟัง” มาก เรื่องที่พูดในคลับเฮ้าส์ 1 ชม. อาจเข้าใจได้ด้วยการอ่านเพียง 10 น. ตอนนี้ Influencers บางคนเริ่ม “สรุปเนื้อหา” ที่พูดในคลับเฮ้าส์บน platform อื่นแล้ว!
  • เมื่อพบว่าใช้เวลาเสพนานขึ้น สุดท้ายคนอาจเลิกเล่นไปใช้แพลตฟอร์มอื่นแทน (แต่ Moderator เข้ามาช่วยกระชับบทสนทนาได้) 
  • นอกจากนี้ เมื่อบันทึกบทสนทนาไม่ได้ เรามีแนวโน้มตัดเวลาชีวิตส่วนตัวเพื่อมาฟังคนดังที่เราชื่นชอบพูดสด (ไม่ยืดหยุ่นนั่นเอง) 
  • ปัจจุบันให้บริการผ่าน iOS เท่านั้น (แต่ข่าวออกมาแล้วกำลังพัฒนาสำหรับ Android เร็วๆ นี้) แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ช่วง Facebook เริ่มเปิดตัวเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ก็จำกัดเฉพาะในกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำ ก่อนค่อยๆ เปิดทีละมหาวิทยาลัย-ทีละประเทศ-ทีละภูมิภาค ก่อนเต็มรูปแบบไปทั่วโลกเมื่อระบบพร้อม
Clubhouse

ทั้งนี้ก็ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล เช่น

เพราะไม่มีการบันทึกเสียงใดๆ ทำให้ Speaker บางคนแสดงออกทางความคิดแบบตรงไปตรงมาที่สุด ซึ่งในอเมริกาเริ่มมีคนบ่นถึงประเด็นนี้แล้วว่า คนพูดๆ ด้วยอารมณ์โกรธเกรี้ยว ใช้คำพูดแรงๆ หรือมีการใช้คำส่อไปทางเหยียดผิว บั่นทอน User Experience ที่มาฟังในห้องไป 

ผลกระทบจาก Clubhouse

ไม่ช้าก็เร็วคลับเฮ้าส์จะ disrupt วงการวิทยุแน่นอน (ถ้ากระแสยังโตระเบิดแบบนี้อยู่) เพราะแทบไม่มีเหตุผลแล้วที่เราจะเปิดคลื่นวิทยุฟังคลับเฮ้าส์เหมือนรวมคลื่นวิทยุมาไว้ด้วยกัน มาพร้อมการเข้าถึงที่ง่ายราบรื่น

เพียงแต่กระบวนการ disrupt จะค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ กลุ่มเป้าหมายหลักวิทยุก็อาจเป็นคนละกลุ่มกับคลับเฮ้าส์อย่างน้อยๆ ตอนนี้จะเล่นคลับเฮ้าส์ได้ก็ต้องมี iPhone ก่อน (ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ iPhone)

ไม่มีใครฟันธงได้ว่าผลกระทบของ Clubhouse จะแผ่ขยายไปไกลแค่ไหน (ใจเย็นๆ พึ่งผ่านมาไม่กี่อาทิตย์เอง!)

กระแสตอนนี้เกิดขึ้นทั่วโลก คลื่นลูกแรกเกิดที่อเมริกา ก่อนลามไปญี่ปุ่น-ไต้หวัน และค่อยมาไทย ซึ่งระยะห่างระหว่างคลื่นไม่ใช่ปีหรือเดือนเหมือน Facebook แต่คือ “สัปดาห์”

คลับเฮ้าส์อาจกลายเป็นตัวเลือกโซเชียลมีเดียที่คนเราใช้ในชีวิตประจำวัน ได้ใกล้ชิดศิลปินดารา ฟังตอนอยู่บ้านระหว่างทำอะไรไปด้วย

หรืออาจไม่โตไปกว่าตลาด Niche Market เจาะเฉพาะกลุ่มคนที่ชอบฟังและชอบพูด (และคนที่ใช้ iOS)

ที่แน่ๆ Facebook ประกาศพัฒนาฟีเจอร์ที่มีความคล้ายคลับเฮ้าส์แล้ว (ยังไม่รวม Spotify เจ้าพ่อแห่งการแย่งหูที่ไม่พอใจอย่างหนัก)

ตัวอย่างคนที่โดดเข้ามาแล้ว

ตอนนี้ทุกคนที่เล่นคลับเฮ้าส์ในเมืองไทยจัดอยู่ในกลุ่ม Innovators ผู้บุกเบิกมาก่อนใครคลับเฮ้าส์ฮิตในไทยยังไม่ถึงเดือนแต่พบว่า Influencers / แบรนด์ / และคนจากหลากหลายวงการเริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่แล้ว!

ตัวอย่างที่หลายคนรู้จักกันดี

คุณรวิศ จาก Mission to the Moon (CEO ศรีจันทร์)

คุณเคน จาก The Standard

คุณหนุ่ย จาก แบไต๋

Clubhouse

และคนดังอีกหลากหลายวงการ เช่น คุณธนาธร / คุณชัชชาติ / คุณหญิงสุดารัตน์ / กรณ์ จาติกวณิช / ไอติม พริษฐ์ / กระทิง พูนผล / โจ้ ธนา / ป๋าเต็ด / บี้ เดอะสการ์ / อู๋ spin9 / วู้ดดี้ / สุทธิชัย หยุ่น หลายคนตอนนี้ผู้ติดตามขึ้นหลักหมื่นแล้ว ไหนจะแบรนด์ต่างๆ ที่เข้ามาหาทางลงโฆษณาหรือทำความรู้จัก 

Clubhouse
Clubhouse

ตัวอย่างน่ารักอันหนึ่งที่เป็น Viral เมื่ออาทิตย์ก่อนคือ Bar B Q Plaza เข้ามาในห้อง แล้วทุกคนในห้องก็พร้อมใจกันเปลี่ยนรูป Profile เป็น ‘บาร์บีก้อน’ (Mascot ประจำแบรนด์)

หรือแบรนด์ไก่น้องเล็กอย่าง Karayama ร่วมเข้าห้อง “สภาไก่” ที่มีแต่ตัวท็อปในวงการทั้ง KFC / Bonchon / Texas / Chester’s และสอนพี่ๆ เขาว่า ทอดไก่ยังไงให้กรอบอร่อย เยอะ และ…ไม่แพง จนเกิดการจิกกัดแซวเล่นโต้ตอบกันไปมา

เราจะเห็นว่าทั้ง Bar B Q Plaza และ Karayama (รวมถึงแบรนด์อื่นๆ อีกเพียบ) รีบเข้ามาสร้างสีสันใน Clubhouse จนเกิด Viral ใน Clubhouse ก่อนจะนำเรื่องราว Viral ในนี้ออกไปโปรโมทในช่องทางอื่น เป็นโมเมนตัมที่เสริมซึ่งกันและกันระหว่างแพลตฟอร์ม

อนาคตของแบรนด์ใน Clubhouse?

แบรนด์ต้องรีบโดดเข้าไปเป็นผู้เล่น “First Mover” (ตอนนี้ยังทัน…ก่อนสายไป) รีบยึดฐานที่มั่น ตอนนี้ Supply ยังมีน้อยกว่า Demand มาก มีโอกาสสร้างผู้ติดตามได้มหาศาลก่อนใคร 

โอกาสที่คนจะมาฟังคอนเทนต์ของเรามีสูง ก่อนจะเกิดปรากฎการณ์ “Content Inflation” หรือ ทุกคนแข่งขันกันทำคอนเทนต์ จนยากมากๆ ที่จะทำคอนเทนต์ให้โดดเด่นแตกต่าง

ด้วยรูปแบบแพลตฟอร์มที่ได้ยินแต่เสียง คนมีแนวโน้มอยากฟังคอนเทนต์ที่มี “สาระ” มากกว่าบันเทิง (คนไปดูบันเทิงใน YouTube ดีกว่าจริงไหม?) การ Positioning ของแบรนด์ก็ต้องปรับให้ถูกจริตกลุ่มผู้ใช้งานคลับเฮ้าส์

เพราะเมื่อมองไปรอบๆ จากกลุ่ม Speaker รายบุคคล เรามักเห็นแต่คอนเทนต์สาระเต็มไปหมด อาทิเช่น

  • ฟัง Developers ของคลับเฮ้าส์ตอบคำถามด้วยตัวเองโดยตรง
  • สัมมนาด้านการตลาดในประเทศจีน
  • ฟังรุ่นพี่แชร์ประสบการณ์ด้าน Startups
  • นักศึกษาเข้าไปฟังคนญี่ปุ่นคุยกันเพื่อฝึกภาษาญี่ปุ่น

แบรนด์สามารถเป็น Sponsor ประจำห้องได้ (แม้ตามกฎ ตอนนี้คนในห้องต้องลงความเห็นกันเอง) ต่อไปเป็นไปได้ว่า Clubhouse จะอนุญาตตรงนี้และถ้าผู้ใช้งานคลับเฮ้าส์มากขึ้นจนถึงระดับ Critical Mass งบโฆษณาที่ลงไปจะถูกลง

อย่างที่บอกว่าคลับเฮ้าส์เล่นกับจิตวิทยาคนในเรื่อง “จบแล้ว-จบเลย” เมื่อคนกลัวพลาดช็อตสำคัญ พฤติกรรมผู้ฟังจึงมีแนวโน้มใช้เวลาใน Clubhouse นาน ยิ่งใช้เวลานานเท่าไร โอกาสการประชาสัมพันธ์แบรนด์ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ผลสำรวจจาก New York Times เผยว่า ผู้หญิงชาวอเมริกันคนหนึ่งให้คำตอบว่า เธอใช้เวลาในคลับเฮ้าส์มากกว่า 40 ชม./สัปดาห์ หรือวันละเกือบ 6 ชม.!! ขณะที่ผู้ชายอีกคนเปยว่าใช้เวลาราว 22 ชม./สัปดาห์ หรือราว 3 ชม./วัน

จะว่าไปแล้ว นี่ไม่ใช่ตัวเลขที่เกินจริงเลย เพราะคนไทยเองเฉลี่ยใช้โซเชียลมีเดียถึงวันละ 3 ชม. ติดอันดับท็อปของโลก

โดยเฉพาะช่วง ‘ลองของใหม่’ ระยะนี้ เวลาในการเล่นโซเชียลอื่นๆ ถูกดูดมาอยู่ที่ Clubhouse เป็นส่วนใหญ่  เมื่อคนตามมากขึ้น ก็ใช้เป็นช่องทางการสื่อสารของแบรนด์ในเรื่องต่างๆ ใช้โปรโมทเวลาออกสินค้าใหม่ ใช้ “รับฟังความคิดเห็นของสังคม” (Social Hearing) ใช้อธิบายเหตุผลว่าทำไมเปลี่ยนแพกเกจจิ้งเป็นแบบ eco-friendly

กลุ่มผู้บริหารองค์กรก็ควรรีบโดดเข้ามาให้ไว ใช้คลับเฮ้าส์เป็นเครื่องมือรับฟัง Customer Feedback “เชิงลึก” อย่างที่บอกว่าพฤติกรรมคนเล่นมีแนวโน้มพูดจาตรงไปตรงมา เราจะได้รับฟังความจริงและมุมมองใหม่ๆ ที่มีต่อสินค้าบริการของเรา

เมื่อพูดถึงเชิงลึก คนจะตามฟังเราไปทุกที่ (มีระบบแจ้งเตือน) เมื่อเค้ารู้ว่าเรารู้ลึกจริง เกิดเป็นกลุ่มคนที่มีปฏิสัมพันธ์กัน (Engaged Community) แม้จำนวนผู้ใช้งานยังไม่เยอะเมื่อเทียบกับโซเชียลอื่น แต่วิธีนี้เน้นคุณภาพ > ปริมาณ

นอกจากนี้ Account ของ Clubhouse เชื่อมต่อกับ Instagram และ Twitter ของเรา เมื่อคนตามคลับเฮ้าส์มากขึ้น ก็มีแนวโน้มตามต่อไปโซเชียลมีเดียทั้งสอง โดยเฉพาะเวลาเรา “ขึ้นพูด” (และต่อพูดได้ดี)

และถ้าสังเกต Demographic ของผู้ใช้งาน ณ ตอนนี้ จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นนำในสังคมไทยตามแวดวงต่างๆ ไม่ว่าจะธุรกิจ การลงทุน สตาร์ทอัพ บันเทิง โค้ชชิ่ง ไอที การเมือง…เป็นโอกาสดีในการสร้าง Elite Networking อาศัยความง่ายในการเข้าถึงแต่ละห้อง

ที่อเมริกาตอนนี้ถึงกับมีกฎ “Average Five” ในหมู่ผู้บริหารระดับสูง (คือเราเป็นคนยังไง ขึ้นอยู่กับคนรอบตัว 5 คนที่คบหาคุยกันบ่อยสุด) พวกเค้าจะตามหาคนระดับเดียวกันอย่างน้อย 5 คน ต่างอุตสาหกรรมกันก็ได้เพื่อพึ่งพาอาศัยกัน และหมั่นแชร์พูดคุยกันบ่อยๆ เป็น Executive Connection ระดับผู้บริหาร-ผู้บริหาร ซึ่งอาจส่งผลต่อบริษัทในอนาคตได้ เช่น อีกฝ่ายเป็นเจ้าของอาณาจักร Retail ในภูมิภาคหนึ่ง และคุณมีสินค้าออกใหม่ที่ยังไม่เคยทำตลาดในภูมิภาคนี้มาก่อน ก็ใช้ห้องคลับเฮ้าส์เจรจาคุยดีลกันได้

ไม่ต่างจาก TikTok ที่พิสูจน์แล้วว่าแบรนด์สามารถมีส่วนร่วมได้ การสร้างการรับรู้สู่คลับเฮ้าส์ก็ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงออกไปอีกช่องทางเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยัง ‘เร็วเกินไป’ ที่จะตัดสิน เพราะเมื่อย้อนดูประวัติโซเชียลมีเดียในอดีต ก็มีทั้ง “รุ่งและร่วง” 

  • Facebook เกิดปี 2004 และต้องรอถึง 5 ปีกว่าจะมีกำไร เพราะทุ่มงบไปกับการเพิ่มผู้ใช้งานให้เร็วที่สุด ปัจจุบันผู้ใช้งาน FB ราว 2,800 ล้านคน
  • YouTube เกิดไล่เลี่ยกับ FB และคอมโบครองโลกรว่มกัน เนื้อหาแบบ Video ถูกจริตคนดู ปัจจุบันผู้ใช้งาน YouTube ราว 2,000 ล้านคน
  • Twitter ข้อความสั้นๆ เหมาะกับเรื่องราวฉับไว และตามกระแสเทรนด์แต่ละวัน ยอดผู้ใช้งาน 330 ล้านคน
  • Hi5 ยังจำความหลังได้ไหม? หนึ่งในผู้บุกเบิกโซเชียลมีเดียที่ไปไม่รอด ยอดผู้ใช้งานสูงสุดตอนนั้นอยู่ที่ราว 50 ล้านคนเท่านั้น
  • MSN ที่ใครหลายคนกลับจากโรงเรียนและรอคนที่แอบชอบขึ้นสถานะ Online ก็ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านด้วยการมาถึงของ Facebook Messenger และ WhatsApp ที่ใช้ง่ายกว่าและตอบโจทย์หลายด้านกว่า
  • Telegram แอพแชทที่ตอนแรกเหมือนจะมาแรง แต่สุดท้ายครองได้แค่ตลาดอิหร่าน อุซเบกิสถาน และเอธิโอเปีย ด้วยยอดผู้ใช้งานราว 200 ล้านคน
  • Classmates โซเชียลมีเดียผู้มาก่อนกาลตั้งแต่ปี 1995 ในช่วงที่อินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย 
  • Google+ แม้แต่ยักษ์ใหญ่ที่ลงมาเล่นเองในปี 2011 ก็ม้วนเสื่อกลับบ้านไปเมื่อหลายปีก่อน เพราะการใช้งานที่ไม่ตอบโจทย์ ทางการเกินไป ไม่สนุก

สุดท้ายเราทุกคนต้องติดตามต่อไปว่าคลับเฮ้าส์จะเดินไปเส้นทางไหน โตต่อเนื่องขยายสู่ตลาดแมส ถูกเจ้าใหญ่ซื้อไป หรือร่วงดับหายไปตามกาลเวลา..

.

.

ยุคนี้มีอาชีพเกิดใหม่ทุกปี รีบมาทำ “แบบประเมินอาชีพ” ได้ฟรีๆ จาก CareerVisa เพื่อเช็คว่าสายอาชีพไหนกันแน่ที่คุณอยากทำ!! >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

อ้างอิง

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

ใครๆ ก็ไม่รักผม…อยากเป็นคนน่าสนใจมากขึ้น ควรทำอย่างไร?

เคยสงสัยหรือไม่ว่าเราเป็นคนที่น่าสนใจหรือเปล่า? ถ้าคิดว่าตอนนี้เราไม่ได้เป็นที่น่าสนใจ ก็อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะว่าความน่าสนใจมันสามารถสร้างได้เพียงแค่เสริมหรือปรับพฤติกรรมแค่บางอย่างเท่านั้น มาลองดูกันว่ามีอะไรบ้าง

Constructive Feedback

Constructive Feedback ฟีดแบคยังไงให้ลูกทีมรัก ?

Constructive Feedback คือการให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ โดยเน้นการปรับปรุงและพัฒนา แทนที่จะเป็นการวิจารณ์เชิงลบ โดยควรชี้จุดที่ต้องปรับปรุงพร้อมแนวทางแก้ไข เพื่อช่วยให้ผู้รับข้อเสนอแนะพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Confirmation Bias

Confirmation Bias : มองหาแต่สิ่งที่ยืนยันความเชื่ออันฝังรากลึกของตัวเอง!

Confirmation Bias คือแนวโน้มที่คนจะหาข้อมูลหรือเชื่อเฉพาะสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อหรือความคิดเห็นที่มีอยู่แล้ว และมองข้ามหรือปฏิเสธข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อนั้น ส่งผลให้การตัดสินใจไม่เป็นกลาง