รับมือเด็ก Gen Z ยังไงให้ไม่โดนถอนหงอก?!!

Gen Z
“Gen Z” จะเป็นกลุ่มคนทำงานที่มีจำนวนมากที่สุดในบรรดาทุกเจน HR จึงต้องเตรียมองค์กรให้พร้อมรับคนรุ่นใหม่ซึ่งมาพร้อมความคิดใหม่ๆ ที่เราคาดไม่ถึง

นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มี “คนครบทุกเจเนอเรชั่น” มารวมอยู่ในที่ทำงาน

และภายในปี 2025 “Generation Z” จะเป็นกลุ่มคนทำงานที่มีจำนวนมากที่สุดในบรรดาทุกเจน HR จึงต้องเตรียมองค์กรให้พร้อมรับคนรุ่นใหม่ซึ่งมาพร้อมความคิดใหม่ๆ ที่เราคาดไม่ถึง

การจะรับมือคน Generation Z เราต้องรู้ก่อนว่าพวกเขาเป็นคนอย่างไร?

Who is Gen Z ?

Generation Z คือกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 1996-2010 ถึงปัจจุบันมีอายุระหว่าง 11-25 ปี ช่วงอายุที่มากที่สุดของ Generation Z พึ่งจะเริ่มเข้าทำงานเป็นครั้งแรกได้ไม่กี่ปี หรือที่เรียกว่ากลุ่ม “First Jobber”

Knowledge Gap

Gen Z

ในมุมมองของคนเจนก่อนหน้า อาจรู้สึกว่า Generation Z “โตกว่าวัย” เพราะเทคโนโลยีได้พาพวกเขาสู่โลกแห่งข้อมูลข่าวสาร พวกเขาเป็นคนยุคแรกในประวัติศาสตร์ที่เกิดมาก็มี smartphone ดีๆ ให้เล่นตั้งแต่แบเบาะแล้ว

เรื่องที่ Baby Boomers รู้และเข้าใจตอนเป็นผู้ใหญ่… Generation Z อาจรู้และเข้าใจตั้งแต่วัยรุ่น!

นั่นจึงทำให้ Generation Z มีความ “รอบรู้” หลายด้าน ประยุกต์ศาสตร์ต่างๆ เข้าหากัน (Connecting the Dots) มีความรู้แบบ T-shaped เป็นพื้นฐาน รู้ลึกเรื่องเดียว…แต่รู้กว้างหลายเรื่อง

ในฐานะ HR หรือหัวหน้า จะมองข้ามเรื่องนี้ไปไม่ได้เลย องค์ความรู้ที่คุณมี…Gen-Z ก็อาจมีเหมือนกัน แต่มาในเวอร์ชั่นที่ใหม่กว่า อัพเดทกว่า เกี่ยวข้องกับโลกปัจจุบันมากกว่า จะดีกว่าถ้าเราใช้ “ประสบการณ์” คอยชี้แนะพวกเค้าให้ต่อยอดยิ่งขึ้น

เวลาคุยกับพวกเค้าต้องเข้าหาด้วยเหตุผล วลี “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”  ใช้ไม่ได้อีกต่อไป หรือ “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน”  Generation Z จะถามย้อนกลับ “ร้อนกี่องศา และ ทำไมต้องอาบน้ำร้อน…อากาศข้างนอกยังร้อนไม่พอเหรอครับ?”

Born in Crisis

Generation Z เติบโตมาพร้อมวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงและถี่มากที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ตั้งแต่ต้มยำกุ้ง ปี 1997 / วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008 / การตกต่ำของเศรษฐกิจไทยในรอบหลายปีนี้ / จนมาล่าสุดโควิด-19…ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาพึ่งเรียนจบ (จบมาไม่ทันไรโดนหนักเลย!)

ตอนยังเด็กพวกเขาเห็นพ่อแม่สูญเสียความมั่งคั่ง พอตัวเองโตมาเรียนจบก็ถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติโควิด-19 ที่ตามมาด้วยวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก กลุ่มนี้จึงมีความ Realistic สูงมาก ไม่โลกสวย มองโลกตามความเป็นจริง การวิเคราะห์ใดๆ จะต้องพิจารณาสภาพเหตุการณ์โลกควบคู่กันและมี “ข้อมูล” รองรับเสมอ

เรื่อง “เงิน” สำหรับ Generation Z เป็นเรื่องใหญ่ HR ต้องคุยให้เคลียร์เรื่องผลตอบแทน และ บอกให้ชัดเจนถึงโอกาสก้าวหน้าในองค์กร (Internal Mobility) เพราะ Gen-Z ต้องการความมั่นคงในองค์กรไม่ต่างจาก Gen X ที่เป็นรุ่นพ่อแม่

นอกจากด้านเศรษฐกิจ Generation Z ยังโตมาพร้อมปัญหาแห่งศตวรรษอย่างการก่อการร้าย ภาวะโลกร้อน ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความเหลื่อมล้ำ วิกฤติทางการเมือง ปัญหาเหล่านี้บีบบังคับให้ Gen Z “ตั้งคำถาม” กับสิ่งเดิมๆ ที่เคยเป็นมา และมองหาหนทางที่จะ “สร้าง” อนาคตขึ้นมาใหม่ในแบบตนเอง หล่อหลอมให้มีจิตวิญญาณแบบผู้ประกอบการที่จะหานวัตกรรมใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา

ถ้าผู้บริหารใจกว้างมากพอ ควรลองมอบหมายโปรเจ็คท์ที่เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ Generation Z ในองค์กรเป็นคนนำทีม รู้หรือไม่ว่า…เบื้องหลังการจับมือระหว่าง KBank และ BLACKPINK เมื่อปลายปี 2019 มีทีมมันสมองเป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ Young Talents ของ KBank คอยคิดอยู่แทบทั้งหมด (ผู้บริหารเป็นแค่ที่ปรึกษาและคอยอนุมัติ)

Gen Z

Image Cr. bit.ly/3bkvDz1

Authenticity

Generation Z กล้าแสดงออก เปิดเผยความเป็นตัวเองสูงมาก โพสอะไรในโซเชียลมักดูสมจริงกว่าเจนอื่น รูปไม่ต้องเนี้ยบมาก หน้าไม่ต้องใสเว่อร์ก็ได้

ทัศนคตินี้ส่งผลมาถึงการทำงานโดยเฉพาะด้าน Marketing แบรนด์ต้องไม่มีภาพลักษณ์ดีเกินจริง (Too good to be true) เรื่องราวที่กินใจต้องบอกได้ว่ามาจากประสบการณ์จริงไม่ใช่ฟังเขามาอีกที พรีเซนเตอร์ต้องดูออกว่าอินกับสินค้าของแบรนด์นั้นจริงๆ

อาจออกนอกกรอบของบริษัทไปบ้าง แต่จุดแข็งคือ Gen-Z จะปฏิบัติแบบไม่ดูถูกความรู้ของลูกค้า ไม่ผิวเผิน รับฟังปัญหาลูกค้าจริงๆ เสนอสินค้าบริการเพื่ออยากแก้ปัญหาให้เค้าจริงๆ

Social Interaction

Philip Kotler ปรมาจารย์ด้านการตลาดกล่าวไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขา Marketing 5.0 ว่า แม้ Gen-Z จะโตมากับหน้าจอ smartphone แต่กลับเป็นกลุ่มคนที่โหยหา “ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม” (Social Interaction) สูงกว่าที่หลายคนคิด เทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือที่เชื่อมพวกเขาให้มาเจอกันตัวเป็นๆ ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง

HR จึงต้องออกแบบวัฒนธรรมองค์กรให้พนักงานมีส่วนร่วม (Employee Engagement) เช่นอาจทำ Standup Meeting ยืนล้อมวงก่อนเริ่มงานทุกเช้า ที่นอกจากจะอัพเดทเรื่องงานแล้ว ก็ให้แต่ละคน “บอกเล่า” เรื่องราวที่ตนไปเจอมา จะมีสาระ/ไม่มีสาระก็ได้ (แสดงออกความเป็นตัวเอง)

หรือหากเป็นวิกฤติช่วงโควิด-19 ที่ทุกคน Work From Home และประชุมทางไกล HR ก็สามารถออกมาตรการให้ทุกคน “เปิดกล้อง” คุยกันทุกครั้งแทนการปิดกล้องไม่เห็นหน้า

Gen Z

หรืออาจนัด Team Hangout ทุกๆ 2 อาทิตย์หรือเดือนละครั้ง ออกไปหาร้านอร่อยๆ ทานหรือทำกิจกรรมต่างๆ ให้รู้จักเพื่อนร่วมทีมในมิติอื่นๆ Generation Z จะมีความสุขในการทำงานและจงรักภักดีต่อองค์กรมากขึ้น

Visual rather than Text

Generation Z ชื่นชอบการใข้รูปภาพครีเอทีฟและภาพเคลื่อนไหวแทนตัวอักษร (ส่งผลมาถึงการส่งสติ๊กเกอร์ไลน์แทนคำพูด…ซึ่งผู้ใหญ่อาจไม่เข้าใจว่าสื่อถึงอะไร)

การสื่อสารภายในองค์กรที่ต้องการโน้มน้าวหรือขอความร่วมมือ Generation Z จะรับรู้และยอมทำตามกว่ามากถ้าเป็นรูปภาพแทนที่ตัวอักษรทื่อๆ เต็มหน้า A4

ส่งผลไปถึงการทำ Marketing ที่ถูกจริตกับ Video Content มากกว่าบทความยาวๆ (แม้จะย่อยมาแล้วก็ตาม) ผลวิจัยจาก GenHQ เผยว่ากลุ่มคน Generation Z ยังดู YouTube นานถึงวันละ 3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

Sustainability is Standard.

Generation Z มองว่าการช่วยเหลือสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรฐานที่องค์กรต้องมีไปแล้ว CSR ต้องไม่ทำด้วยเหตุผลแฝงด้านภาษี Gen-Z จะวิเคราะห์อย่างหนักว่าบริษัทตั้งใจแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือช่วยเหลือสังคมจริงๆ หรือไม่?

มองในมุมผู้บริโภค Generation Z ให้คุณค่ากับแบรนด์มากกว่าแค่ ‘ตัวสินค้า’ แต่มองไปถึง…

  • ความเป็นธรรมในการใช้แรงงาน ค่าแรงเป็นธรรมไหม? มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศไหม? 
  • การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โรงงานใช้ระบบ Zero Waste รึเปล่า? อัตราการรีไซเคิลอยู่ที่เท่าไร? 
  • แม้แต่อุดมการณ์ทางการเมือง ก็เป็นสิ่งที่ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการให้แบรนด์แสดงออกถึงจุดยืนในบางเรื่อง

ลองมาดู 2 ตัวอย่างจาก 2 เจนที่บอกถึงความแตกต่างด้านทัศนคติ เช่น ไปซื้อของแล้วทางซูเปอร์มาร์เก็ตมีนโยบายไม่แจกถุงพลาสติก

  • Baby Boomers อาจมองว่าเอาเปรียบ ราคาสินค้าก็ไม่ลด ฉันจ่ายเงินซื้อของนะก็ต้องมีสิทธิ์ได้ถุงสิ นี่มันผลักภาระมาให้ผู้บริโภคนี่นา
  • Generation Z มองว่าก็ปกตินี่นา การช่วยรักษ์โลกเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างพวกเราเช่นกัน หลายคนถึงกับมองว่า เข้าซูเปอร์มาร์เก็ตซื้อของแล้วหิ้วถุงพลาสติกออกมาเป็นเรื่องที่ “เชย!”

เมื่อเราช่วยโลก โลกจะเป็นบ้านที่ดีให้เราต่อไป

เมื่อเราช่วยทุกคนได้มากขึ้น โอกาสและมูลค่าทางธุรกิจก็มากขึ้นตาม

Community

Engaging Brands แบรนด์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า มีการสร้าง Community ขึ้นมา คือสิ่งที่ Gen Z มองหา เขาจะรู้สึกถึงการมีตัวตนและพร้อมปกป้องแบรนด์

ซึ่งจะว่าไป…นี่เป็นเทรนด์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว “ไม่ใช่แค่ Gen-Z แล้วที่คิดแบบนี้”

“น้าเน็ก” พิสูจน์เรื่องนี้ได้ชัดเจนมาก น่าเหลือเชื่อว่าคน Gen X แบบเขาพึ่งมาทำธุรกิจสื่อออนไลน์ได้เพียง 2-3 ปี แต่กลับประสบความสำเร็จอย่างสูง เขาเล่าว่า “หัวใจยุคนี้คือ ต้องสร้าง Community ให้ได้” เป็นกลุ่มคนที่มารวมกันและมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์อย่างแน่นแฟ้น ซึ่งธุรกิจของเขาที่มีอยู่เยอะครอบคลุมหลายกลุ่มเป้าหมาย ทุกช่องทางล้วนมี Community อันแข็งแกร่งเป็นของตัวเอง

Flexibility

Generation Z เชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยีมากที่สุด และพร้อมเรียนรู้ของใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่เต้นโชว์ลง TikTok จนมาถึงการหาทุกช่องทางเพื่อถูกเชิญเข้า Clubhouse

และเป็นอีกเจนที่ถูกจริตการทำงานที่ยืดหยุ่นทั้งด้านเวลา สถานที่ สไตล์การทำงาน ซึ่งเป็นสภาวะที่เฟ้นความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้ดีที่สุด

ผลสำรวจจาก Kronos ในหมู่ Generation Z กว่า 3,400 คนยังพบว่า กว่า 1/4 ยินดีอยู่กับบริษัทนานขึ้นและทำงานหนักขึ้น ถ้าบริษัทออกแบบตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นให้พวกเขาได้

Google ให้พนักงานออกแบบตารางการทำงานที่เหมาะกับตนที่สุดด้วยตัวเอง และสร้างห้องนอนภายในออฟฟิศที่เรียกว่า “Nap Pods” ใครง่วงแวะงีบได้ก่อนลุยงานต่อ

องค์กรที่สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปิดกว้างที่รับฟังเสียงทุกเสียง จะสามารถดึงศักยภาพของ Gen-Z ออกมาได้มากที่สุด

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พลังคลื่นลูกใหม่อย่าง Generation Z จะเข้าสู่ตลาดแรงงานเต็มตัวพร้อมเฉิดฉายพลังความคิดคนรุ่นใหม่ ท้ายที่สุด HR ต้องเรียนรู้และคอยเปิดใจ “รับฟัง” พวกเขาอยู่ตลอดเวลา

องค์กรขับเคลื่อนด้วยคน ใครดึงศักยภาพของ Gen-Z (ที่มีจำนวนมากที่สุดและสดใหม่ที่สุด) ออกมาได้เยอะที่สุด คือผู้ชี้ชะตาองค์กรแห่งอนาคต

.

.

ลองให้ Generation Z มาทำ “แบบประเมินอาชีพ” ได้ฟรีๆ จาก CareerVisa เพื่อเช็คให้ชัวร์ก่อนว่านี่คืออาชีพที่ใช่ ที่เหมาะสมกับเราหรือไม่ >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

อ้างอิง

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

ใครๆ ก็ไม่รักผม…อยากเป็นคนน่าสนใจมากขึ้น ควรทำอย่างไร?

เคยสงสัยหรือไม่ว่าเราเป็นคนที่น่าสนใจหรือเปล่า? ถ้าคิดว่าตอนนี้เราไม่ได้เป็นที่น่าสนใจ ก็อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะว่าความน่าสนใจมันสามารถสร้างได้เพียงแค่เสริมหรือปรับพฤติกรรมแค่บางอย่างเท่านั้น มาลองดูกันว่ามีอะไรบ้าง

Constructive Feedback

Constructive Feedback ฟีดแบคยังไงให้ลูกทีมรัก ?

Constructive Feedback คือการให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ โดยเน้นการปรับปรุงและพัฒนา แทนที่จะเป็นการวิจารณ์เชิงลบ โดยควรชี้จุดที่ต้องปรับปรุงพร้อมแนวทางแก้ไข เพื่อช่วยให้ผู้รับข้อเสนอแนะพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Confirmation Bias

Confirmation Bias : มองหาแต่สิ่งที่ยืนยันความเชื่ออันฝังรากลึกของตัวเอง!

Confirmation Bias คือแนวโน้มที่คนจะหาข้อมูลหรือเชื่อเฉพาะสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อหรือความคิดเห็นที่มีอยู่แล้ว และมองข้ามหรือปฏิเสธข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อนั้น ส่งผลให้การตัดสินใจไม่เป็นกลาง