นายจ้างดีเด่น PepsiCo – Top Employer 2024

เรียนรู้วิธีดูแลพนักงานของ ‘เป๊ปซี่โค’ ผู้นำแห่งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่สามารถคว้ารางวัลนายจ้างดีเด่น 4 ปีซ้อนจาก Top Employers Institute

ดูเหมือนว่าความสำเร็จของ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ผู้นำด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่ม ‘เป๊ปซี่’ และมันฝรั่งทอดกรอบ ‘เลย์’ ที่สามารถคว้ารางวัลนายจ้างดีเด่นจาก Top Employers Institute สถาบันจัดอันดับนายจ้างที่มีชื่อเสียงระดับโลก ติดต่อกัน 4 ปีซ้อน ทำให้หลายองค์กรอยากรู้ว่า เคล็ดลับความสำเร็จในการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ดีขององค์กรระดับบิ๊กไซส์คืออะไร

 

ผลลัพธ์ที่ดีต้องเริ่มที่เมล็ดพันธุ์ที่ดีและรากฐานที่มั่นคง

การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดีด้วยการคัดสรรบุคลากรที่มีแนวคิดและทักษะที่ตอบโจทย์ทิศทางขององค์กร แม้จะเป็นหลักคิดที่หลายองค์กรนำไปใช้ แต่เมื่อลงลึกไปถึงกลยุทธ์ในแต่ละองค์กร ก็มีรายละเอียดที่ต่างกัน 

อย่างที่เป๊ปซี่โค นอกจากจะคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดีแล้ว องค์กรเองต้องวางรากฐานที่มั่นคงตั้งแต่ต้น ซึ่งรากฐานที่ว่าก็คือพันธกิจ (Mission) ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างสำหรับพนักงานและองค์กร กลายเป็น 1 ใน 4 กลยุทธ์ที่ทำให้เป๊ปซี่โค ประเทศไทย คว้ารางวัลนายจ้างดีเด่นต่อเนื่อง 4 ปีซ้อน และถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ ‘Iconic Brands and Innovators’ หรือการนำเสนอถึงความท้าทายในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในทุกระดับ ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมในการคิดค้น การใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และกระบวนการผลิตที่ทันสมัย เพื่อที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจและเป็นเอกลักษณ์

กลยุทธ์ต่อมาคือ ‘Meaningful Opportunities’ ที่ผ่านมาเป๊ปซี่โคได้รับการยอมรับในเรื่องการพัฒนาด้านต่างๆ ผ่านการออกแบบโปรแกรมสร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง เพื่อให้พนักงานทุกระดับปลดล็อกศักยภาพของตัวเอง

อาทิ ‘Human-Centric Leadership’ โปรแกรมพัฒนาผู้นำระดับโลกที่มุ่งเน้นที่จะผสานรูปแบบการพัฒนาผู้นำระดับโลกเข้ากับแนวคิดคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อให้ความสำคัญกับความสามารถทางธุรกิจและการใส่ใจในเรื่องของคนเป็นอันดับแรก หรือ ‘Talent Glasshouse’ โปรแกรมที่ช่วยให้พนักงานได้เรียนรู้การทำงานของผู้บริหารระดับสูงอย่างใกล้ชิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการทำงาน รวมทั้งเปิดโอกาสให้กับพนักงานภายในองค์กรหมุนเวียนตำแหน่งงาน หรือโยกย้ายไปทำงานที่สาขาอื่นๆ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชนผ่านโปรแกรม Internship และ Campus Visit ที่ส่งเสริมทักษะและประสบการณ์ให้นักศึกษา

อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญคือ ‘Inclusive Community’ หลักการที่ทำให้เป๊ปซี่โคมีทีมงานที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อายุ และเพศสภาพ และนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ โดยบริษัทเปิดกว้างและสนับสนุนการจ้างงานอย่างเท่าเทียมทั่วโลก รวมไปถึงการจัดกิจกรรมให้กับพนักงาน สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อทุกความหลากหลาย และสวัสดิการที่ครบครัน

อาทิ กิจกรรม Woman Coaching ให้คำปรึกษาและคำแนะนำสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ หรือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันระหว่างเจเนอเรชัน การปฏิบัติต่อเพศทางเลือกในที่ทำงาน การแต่งงานของคู่รักเพศหลากหลาย โอกาสเติบโตสำหรับผู้หญิงในฐานะผู้นำ ไปจนถึงพนักงานที่มีครอบครัวที่ต้องรักษาสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว โดยมีนโยบายส่งเสริมให้พนักงานมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากยิ่งขึ้น โดยพนักงานสามารถเลือกที่จะเข้าไปทำงานที่สำนักงานอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ ส่วนที่เหลือสามารถมีความยืดหยุ่นในการทำงานจากบ้าน (Work From Home) หรือที่อื่นๆ ได้

และกลยุทธ์สุดท้ายคือ ‘Positive Impact’ อาจเรียกว่าเป็นวิสัยทัศน์ของ ‘เป๊ปซี่โค’ ก็ไม่ผิด ที่ทำให้วันนี้องค์กรสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกในธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม ผ่าน pep+ (PepsiCo Positive) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ในทุกส่วนของธุรกิจ กลยุทธ์นี้ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การทำกำไรอย่างเดียว แต่ยังนำเรื่องความยั่งยืนและคนเข้าไปรวมอยู่ในยุทธศาสตร์ของธุรกิจ

ทั้งนี้ ทุกกลยุทธ์ในการบริหารบุคลากรของเป๊ปซี่โค ล้วนสอดแทรกรายละเอียดเล็กๆ ที่สร้างความสุขให้กับพนักงาน เมื่อพนักงานเกิดความสุข ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่อยากจะส่งต่อความสุขให้กับผู้อื่นเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องไปกับเป้าหมายหลักขององค์กรที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อส่งมอบความสุขไปสู่ทุกๆ คนบนโลกใบนี้อย่างแท้จริง

และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเป๊ปซี่โคจึงคู่ควรกับรางวัลนายจ้างดีเด่น 4 ปีซ้อน จนกลายเป็นที่ยอมรับในวงการนายจ้างทั่วโลก สำหรับเป๊ปซี่โค รางวัลที่ได้รับไม่เพียงแสดงถึงการยอมรับจากสถาบันชั้นนำระดับโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องยืนยันว่าองค์กรให้ความสำคัญและใส่ใจในการพัฒนาพนักงานให้พร้อมเติบโตไปกับองค์กรอย่างแท้จริง

ปีหน้าเป๊ปซี่โคจะคว้ารางวัลเป็นปีที่ 5 ได้หรือไม่ต้องติดตาม แต่ที่แน่ๆ ผู้บริโภคอย่างเราจะได้ลิ้มลองสินค้าใหม่ๆ ที่ดีและมีคุณภาพจากแบรนด์นี้อย่างแน่นอน เพราะเขาประกาศแล้วว่า

“เป๊ปซี่โคจะเติบโตขึ้น และเป็นเวอร์ชันที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมที่ท้าทายนี้”

#PepsiCoThailand #MeaningfulOpportunities #PositiveImpact #InclusiveCommunity #IconicBrandsandInnovators








Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

ใครๆ ก็ไม่รักผม…อยากเป็นคนน่าสนใจมากขึ้น ควรทำอย่างไร?

เคยสงสัยหรือไม่ว่าเราเป็นคนที่น่าสนใจหรือเปล่า? ถ้าคิดว่าตอนนี้เราไม่ได้เป็นที่น่าสนใจ ก็อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะว่าความน่าสนใจมันสามารถสร้างได้เพียงแค่เสริมหรือปรับพฤติกรรมแค่บางอย่างเท่านั้น มาลองดูกันว่ามีอะไรบ้าง

Constructive Feedback

Constructive Feedback ฟีดแบคยังไงให้ลูกทีมรัก ?

Constructive Feedback คือการให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ โดยเน้นการปรับปรุงและพัฒนา แทนที่จะเป็นการวิจารณ์เชิงลบ โดยควรชี้จุดที่ต้องปรับปรุงพร้อมแนวทางแก้ไข เพื่อช่วยให้ผู้รับข้อเสนอแนะพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Confirmation Bias

Confirmation Bias : มองหาแต่สิ่งที่ยืนยันความเชื่ออันฝังรากลึกของตัวเอง!

Confirmation Bias คือแนวโน้มที่คนจะหาข้อมูลหรือเชื่อเฉพาะสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อหรือความคิดเห็นที่มีอยู่แล้ว และมองข้ามหรือปฏิเสธข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อนั้น ส่งผลให้การตัดสินใจไม่เป็นกลาง