เมื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2025 นักทรัพยากรมนุษย์ (HR) ในหลายองค์กรต่างกำลังปรับปรุงแผนงานเดิมจากปีที่ผ่านมา พร้อมกับการสร้างแผนงานใหม่ที่สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร และเมื่อต้องพูดถึงการวางแผนงาน การกำหนด “ตัวชี้วัด” (KPIs , OKRs) ก็เป็นหัวใจสำคัญที่ HR ใช้เพื่อประเมินความสำเร็จและสร้างแนวทางพัฒนาองค์กร
หนึ่งในตัวชี้วัดยอดนิยมที่ถูกนำมาใช้บ่อยคือ Employee Engagement หรือการสำรวจความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร ซึ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยให้กระบวนการนี้มีความซับซ้อนและแม่นยำยิ่งขึ้น เช่น การใช้ Natural Language Processing (NLP) เพื่อวิเคราะห์ความคิดเห็นเชิงลึกของพนักงานผ่านข้อความยาวๆ ที่เคยถูกมองข้ามในอดีต
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความสำคัญของ Employee Engagement จะยังคงอยู่ แต่งานวิจัยจาก Gallup ระบุว่าความผูกพันของพนักงานกับองค์กรมีแนวโน้มลดลง โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 23% ของแรงงานทั่วโลก และ 32% ของแรงงานในสหรัฐฯ ที่มี Engagement สูงสุด (Actively Engaged) สะท้อนถึงปรากฏการณ์อย่าง Quiet Quitting และ The Great Resignation ที่กำลังเกิดขึ้น
ดังนั้น HR จึงต้องมองหา “ตัวชี้วัด HR ใหม่” ที่สามารถสะท้อนผลลัพธ์เชิงลึกและตอบโจทย์ธุรกิจได้จริง ในบทความนี้ เราขอแนะนำ 2 ตัววัดสำคัญ ที่ HR ควรพิจารณาเพิ่มเข้าไปในระบบวัดผลขององค์กร
1. ความสำเร็จของทีมงานแต่ละทีม (Team Success)
การวัดความสำเร็จของทีมเป็นวิธีที่ช่วยให้เราเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในทีม การเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดคือ การถามทีมงานว่า “ความสำเร็จในมุมมองของพวกเขาคืออะไร?”
ผลการสำรวจของ Gartner พบว่า 82% ของพนักงานมองว่าความสำเร็จเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล มากกว่าความสำเร็จของทีม ซึ่งเป็นสิ่งที่ HR และผู้จัดการต้องช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองนี้เพื่อให้ทีมทำงานอย่างสอดคล้องและมีเป้าหมายร่วมกัน
แนวทางการวัด:
- ให้แต่ละทีมอธิบายวัฒนธรรมการทำงานของตน เช่น พวกเขามองเพื่อนร่วมทีมและบริษัทอย่างไร?
- วิเคราะห์คำตอบเพื่อเข้าใจว่าทีมรู้สึกอย่างไรกับองค์กร จากนั้นสร้าง ตัวชี้วัดทีม ที่ชัดเจน เช่น เป้าหมายร่วมที่สมาชิกทุกคนต้องการบรรลุ
การปรับเป้าหมายทีมให้ชัดเจนและมีส่วนร่วมมากขึ้น จะช่วยให้ทีมสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ซึ่งส่งผลดีต่อความสำเร็จขององค์กรในระยะยาว
2. นวัตกรรมและไอเดียใหม่ (Innovation and New Ideas)
ในยุคที่ธุรกิจแข่งขันกันด้วยความรวดเร็ว ไอเดียเล็กๆ ก็อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญขององค์กร การวัดจำนวนและคุณภาพของ ไอเดียใหม่ ที่เกิดขึ้นในองค์กรจึงเป็นตัวชี้วัดที่ไม่ควรมองข้าม
แนวทางการวัด:
- เริ่มต้นด้วยคำถามง่ายๆ เช่น “คุณได้เรียนรู้อะไรจากโครงการล่าสุด?”
- ติดตามด้วยคำถามเชิงกระตุ้น เช่น “ไอเดียถัดไปที่คุณอยากทำคืออะไร?”
- สร้างพื้นที่สำหรับการแบ่งปันความคิด เช่น การประชุมทีมเล็กๆ หรือช่องทางออนไลน์เพื่อรวบรวมไอเดีย
ไม่เพียงแค่ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ แต่การวัดนวัตกรรมยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหัวหน้าทีมและลูกทีม ช่วยให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่าและได้รับการสนับสนุน
ข้อสรุป “ตัวชี้วัด HR”
แม้ว่าตัวชี้วัดยอดนิยมอย่าง Employee Engagement จะยังคงมีความสำคัญ แต่การเพิ่มตัววัดใหม่ เช่น ความสำเร็จของทีม และ นวัตกรรมและไอเดียใหม่ จะช่วยให้องค์กรเข้าใจมิติต่างๆ ของทรัพยากรมนุษย์ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
การใช้ตัวชี้วัด HR เหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาบุคลากร แต่ยังช่วยสร้างผลลัพธ์เชิงบวกที่สอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจ และทำให้ HR ก้าวสู่การเป็น Business Partner ที่แท้จริง มากกว่าการทำหน้าที่สนับสนุนเบื้องหลังเพียงอย่างเดียว
ขอบคุณข้อมูลจาก : วัฒนศักดิ์ วิบูลย์ชัยกุล