ตอบตัวเอง 10 ข้อนี้ให้ได้ก่อน ค่อยไปยื่นใบลาออก!

การลาออกเปลี่ยนงาน ลาออกเพื่อย้ายงานใหม่ หาความท้าทายใหม่ๆ อนาคตใหม่ๆ เป็นเรื่องปกติในชีวิตการทำงาน โดยเฉพาะช่วงสิ้นปีที่ความคิดนี้มักจะแว่บขึ้นมาในหัวคนทำงานหลายคน แต่การลาออกแต่ละครั้งเป็นเรื่องไม่เล็กเลย เพราะมันกระทบทุกแง่มุมในชีวิตของเราทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่จะถึง

ไม่มีใครห้ามเราให้ไม่ลาออกได้หรอก แต่เราควรคิดไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนซะก่อน! ค่อยไปยื่นใบลาออก และนี่คือ 10 ข้อคำถามที่คุณควรย้ำถามตัวเองบ่อยๆ ก่อนลาออก


  • เรายังจะได้เติบโตอะไรอีกจากงานนี้?

 

คำถามนี้ย้อนกลับไปมอง career path ของเราว่ามาถูกทางแล้วหรือไม่ และมีอนาคตไปต่อได้มากน้อยแค่ไหน เป็นการชวนตัวเองให้มองในระยะยาว ว่าเราสามารถพัฒนาทักษะ ดึงศักยภาพตัวเอง และต่อยอดในระยะยาวในอนาคตได้อย่างไร

 

ถ้าคำตอบคือ ใช่…งานที่ทำอยู่มันปูพื้นฐานสำคัญต่อวิชาชีพที่เราสามารถเอาไป apply ใช้หากินได้ยาวๆ ก็อาจยังไม่ถึงเวลาลาออก แต่ควรทำพื้นฐานให้ดีให้แน่นก่อน (Get the basic right)


  • ค้นหาต้นตอของสาเหตุ

 

หลายคนสับสนระหว่าง “ต้นตอสาเหตุ VS. ความรู้สึกที่เกิดขึ้น

 

บางทีคุณอยากลาออกเพราะแค่รู้สึก เบื่อหน่าย-ซ้ำซาก-จำเจ แต่ความรู้สึกนี้ไม่ใช่สาเหตุในตัวมันเอง วิธีคือให้ย้อนถามกลับไปว่าทำไมเราถึงรู้สึกแบบนี้ล่ะ?

 

เช่น บางทีคุณรู้สึกเบื่อหน่าย-ซ้ำซาก-จำเจ จนอยากลาออกเพราะไม่ได้ทำงานที่ท้าทายใช้ความครีเอทีฟ แต่เป็นงานเชิงรูทีนเหมือนเดิมในทุกๆ วัน ทางออกอาจไม่ใช่การลาออกแต่เป็นการพูดคุยกับหัวหน้าหรือสมาชิกในทีมเพื่อปรับเปลี่ยนเนื้องานความรับผิดชอบแทน!


  • ประเมินเนื้องานที่จะย้ายไปทำ

 

วิเคราะห์เนื้องานเวลาลงมือปฏิบัติจริงโดยไม่จำกัดด้วยชื่อตำแหน่ง แต่ลงดีเทลถึงประเภทของธุรกิจ ดูว่าคุณ contribute อะไรได้บ้างในงานใหม่ที่ย้ายไปทำ

 

เช่น ถ้าคุณเป็น content creator และลาออกไปทำในสายเดิมที่บริษัทใหม่ คุณจะมั่นใจได้ยังไงว่าจะไม่ถูกแทนที่ด้วย ChatGPT เวอร์ชั่นล่าสุด 

 

หรือคุณเก่งทำคอนเทนต์ใน FB & IG มาเฉพาะทางแพลตฟอร์มนี้ แต่งานใหม่กลับต้องโฟกัสที่ TikTok คุณจะเตรียมตัวอย่างไรล่ะทีนี้?

 

พอถามตัวเองแบบนี้ ก็จะนำเราไปสู่คำถามถัดไป


  • อะไรคือความแตกต่างของคุณ?

 

ไม่ว่าจะสายงานเดิมหรือใกล้เคียง หรือแม้แต่กระโดดข้ามสายวิชาชีพ ให้ถามตัวเองเสมอว่าอะไรคือสิ่งที่คุณสร้างให้ “แตกต่าง” จากคนอื่นได้? ไม่มีใครอยากทำอะไรเดิมๆ เพราะความแตกต่างช่วยสร้างจุดยืนที่มีแต้มต่อ

 

จากตัวอย่างเดิมก่อนหน้า คุณอาจพบว่าตัวเองเป็น content creator ที่แตกต่างจากคนอื่นในแง่ที่ว่า คุณมีองค์ความรู้รอบตัวที่สูง สามารถเชื่อมโยงร้อยเรียงเรื่องราวต่างๆ เข้าหากันจนทำให้คอนเทนต์ออกมามีรสชาติที่กลมกล่อม


  • เรามีคอนเนคชั่นกับใครบ้าง?

 

ในการลาออกเพื่อย้ายงานใหม่ก็ไม่ต่างจากการทำธุรกิจ เพราะการรู้จัก “ใคร” สำคัญไม่แพ้หรือมากกว่ารู้จักอะไรด้วยซ้ำ 

 

ให้ใช้เป็น ตัวช่วย (Leverage) มองไปรอบๆ ตัวว่าระหว่างทำงานเราได้สร้างคอนเนคชั่นมีสัมพันธไมตรีกับใครบ้าง คนเหล่านี้วามารถเป็นสะพานเชื่อมไปสู่ฟากฝั่งงานใหม่ที่คุณต้องการได้รวดเร็วและประหยัดแรงกว่าการเฟ้นหาด้วยตัวคุณเองทั้งหมด


  • หรือบางทีเราแค่เหนื่อย?

 

ภาวะเหน็ดเหนื่อย หมดอาลัยตายอยาก หมดสภาพ หมดเรี่ยวหมดแรง ไม่มีกะจิตกะใจทำงาน ไฟหมดตั้งแต่เช้าเข้าออฟฟิศ ล้วนเป็นภาวะที่คนทำงานมาระดับหนึ่งประสบพบเจอได้เสมอต่อให้จะเป็น top talents คนเก่งก็ตาม

 

เมื่อเราเหนื่อย เราก็แค่อยากยอมแพ้และลาออก…จบ แต่บางทีแล้ว หรือว่าคุณไม่ได้อยากลาออกกันแน่ แต่คุณแค่ต้องการการพักผ่อนเต็มที่เพื่อชาร์จตัวเองให้กลับมาใหม่? 

 

คนทำงานสามารถ “เจรจา” กับหัวหน้างานหรือกับลูกน้องในทีมได้ สื่อสารเปิดเผยตรงๆ เลยว่าอยู่ในสภาพ burnout ใกล้จะไม่ไหวแล่ว จำเป็นต้องขอ “ลาพัก” ยาวๆ 1-2 อาทิตย์เต็ม 


  • วิเคราะห์ตลาดแรงงาน

 

ให้วิเคราะห์ภาพรวมตลาดแรงงานเสียก่อน เพื่อมองหาดีมานท์นายจ้าง ศักยภาพการเติบโต หรือเทรนด์ที่เกิดอยู่และกำลังจะเกิด

 

ประโยคคลาสสิคอย่าง คนสาย IT ยังไงก็ไม่ตกงาน คนสาย IT ยังไงก็เงินเดือนสูง แต่เมื่อวิเคราะห์ตลาดแรงงานลงลึกขึ้นกลับพบว่า เฉพาะสาย Programmer & Coding เป็นหลักเท่านั้นที่ดีมานท์ยังมากกว่าซัพพลาย จึงทำให้คนสายนี้ลาออกแล้วหางานง่ายและผลักให้เงินเดือนสูง


  • เราสัมภาษณ์งานเก่งแค่ไหน?

 

เป็นความจริงอันขมขื่นที่คนเราถูกตัดสินในเวลาสั้นๆ ผ่านการสัมภาษณ์ไม่กี่นาที  คนทำงานบางคนมีสกิลที่เก่งมากเวลาลงมือทำงานจริง แต่ดันมาตกม้าตายตอนสัมภาษณ์เพราะทักษะการสื่อสารที่แย่ ไม่มีการแสดงออกถึงความมั่นใจ หรือไร้วาทศิลป์ลีลาในการพูด

 

การลาออกเพื่อหางานใหม่ไม่ได้มาพร้อมขั้นตอนหางานที่ต้องลงมือลงแรงเท่านั้น แต่มันมาพร้อม “ทักษะการสัมภาษณ์งาน” ที่เราต้องปรับปรุงพัฒนาไปพร้อมกันด้วย!


  • ลาออกไปแล้วอยู่ได้อีกกี่เดือน?

 

คุณมี Safety net มากน้อยแค่ไหนเมื่อลาออก…อาจเป็นคำถามที่กว้างเกินไป คำถามที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมกว่าและได้รับคำแนะนำจากกูรูด้านการเงินเสมอคือ ถ้าลาออกไปแล้วคุณจะมีเงินใช้ปกติโดยไม่ลดทอนคุณภาพชีวิตลงได้นานถึง ”6 เดือน”…ใช่หรือไม่?

 

ถ้าคำตอบคือไม่ หรือคุณเริ่มลังเลที่จะตอบ ก็บ่งบอกว่าฐานะทางการเงินของคุณยังไม่แข็งแรงมากพอ การอดทนทำงานต่อไป ดีเลย์การลาออกไปอีกซักหน่อยเพื่อเก็บออมเงินก็เป็นตัวเลือกที่ดี


  • งานที่ทำอยู่ตอบโจทย์จิตวิญญาณตัวเองไหม?

 

ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ตามทฤษฎี Maslow’s Hierarchy of Needs ในบริบทการทำงานที่ตอบโจทย์ด้าน “จิตวิญญาณ” จะอยู่ในระดับชั้นบนสุด Self-Actualization หรืออย่างน้อยที่สุดก็ระดับรองลงมาคือ Esteem

 

มีคนทำงานบางประเภทที่ได้งานที่คนอื่นโหยหา ในองค์กรชั้นนำ เงินเดือนสูง โบนัสดี ออฟฟิศใหม่ โลเคชั่นสะดวก แต่ติดปัญหาเดียวคือ “เนื้องาน” ที่ทำอยู่ดันไม่ตอบโจทย์ด้านจิตใจหรือจิตวิญญาณลึกๆ ภายในใจ 

 

กลายเป็นงานที่แทะกินจิตใจตัวเองวันแล้ววันเล่า (Soul-sucking job) คนกลุ่มนี้เลยจุดที่ต้องการฐานเงินเดือนสูงๆ ไปแล้ว และต้องการงานที่ตอบโจทย์แพชชั่นลึกๆ ในใจตัวเอง ถ้าคุณมีพื้นฐานครบแล้วแต่ยังขาดด้านจิตวิญญาณ การลาออกเพื่อค้นหางานที่มอบให้คุณได้ก็ไม่เสียหาย



ปฏิเสธไม่ได้ว่า การลาออกเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต ไม่ใช่แค่กระทบการงานในออฟฟิศเก่าเท่านั้น แต่หมายถึงเส้นทางสายอาชีพต่อไปในอนาคตของคุณเลย การถามตัวเอง 10 ข้อนี้ก่อนลาออกจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

 

อ้างอิง

Author

  • CareerVisa Team

    รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

ใครๆ ก็ไม่รักผม…อยากเป็นคนน่าสนใจมากขึ้น ควรทำอย่างไร?

เคยสงสัยหรือไม่ว่าเราเป็นคนที่น่าสนใจหรือเปล่า? ถ้าคิดว่าตอนนี้เราไม่ได้เป็นที่น่าสนใจ ก็อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะว่าความน่าสนใจมันสามารถสร้างได้เพียงแค่เสริมหรือปรับพฤติกรรมแค่บางอย่างเท่านั้น มาลองดูกันว่ามีอะไรบ้าง

Constructive Feedback

Constructive Feedback ฟีดแบคยังไงให้ลูกทีมรัก ?

Constructive Feedback คือการให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ โดยเน้นการปรับปรุงและพัฒนา แทนที่จะเป็นการวิจารณ์เชิงลบ โดยควรชี้จุดที่ต้องปรับปรุงพร้อมแนวทางแก้ไข เพื่อช่วยให้ผู้รับข้อเสนอแนะพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Confirmation Bias

Confirmation Bias : มองหาแต่สิ่งที่ยืนยันความเชื่ออันฝังรากลึกของตัวเอง!

Confirmation Bias คือแนวโน้มที่คนจะหาข้อมูลหรือเชื่อเฉพาะสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อหรือความคิดเห็นที่มีอยู่แล้ว และมองข้ามหรือปฏิเสธข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อนั้น ส่งผลให้การตัดสินใจไม่เป็นกลาง