CareerVisa เลยขอเลือกพาทุกคนมาดูงานในฟาร์มวิจัยและพัฒนาของสายพันธุ์มันฝรั่งของ Frito Lay ซึ่งถือเป็นโอกาสหายากมากๆในฐานะแฟนพันธุ์แท้ของมันฝรั่งเลย์ เราอยากรู้มานานว่า เบื้องหลังการทำงานจะเป็นอย่างไรกันบ้าง มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง โดยเฉพาะเนื้องานในสายวิทยาศาสตร์!
PepsiCo (ซึ่งจริงๆมีผลิตภัณฑ์หลายแบรนด์มากกว่าแค่น้ำเป๊ปซี่ และเลย์เป็นหนึ่งในนั้น) เปิดเผยว่า ส่วนงานภาคการเกษตร ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียนที่เป็นแหล่งคัดเลือกสายพันธุ์มันฝรั่งของ Frito Lay เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งเพื่อให้ได้มันฝรั่งชั้นดี เพื่อออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ “เลย์ – ผลิตจากมันฝรั่งแท้” ที่ทุกคนชื่นชอบ
ก่อนจะมาเป็น “เลย์” มีวิธีการคัดมันฝรั่งอย่างไรบ้าง?
ผู้เชี่ยวชาญของ PepsiCo ให้ข้อมูลว่า “มันฝรั่ง” เป็นพืชเมืองหนาว ต้องการอากาศเย็นในการปลูก ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยสูงมากกว่า 25 องศาเซลเซียส จะทำให้มีการเจริญทางลำต้นอย่างรวดเร็วและมีการลงหัวน้อย ส่งผลให้ผลผลิตไม่ดี ยิ่งไปกว่านั้นมันฝรั่งเป็นพืชที่ต้องดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่งในการปลูก เนื่องจากมีโรคและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญหลายชนิด เช่น โรคใบไหม้ โรคเหี่ยวเขียว โรคแข้งดำ โรคราเม็ดผักกาด โรคขี้กลาก โรคไวรัส ประเทศไทยของเราตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น พื้นที่ส่วนใหญ่มีภูมิอากาศที่ไม่อำนวยในการปลูกพืชเมืองหนาว แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นเช่นภาคเหนือ และพื้นที่ที่มีความสูงมากกว่าระดับน้ำทะเล 700 เมตร ที่สามารถทำการเพาะปลูกพืชเมืองหนาวได้ รวมถึงมันฝรั่งด้วย ดังนั้น เพื่อให้การปลูกมันฝรั่งได้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีสายพันธุ์มันฝรั่งที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ คือ ต้องเป็นสายพันธุ์เบา สามารถเก็บเกี่ยวได้ภายใน 90 วัน ให้ผลผลิตสูงมีความต้านทานหรือทนต่อโรคและแมลง ทนต่อการเกิดตำหนิภายในหัวมันฝรั่งเมื่อเจอสภาพอากาศที่ร้อน เก็บเกี่ยวในห้องเย็นได้นานโดยค่าน้ำตาลในหัวมันไม่ขึ้น ให้เปอร์เซนต์แป้งสูง
กว่าจะมาเป็นสายพันธุ์มันฝรั่งของเลย์ได้ ต้องได้ครบ 3 ผ่าน
ในทุกปีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของแผนกส่งเสริมการเกษตรจะทำการคัดเลือกสายพันธุ์มันฝรั่ง “ FL variety” จากส่วนงานปรับปรุงพันธุ์ในประเทศอเมริกา (FLNA: Frito-Lay North America) จำนวน 12-20 สายพันธุ์ เพื่อนำมาปลูกทดสอบในฟาร์มทดลองของเลย์ ประเทศไทย ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ หน่วยงาน R&D นี้จะทำการปลูกทดสอบสายพันธุ์มันฝรั่งต่างๆ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 ปี ตามมาตรฐานการทดสอบสายพันธุ์ของ Frito Lay Global จนมั่นใจว่าได้สายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติครบ 3 ผ่าน
- ผ่านที่ 1 การประเมินในแปลง (ให้ผลผลิตสูง เปอร์เซ็นต์แป้งสูง ต้านทาน/ทนต่อศัตรูพืช ตำหนิในแปลงน้อย)
- ผ่านที่ 2 การประเมินส่วนโรงงาน (ผลผลิตมีความเสียหายน้อย)
- ผ่านที่ 3 การประเมินส่วนผู้บริโภค (อาทิ รูปทรง สี รสชาติ)
ภารกิจที่สำคัญที่ทีม R&D ของ PepsiCo ต้องดูแล
คือการทำงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ในการพัฒนาสายพันธุ์และการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเข้าร่วมการพิจารณาร่างหลักเกณฑ์การตรวจสอบพันธุ์พืชใหม่ของมันฝรั่งกับสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร และในปี 2021 นี้จะเป็นปีแรกที่แผนกส่งเสริมการเกษตรทำการยื่นขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่จำนวน 5 สายพันธุ์ การพัฒนาสายพันธุ์มันฝรั่งนี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะเพิ่มโอกาสให้การปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ด้วยสายพันธุ์ที่ดีนี้จะส่งผลให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่สูงขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นมีคุณภาพชีวิตที่ดี
แล้วมันฝรั่งของเลย์ มาจากที่ไหนกันบ้าง?
- 30% เป็นมันฝรั่งที่นำเข้าจากต่างประเทศ ประเทศที่นำเข้าตามข้อกำหนดของรัฐบาลไทยเพื่อการแปรรูป ได้แก่ เยอรมัน จีน แคนาดา อเมริกา และออสเตรเลีย
- 70% ของมันฝรั่งที่ป้อนเข้าโรงงานเป็นผลผลิตโดยเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน ตาก แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ สกลนคร และนครพนม
ด้วยข้อจำกัดของการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากต่างประเทศทั้งในด้านราคา อายุทางสรีรวิทยาของหัวมันฝรั่ง ความไม่แน่นอนของคุณภาพหัวพันธุ์ที่เกิดจากระยะเวลานานในการขนส่งทางทะเล โครงการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งเพื่อใช้เองในประเทศไทยของเลย์ จึงได้เริ่มขึ้นในปี 2548 โดยกล่มผู้บุกเบิกสำคัญของส่วนงาน ส่งเสริมเกษตร ของประเทศไทย คือ ดร.ทรงยศ เรืองสกุลราช คุณชวาลา วงศ์ใหญ่ ร่วมกับเกษตรกรผู้เชี่ยวชาญการปลูกมันฝรั่ง คุณบุญศรี ใจเป็ง โดยเริ่มแรกได้ผลิตจากหลักสิบตัน จนปัจจุบันสามารถผลิตได้เกือบ 5,000 ตันโดยมีการพัฒนารูปแบบและกระบวนการปลูกเพื่อให้ได้หัวพันธุ์ที่มีคุณภาพดีมาอย่างต่อเนื่อง
การผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งของเกษตรกรที่อยู่ในระบบเกษตรพันธะสัญญาของเลย์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และสกลนคร จะปลูกในฤดูหนาว ปลูกทันทีเมื่ออากาศเริ่มเย็นและสามารถเตรียมพื้นที่เพาะปลูกได้ ในปลายเดือนตุลาคม-ธันวาคม และเก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งต้องเก็บให้ทันก่อนเข้าฤดูร้อน เพื่อลดความเสียหายของผลผลิตและคุณภาพ
8 ขั้นตอนในการควบคุมคุณภาพหัวพันธุ์มันฝรั่งเลย์
พนักงานของ Pepsio ต้องพิถีพิถันทุกขั้นตอนในการควบคุมคุณภาพหัวพันธุ์มันฝรั่ง ตั้งแต่การตรวจสอบคุณภาพหัวพันธุ์ที่จะใช้ในการผลิตหัวพันธุ์รุ่นถัดไป การดูแลจัดการในแปลงปลูก การคัดเกรด ตลอดจนกระบวนการเก็บรักษาไปจนถึงการขนส่งให้ถึงมือเกษตรกรที่อยู่ในระบบเกษตรพันธสัญญาของเลย์ ได้ถูกวางระบบไว้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มจาก
- พัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อที่ติดมากับหัวพันธุ์ เพื่อให้สามารถตรวจประเมินคุณภาพของหัวพันธุ์จากหลากหลายแปลงผลิตหัวพันธุ์ของเกษตรกรในประเทศและหัวพันธุ์จากต่างประเทศในระยะเวลาอันสั้น
- จัดตั้งห้องปฏิบัติการโรคพืชเบื้องต้น
- พัฒนาวิธีและรูปแบบการทดสอบคุณภาพหัวพันธุ์แบบ grow out test
- พัฒนารูปแบบการตรวจสุขอนามัยพืช (plant phytosanitary inspection) ในแปลงปลูกหัวพันธุ์มันฝรั่ง และทำการตรวจกับแปลงเกษตรผู้ผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งให้เลย์ 100%
- จัดทำฐานข้อมูลคุณภาพหัวพันธุ์อย่างครบวงจร
- จัดทำฐานข้อมูลการระบาดของโรคและแมลงในแปลงปลูกหัวพันธุ์เพื่อการจัดการพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน
- พัฒนารูปแบบและวิธีการควบคุมโรคทางดินซึ่งเป็นปัญหาหลักใหญ่สำคัญในการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งของประเทศไทย ด้วยวิธีการใช้ชีวภัณฑ์อย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักการการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management; IPM) ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นโครงการหนึ่งในความภาคภูมิใจเพราะเป็นโครงการที่เห็นผลทันทีในปีแรกที่ได้ปรับใช้ และทำให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีความมั่นใจและเชื่อมั่นกับเลย์ในการช่วยหาแนวทางและวิธีการในการจัดการกับปัญหา
- ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคในการปลูกให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ การดูแลควบคุมจัดการกับโรคและแมลงศัตรูพืช การการปลูกพืชหมุนเวียน การเกษตรอย่างยั่งยืน การทำบัญชีครัวเรือน อย่างต่อเนื่อง
ในพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ของฟาร์มทดลองวิจัย นอกจากจะเป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการโรคพืช ห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อการเก็บรักษาสายพันธุ์มันฝรั่ง โรงเรือนทดลองปลูกพืชอัจฉริยะแบบปรับอากาศในพื้นที่กว่า 9 ไร่ แล้วยังรวมถึงห้องเย็นที่ใช้ในการเก็บรักษาหัวพันธุ์มันฝรั่งในพื้นที่กว่า 12 ไร่ และรองรับหัวพันธุ์มันฝรั่งได้ถึง 6,000 ตัน ในระหว่างเก็บรักษามีการตรวจสอบคุณภาพทุกเดือนโดยทีมโรคพืชและทีมควบคุมคุณภาพ
การดำเนินงานในทุกกิจกรรมของฟาร์ม มีการคำนึงถึงความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงานเป็นหลัก โดยยึดถือการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยฯ ของเป๊ปซี่โค ที่เรียกว่า GEHSMS: Global Environmental Health and Safety Management System ซึ่งใน 2 ปีที่ผ่านมา ทีมส่งเสริมการเกษตร ประเทศไทย เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่ได้เข้าร่วม GEHSMS Cross Plant Audit และในปี 2563 ที่ผ่านมาสามารถผ่านการ Audit ด้วย score 928 ซึ่งถือเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมและภาคภูมิใจของ ทีมส่งเสริมการเกษตร ประเทศไทย
“เลย์” ตระหนักถึงความสำคัญของการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในขณะที่ธุรกิจเติบโตขึ้น ดังนั้น จึงเน้นใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างความยั่งยืนในการทำการเกษตร โดยการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกษตรกับเกษตรกรในท้องถิ่น ซึ่งความรู้ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาได้ถูกถ่ายทอดไปยังเกษตรกรเพื่อทำให้การทำเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
สำหรับใครที่อยากศึกษาข้อมูลการทำงานในสาย Agro Capacity & Development หรือสนใจข้อมูลตำแหน่งงานสายอื่นๆของ PepsiCo บริษัทสัญชาติอเมริกันที่มีแบรนด์ที่หลากหลายกว่าที่หลายคนคิด มีทั้งทั้ง เลย์ ตะวัน โดริโทส ชีโตส มิรินด้า เป๊ปซี่ และอื่นๆ อีกมากมาย สามารถดูต่อได้ที่ https://www.facebook.com/pepsicojobsthailand