เปลี่ยนงานที่หมดไฟเป็นงานที่มีคุณค่าด้วย Job Crafting

พวกเราส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือนมือใหม่ หรือมือเก๋า หลายคนนั้นก็โชคดีที่ได้งานสุดที่รักที่ตอบสนอง passion ส่วนตัวได้เป็นอย่างดี แต่อีกหลายคนนั้นก็ต้องตกอยู่ในวังวนของการทำงานที่น่าเหนื่อยหน่าย รู้สึกราวกับว่าการทำงานประจำเป็นเพียงการขึ้นรถไฟไปสู่วันหยุดเสาร์อาทิตย์ ได้แต่นั่งทอดถอนใจว่า งานนี้อีกแล้วหรอเนี่ย จนบางคนก็หมดไฟในการทำงาน หรือเป็นเพียงแค่ไม้ตายซากที่ทำหน้าที่วนๆไปให้ผ่านไปได้ในแต่ละวัน ครั้นจะเปลี่ยนงานใหม่ในช่วงเวลานี้ก็อาจจะใช้เวลายาวนานเหลือเกินกว่าจะได้งานในแบบที่เราต้องการ

วันนี้จึงมีเทคนิคที่เรียกว่า Job Crafting มาเป็นตัวช่วยพลิกฟื้นให้ชนะความเบื่อหน่ายนี้ไปได้ ซึ่งก่อนที่จะไปต่อ เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า เจ้า Job Crafting มันคืออะไร โดยมีผู้ให้ความหมายเรื่องนี้หลายคนทีเดียว

Job Crafting คือ…

พฤติกรรมที่พนักงานจะทำเมื่อพวกเขารู้สึกว่างานของเขาจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง(Petrou et al., 2012)การปรับงานให้ยืดหยุ่นตามทักษะ หรือความชอบของผู้ที่ถืองานนั้นจะทำให้ผู้รับผิดชอบได้ใช้ ”จุดแข็งของตัวเอง”, มีความพอใจในงานมากขึ้น และช่วยทำให้ประสิทธิภาพของงานดีขึ้นได้

สรุปให้เข้าใจง่ายๆคือ Job Crafting คือแนวคิด หรือการกระทำที่จะพยายามปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างในงานที่ทำ เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการมากขึ้น เพื่อให้สามารถทำงานต่อไป ซึ่งหลักง่ายๆในการทำ Job Crafting ก็มีหลักการ 3 P ให้ลองไป Crafting งานของเราดูครับ

ขั้นตอนการทำก็ไม่ยาก มี แค่ 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. Process (เพิ่มความอิ่มใจด้วยจุดแข็ง)

งานของคุณมักจะมีกระบวนการที่ต้องทำยาวเหยียดเลยใช่ไหม ซึ่งเมื่อเราทำไปตามกระบวนการแล้วบางที่ก็รู้สึกเบื่อในการทำสิ่งซ้ำๆกันทุกวันๆ ลองนำจุดแข็งของคุณมาพัฒนางานของคุณให้มันได้ดั่งใจของคุณมากยิ่งขึ้นไหม ยกตัวอย่างเช่น น้องคนหนึ่งทำงานในหน้าที่สื่อสารภายในขององค์กร โดยเธอก็มีหน้าที่ที่จะส่งประชาสัมพันธ์ให้กับพนักงานตามตาราง แต่เมื่อเธอลองนำจุดแข็งของเธอที่อัพเดทโซเชียลเป็นประจำ มาลองพัฒนางานของตนเอง ในที่สุดเธอก็สามารถที่จะพัฒนาจากสื่อประชาสัมพันธ์เป็นชิ้น เป็นการเขียน copywriter ที่ดึงดูดใจจากสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเรียกรอยยิ้มให้กับพนักงาน และตัวเธอเองที่รู้สึกว่าชิ้นงานของเธอมีคุณค่า มีคนสนใจ เป็นรางวัลอันอิ่มอกอิ่มใจที่เธอได้รับจากการลองเปลี่ยนกระบวนการทำงานของเธอ

2. People (ชาร์จพลังงานใจกับเพื่อนคู่คิด)

“โอ้ย งานไม่เบื่อหรอก ที่เบื่อเนี่ย เบื่อคน” หลายคนคงจะเคยได้ยินประโยคนี้ หรืออาจจะเป็นคนที่เคยพูดประโยคนี้ด้วยตนเองเสียด้วยซ้ำ ซึ่งบางครั้งเราก็เห็นด้วยว่าจริง (อ้าว 555) แต่ที่เราให้ชาร์จพลังงานใจกับคนที่ทำงานเนี่ย ไม่ได้หมายความว่าให้คุณต้องยิ้มเป็นนางฟ้ากับทุกคนในบริษัทอะไรแบบนั้น หากแต่เป็นการที่คุณเลือกคนที่คุณรู้สึกว่ามีมิตรภาพที่ดีต่อกันแล้วลองเป็น Mentor ระหว่างกัน ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆออกมากันบ้าง อาจจะเป็นในช่วงกลางวัน หรือจะเป็นเบรคบ่ายพักกินกาแฟก็ได้นะ แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าไม่สามารถจะสนิทสนมกับใครได้จริงๆ ลองเขียนอีเมล์สักฉบับถึงคนที่คุณต้องประสานงานบ่อยๆ เล่าเรื่องที่คุณต้องร่วมฝ่าฟันด้วยกัน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่คุณสองคนมีร่วมกัน ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่เลว ในการที่จะพัฒนาแท่นชาร์จพลังใจของคุณในการทำงานนี้

3. Purpose (ตกผลึกคุณค่าในจิตใจด้วยงานของคุณ)

การทำงานของเรามักจะขึ้นอยู่กับ Objective ของทีม หรือ Sense of purpose ของหน่วยงานอยู่แล้ว แต่เราไม่จำเป็นต้องไปยึดติดกับสิ่งนั้นอย่างเดียว คุณก็สามารถเห็นคุณค่าของตัวคุณและงานของคุณได้ด้วยตนเอง ซึ่งไม่ว่าคุณจะมีงานที่อยู่ส่วนใดขององค์กร ก็ล้วแล้วแต่ทำประโยชน์ให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในองค์กรอย่างแน่นอน ตัวอย่างที่คุณอาจจะเคยได้ยินก็เช่น “นิสสึ ฮารุโกะ” Niitsu Haruko ที่เป็นพนักงานทำความสะอาดที่สนามบินฮาเนดะ ที่เธอจะจินตนาการถึงคุณค่าที่ “ลูกค้า” จะได้รับก่อนเริ่มงาน เช่น ก่อนถูพื้น เธอจะนึกถึงภาพเด็กที่คลานหรือนั่งเล่นบนพื้น ถ้าพื้นสกปรก มือเด็กที่คลานจะสกปรกและอาจไม่สบายได้ เธอจึงถูพื้นให้สะอาดที่สุด จนสุดท้ายสนามบินฮาเนดะถึงกับเคยได้รับรางวัล สนามบินที่สะอาดที่สุดในโลกเลยทีเดียว ฉะนั้น ลองกลับไปคิดถึงคนที่จะได้รับประโยชน์ของงานของคุณ แล้วลองไปสังเกต หรือถ้าเป็นไปได้ ก็พูดคุยกับเขาดูว่า มีอะไรที่เขาต้องการจากงานเราได้อีก แล้วลองปรับดู คุณจะได้รับรู้ว่า งานของคุณนั้น มันสำคัญและมีคุณค่าเพียงใด

สุดท้าย Job Crafting ก็เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้คุณสามารถมีความสุขกับงานได้มากขึ้น อาจจะไม่สามารถเนรมิตให้งานของคุณเป็นสุดยอดงานน่าทำได้โดยทันที แต่ก็สามารถทำให้คุณใช้ชีวิตกับงานของคุณได้อย่างมีความสุข ด้วยผลงานอย่างมืออาชีพได้ไม่ยาก

 

อ้างอิง

https://hbr.org/2021/02/turn-your-boring-job-into-a-job-youll-love

https://hbr.org/2020/03/what-job-crafting-looks-like

https://positivepsychology.com/job-crafting

ผู้เขียน:  วัฒนศักดิ์ วิบูลย์ชัยกุล

นักพัฒนาองค์กรและทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ ในบริษัทก่อสร้างชั้นนำของประเทศไทย ประสบการณ์กว่า 10 ปีในสายงาน HR แบบ Full-loop ของกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรม Petrochemicals, Automotive Retail, Sales and Marketing และ Construction

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

generation
จะทำอย่างไร? หากต้อง "ทำงานกับคนต่าง Generation" ที่คิดไม่เหมือนกัน
Generation กับความคิดที่ไม่เหมือนกัน เป็นอย่างไร?ความท้าทายของการทำงานร่วมกับคนที่ต่างอายุ ต่างช่วงวัย หลายครั้งไม่ใช่ความสามารถในการทำงานหรือประสบการณ์ที่มากกว่ากัน...
Bystander Effect
Bystander Effect : สาเหตุที่พนักงานมีความลับแล้วไม่บอกบริษัท
ที่มาของ “ไทยมุง” มัวแต่ยืนดู…แต่ไม่มีใครช่วยสาเหตุที่บริษัทเปลี่ยนแปลงยาก แม้ทุกคนจะรู้หน้าที่พนักงานทุกคนรู้ปัญหาดี แต่ทำไมไม่มีใครพูดเปิดประเด็น?เหตุการณ์น่าเป็นห่วงเหล่านี้มีสาเหตุทางจิตวิทยาเหมือนกันที่เรียกว่า...
Scout Mindset
Scout Mindset : เข้าใจปัญหาด้วยการเฝ้ามองอยู่เงียบ ๆ ห่าง ๆ
เคยสงสัยไหม? ทำไมผู้บริหารบางคนถึงมองปัญหาได้ทะลุปรุโปร่ง “อ่านเกมขาด” ทั้งๆ ที่ดูก็ไม่ได้มีความสามารถเลิศเลอเหนือไปกว่าใคร? แม้ผู้บริหารท่านนั้นไม่ได้มีทักษะพิเศษ...