จากการเมืองสู่การงาน ถอดบทเรียนภาวะผู้นำในสไตล์ “ทิม พิธา”

นาทีนี้ไม่มีใครเฉิดฉายเท่าผู้ชายที่ชื่อ “ทิม พิธา” อีกแล้ว แม้ว่าเขาจะมาจากบริบทการเมือง แต่ถ้าดูให้ดีๆ เราสามารถถอดบทเรียนของเขาในฐานะผู้นำมา apply ใช้กับความเป็นหัวหน้าในการทำงานของพวกเราได้เพียบเลย

Servant Leadership

คุณทิม พิธา พูดออกสื่ออยู่หลายครั้งว่าเขาเป็นผู้นำแบบ Servant Leadership คือเป็นผู้นำที่ไม่ได้หวังสร้างบารมีให้เกิดบริวารผู้ตาม แต่เป็นผู้นำที่ต้องการผลักดัน “สร้างผู้นำ” คนอื่นให้ขึ้นมาฉายแสงอีกที 

ถ้าศักยภาพถึงจริง เขาจะเปิดพื้นที่ไพรม์แอเรียและพร้อมซัพพอร์ตกับตัว โดยคนอื่นในทีมสามารถฉายแสงได้สว่างจ้ากว่าเขาได้ด้วยซ้ำ

ไม่แปลกเลย ที่เราจะได้เห็นเพื่อนร่วมงานของเขาหลายคนเจิดจ้าฉายแสงในแต่ละประเด็นนั้นๆ มากกว่าหัวหน้าทีมอย่างคุณทิม พิธาซะอีก! อาทิเช่น

  • วิโรจน์ ลักขณาอดิศร – ผู้นำที่กล้าท้าชน วิจารณ์แบบตรงไปตรงมา
  • รังสิมันต์ โรม – ผู้นำที่เปิดโปงวงการสีเทา และยึดมั่นในความยุติธรรม
  • เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร – ผู้นำการผลักดันนโยบายสุราก้าวหน้า
  • ไอติม พริษฐ์ – ผู้นำที่ต้องการปฏิรูปการศึกษาไทยให้เท่าทันโลกสมัยใหม่

(Very) Clear Communication

ด้วยลีลาการพูดที่คล่องแคล่ว บวกกับวาทศิลป์ มีความน่าเชื่อถือในข้อมูลตัวเลข พร้อมๆ ไปกับความสุภาพอ่อนน้อมในการนำเสนอ แถมภาษาอังกฤษยังดีเยี่ยมไม่มีหัก ไม่เกินจริงเลยหากจะบอกว่าทิม พิธาได้มายกระดับการพูดในที่สาธารณะ ที่หัวหน้า-ผู้นำองค์กรแบบเราๆ เรียนรู้ได้โดยตรง ทั้งในประเด็นของการย่อยข้อมูล สโลแกน ภาษากาย ลีลาวาทศิลป์

มีการแจกแจง Roadmap ออกมาที่จดจำง่าย มีตรรกะเหตุผล ผู้ฟังสามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้ง่าย เช่น อธิบายว่าสิ่งที่นโยบายพรรคก้าวไกลจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ใน “100 วันแรก – 1 ปี – 1 สมัยแรก” 

  • ขึ้นต้นด้วยเลข “1” 
  • แบ่งเป็น 3 ระยะ: สั้น-กลาง-ยาว

พร้อมเหตุผลอธิบายประกอบว่าทำไมถึงแบ่งแบบนี้ เช่น 100 วันแรกทำได้เลยเพราะไม่ต้องอาศัยการแก้กฎหมายที่ต้องผ่านกลไกขั้นตอนในสภาซึ่งอาจกินเวลานาน

วลีสั้นๆ แต่ชัดเจนอย่าง “มีลุงไม่มีเรา…มีเราไม่มีลุง!!” เป็นการวางตำแหน่งจุดยืนอุดมการณ์ของพรรคที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ถ่ายทอดง่าย

คำศัพท์อย่าง “คนรุ่นใหม่ vs. คนรุ่นใหญ่” เขาเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “คนรุ่นเก่า” เพราะไม่มีใครอยากเก่าและแก่ การใช้คำว่ารุ่นใหญ่ยังถูกจริตวัฒนธรรมคนไทยด้วยเพราะมีกลิ่นอายบารมี ความมีวุฒิภาวะที่มากับวัย

เราสามารถย้อนกลับไปดูคลิปสัมภาษณ์ต่างๆ ของเขาและนำมาใช้ยกระดับการสื่อสารได้อย่างดีเยี่ยม

  • ปรับใช้กับ presentation ในห้องมิตติ้ง
  • ใช้ pitch งานไอเดียเจ๋งๆ แก่นักลงทุน
  • ใช้ convince คู่ค้าถึงดีลที่จะได้แบบ win-win
  • ใช้ coaching ลูกทีมให้เกิดแรงบันดาลใจ

Dress for Success

ถ้าสรุปแบบสั้นที่สุด ทิม พิธามีสไตล์การแต่งตัวแบบ Menswear ภูมิฐาน ทางการ เต็มยศไว้ก่อน

หลายคนอาจดีเบตโต้แย้งว่าเขาเป็นคนที่มีความสามารถ เก่ง เหมาะสมกับตำแหน่งที่สุด แต่ถ้าบอกว่าเขาคือคนที่ “แต่งตัวดีที่สุดในสภา” คำโต้แย้งจะลดน้อยลงทันที

ความเป็น Menswear ไปกับเขาทุกที่ทั้งในสภา การแถลงข่าว ร่วมทานดินเนอร์แบบทางการ หรือให้สัมภาษณ์สื่อ อย่างไรก็ตาม เขายังละเอียดอ่อนพอในการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เพื่อให้ถูกใจกลุ่มเป้าหมายด้วย เช่น เมื่อไปปราศรัยใจกลางย่านวัยรุ่นแถวสยาม-สามย่าน ก็เปลี่ยนไปใส่กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ และเสื้อยืด oversized สไตล์วัยรุ่น

หรือเมื่อไปออกรายการสัมภาษณ์ในสื่อออนไลน์ยุคใหม่ เข่น Mission to the Moon ก็จะเปลี่ยนมาใส่เชิ้ตแขนยาว ปลดกระดุมแรก แต่ยังใส่กางเกงสแลค เป็นการบาลานซ์ให้ดูกึ่งทางการ ดูวัยรุ่น เข้าถึงง่าย แต่ก็ยังเนี้ยบ สุภาพ และเป็นการเป็นงาน

Team Building

เบื้องหลังความสำเร็จคือสมาชิกทีมแต่ละคนที่เก่งๆ ทั้งนั้น เขาสำเร็จในการดึงดูด Talents เก่งๆ หัวกะทิหลากหลายสาขาให้มาร่วมทีม

อันดับแรก มีการสกรีนผู้สมัครที่รอบคอบ ผ่านเทสต์ข้อสอบที่มีมาตรฐาน ผ่านการสัมภาษณ์ตัวต่อตัว ซักถามประวัติเสื่อมเสียในอดีต พิจารณาตั้งแต่ Hard skills ที่จำเป็นต้องใช้ในการออกแบบนโยบาย และ Passion ที่ต้องการทำการเมืองแบบมีจุดยืนอุดมการณ์เพื่อประชาชน

จากนั้น จะเปิดพื้นที่ให้ลงสนามจริงเพื่อวัดกระแสฟีดแบคเพื่อนำมาปรับปรุง อุดจุดอ่อน-เสริมจุดแข็ง นอกจากนี้ ยังไม่มีการปฏิบัติแบบพิเศษกับผู้สมัครที่มาจากครอบครัวตระกูลชนชั้นนำ (Elites) อย่างเช่นล่าสุด คุณแบงค์ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ที่มาจากครอบครัวร่ำรวยหมื่นล้าน ก็ต้องลงพื้นที่หาเสียงพบเจอประชาชนและผ่านด่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นไม่ต่างจากผู้สมัครคนอื่นๆ

ความมีประสิทธิภาพในการคัดเลือกผู้สมัคร สุดท้ายทำให้พรรคก้าวไกล…ฉากหลังอุดมไปด้วยคนคุณภาพในแต่ละสาขาที่คอยผลักดันนโยบายก้าวหน้าที่เราสัมผัสกัน อาทิเช่น

  • (สายเศรษฐกิจ) คุณวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร – นักเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมหัวก้าวหน้าที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในวงการ
  • (สายเทคโนโลยี) คุณปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล – ผู้ร่วมก่อตั้ง StockRadars และ Bitcoin Center

ทิม พิธายังให้เครดิตทีมงานหลังบ้านเสมอ ตอนที่คุณทิม พิธาแถลงชัยชนะ ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีคำว่า “เจ้าหน้าที่” ขึ้นนำหน้าก่อนบุคลากรนำคนอื่นๆ ในพรรค

เรื่องนี้โยงไปถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมและบรรยากาศออฟฟิศของพรรคก้าวไกลที่ดูแว่บแรกอาจไม่เหมือนออฟฟิศพรรคการเมืองเลย เพราะดูเหมือนออฟฟิศบริษัท startup มากกว่า 

พื้นที่ห้องทำงานส่วนกลางแทบไม่มีการแบ่งโซนระดับขั้น มีความเรียบง่าย ต้นทุนต่ำ เน้นฟังก์ชั่นที่คุ้มค่า ห้องทำงานของคุณทิม พิธาก็มีขนาดกะทัดรัด ไม่ใหญ่ฟุ่มเฟือย และเป็นห้องที่รวมทีมที่เกี่ยวข้องไว้ในที่เดียวเพื่อส่งเสริมการทำงานเป็นทีม

มีโซนร้านกาแฟที่เป็นพื้นที่เปิด ประชาชนคนนอกสาธารณะสามารถเดินเข้ามาใช้บริการได้ สะท้อนถึงความ Inclusive ของพรรคที่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่แวดล้อมในย่าน และส่งเสริม People engagement ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

Crisis Management

คุณทิม พิธาโชว์ทัศนคติภาวะผู้นำดีเยี่ยม เคยพูดอยู่เสมอว่า “ทุกองค์กรมีปัญหาหมด” ประเด็นอยู่ที่ว่าองค์กรจะแก้ปัญหายังไง? ผู้นำองค์กรจะรับมืออย่างไรต่างหาก?

หรือความเหนือชั้นในการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสในชั่วข้ามคืน เมื่อครั้งที่มี conflict กับคุณปิยะบุตร ภายหลังได้ออกมาจับมือกัน และสร้างพลังบวกที่ทวีคูณกว่าเดิม

หรือแม้แต่การสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนให้กลับคืนมาเมื่อครั้งมีข่าวลือปัญหาการจัดตั้งรัฐบาล ทิม พิธายังคงสื่อสารชัดเจนในจุดยืนอุดมการณ์ที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน และยืนกรานถึงความมั่นใจในการจัดตั้งรัฐบาล เข้าสู่ทำเนียบ ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อเร่งทำตามนโยบายที่ได้ให้สัญญาไว้

ดูเหมือนว่านี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น เส้นทางการผจญภัยทางการเมืองนี้ยังอีกยาวไกล แต่นั่นก็หมายความว่า หัวหน้างานแบบพวกเราก็สามารถเรียนรู้ถอดบทเรียนภาวะความเป็นผู้นำจากทิม พิธา…ผู้นำคนใหม่ของเราได้อีกเยอะเช่นกัน!

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

Bystander Effect
Bystander Effect : สาเหตุที่พนักงานมีความลับแล้วไม่บอกบริษัท
ที่มาของ “ไทยมุง” มัวแต่ยืนดู…แต่ไม่มีใครช่วยสาเหตุที่บริษัทเปลี่ยนแปลงยาก แม้ทุกคนจะรู้หน้าที่พนักงานทุกคนรู้ปัญหาดี แต่ทำไมไม่มีใครพูดเปิดประเด็น?เหตุการณ์น่าเป็นห่วงเหล่านี้มีสาเหตุทางจิตวิทยาเหมือนกันที่เรียกว่า...
Scout Mindset
Scout Mindset : เข้าใจปัญหาด้วยการเฝ้ามองอยู่เงียบ ๆ ห่าง ๆ
เคยสงสัยไหม? ทำไมผู้บริหารบางคนถึงมองปัญหาได้ทะลุปรุโปร่ง “อ่านเกมขาด” ทั้งๆ ที่ดูก็ไม่ได้มีความสามารถเลิศเลอเหนือไปกว่าใคร? แม้ผู้บริหารท่านนั้นไม่ได้มีทักษะพิเศษ...
การประเมินผลการทำงาน
เตรียมตัวให้พร้อม : เคล็ดลับรับมือการประเมินผลการทำงานช่วงสิ้นปีอย่างมืออาชีพ
การประเมินผลการทำงาน คืออะไร?การประเมินผลการทำงาน คือกระบวนการประเมินผลงานของพนักงานอย่างเป็นทางการ โดยจะมีเกณฑ์ตรงกลางที่บริษัทตั้งไว้ และพนักงานจะถูกประเมินโดยหัวหน้างานหรือคนที่เกี่ยวข้องกับตัวเองในการทำงาน...